จุดยืนสมานฉันท์แรงงานฯผลกระทบปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG / หวั่นสถานประกอบการอ้างต้นทุนสูง

ผลกระทบการปรับราคาก๊าซ LPG กับผู้ใช้แรงงาน : “ตกงาน เลิกจ้าง สถานประกอบการอ้างต้นทุนสูง” 

นายชาลี ลอยสูง
นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

            P5010044

แม้ว่ากองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน , คณะกรรมการการอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต่างก็คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า กลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะยังคงเติบโตในประเทศไทยในช่วง 5 ปี ข้างหน้าระหว่างนี้ (2556-2560) คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ที่ต้องการแรงงานเข้าสู่ภาคการผลิตอย่างน้อยประมาณ 1 แสนคน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในการก่อสร้าง อาทิ กระเบื้องปูพื้น/บุพนัง เครื่องสุขภัณฑ์ รวมถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้แรงงานฝีมือค่อนข้างมาก อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียที่สามารถส่งออกและทำรายได้ให้กับประเทศสูงถึงปีละ 20,000  ล้านบาท

อย่างไรก็ตามจากการติดตามข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการต่อสถานการณ์การจ้างแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก จากผู้ใช้แรงงานกลุ่มย่านอุตสาหกรรมบางแห่งที่เป็นองค์กรสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2556 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากที่รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีแนวโน้มที่ชัดเจนในการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ กลับพบว่าผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวหลายสถานประกอบ การถูกเลิกจ้าง และอีกหลายสถานประกอบการมีแนวโน้มที่จะปิดโรงงาน อันเนื่องมาจากการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ นั่นหมายถึงผลกระทบที่จะติดตามโดยเฉพาะ “การตกงาน” ของผู้ใช้แรงงานในภาคการผลิตประเภทนี้อย่างยากจะหลีกเลี่ยง

เพราะในกระบวนการผลิตเซรามิก โดยเฉพาะในโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ต้องใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต ทั้งการอบแห้ง การเผา และในกระบวนการผลิตอื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ต้นทุนสำคัญ” ที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ

เมื่อพิจารณาต้นทุนของผู้ประกอบการเซรามิค[1] จะพบว่าต้นทุนค่าก๊าซ LPG ร่วมกับต้นทุนค่าแรงงาน อยู่ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับต้นทุนด้านอื่นๆ รองลงมาคือต้นทุนค่าดินและค่าไฟฟ้า ที่ร้อยละ 15 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 8 เป็นต้นทุนค่าสีและสารเคมี และร้อยละ 2 เป็นต้นทุนค่าน้ำ การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 11-15 % ของต้นทุนการผลิตโดยรวม

ถ้ายังจำกันได้เมื่อปี 2555 โรงงานเซรามิกขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่จังหวัดลำปาง คือ บริษัทเซอร์เคิลเซรามิค จำกัด ที่มีการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นประมาณ 2,000 คน ได้ปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้ ทั้งๆที่อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดลำปางซึ่งมีจำนวนโรงงานเซรามิกที่ทำการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 200 โรงงาน มีการจ้างแรงงานในท้องถิ่นจำนวนหลายหมื่นคน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศมีความได้เปรียบทางด้านทรัพยากร คือ ดิน หิน และแร่

นอกจากนั้นแล้วผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง ก็คือ สถานประกอบการได้ปรับลดสวัสดิการต่อผู้ใช้แรงงานหลายอย่าง เช่น บางโรงงานเคยสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับป้องกันความปลอดภัย เช่น รองเท้า หมวก ผ้า ก็ปรับลดจำนวนในการสนับสนุนให้แรงงานลงมาอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากบริษัทอ้างว่า “จำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตในส่วนอื่นๆลงมา เพื่อชดเชยต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น” เป็นต้น

หรือกรณีสถานประกอบการขนาดกลางแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีที่ผลิตถ้วยชามเซรามิก แรงงานให้ข้อมูลเมื่อกรกฎาคม 2556 ว่า “ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการลดเงินเดือนขอลูกจ้างลง เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้โดยเฉพาะจากการขึ้นราคาก๊าซ LPG เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2556 บริษัทบอกว่าต้องแบกรับค่าแรงจำนวน 300 บาทอยู่แล้ว หากรัฐบางขึ้นราคา LPG ก็จะยิ่งกระทบหนักขึ้น”

P5010472DSC04951

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตรึงราคาของก๊าซ LPG มาเป็นเวลานาน แม้ว่าจะมีความพยายามของกระทรวงพลังงานที่จะปรับราคาก๊าซ LPG มานานหลายปี แต่ด้วยปัจจัยทางการเมืองทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังคงใช้นโยบายตรึงราคา โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุน แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ ปริมาณการใช้ก๊าซ LPG เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม
ปิโตรเคมีจนต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นที่มาของการปรับเพิ่มราคาก๊าซ LPG ในปี 2556 นี้

นอกจากนั้นแล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในกระบวนการผลิตเซรามิก ภาครัฐโดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เข้ามาสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนจากการใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นก๊าซ LPG เพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการใช้ก๊าซ LPG ยังสามารถผลิตได้จากก๊าซธรรมชาติโดยตรง ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในประเทศเพื่อทดแทนน้ำมันนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพงขึ้นเป็นระยะๆ โดยปตท.มีแนวนโยบายในเรื่องการควบคุมต้นทุนพลังงานให้แก่ผู้ประกอบการเซรามิกมาอย่างต่อเนื่อง

หลายคนอาจถามว่า ทำไมต้องเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เข้ามาดูแลเรื่องนี้ ขอให้นึกย้อนกลับไปประมาณปี 2522 สมัยที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ปตท. เกิดขึ้นมาโดยการนำสองหน่วยงานของรัฐ คือ องค์การเชื้อเพลิงจากกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตและจัดหาพลังงานให้แก่กองทัพ โดยเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีขนาดของการผลิตน้ำมันวันละประมาณ 1,000 บาร์เรล กับองค์การแก๊สธรรมชาติแห่งประเทศไทยจากกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สัมปทานการพัฒนาแหล่งก๊าซในอ่าวไทย รวมสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน และใช้ชื่อใหม่ว่า “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย”

นับจากนั้นมา ปตท.ก็ได้เป็นผู้รับผิดชอบทั้งในกิจการก๊าซและน้ำมันของประเทศ ในส่วนของก๊าซที่ได้จากแหล่งผลิตในอ่าวไทย เมื่อได้นำมาแยกที่โรงแยกก็มีการส่งเสริมให้ใช้ก๊าซ LPG แทนน้ำมันเบนซินในรถยนต์ และใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม รวมไปถึงอุตสาหกรรมบางแห่ง เช่น อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น โดยใช้ราคาและผลตอบแทนจากความสะดวกในการใช้เป็นเครื่องจูงใจให้สถานประกอบการมีการใช้เพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตและคงอยู่ของอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยดังกล่าว  ทำให้เมื่อมีการปรับขึ้นราคาในอัตราที่ค่อนข้างรวดเร็วจึงได้ส่งผลกระทบสำคัญต่อต้นทุนของผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม และนำมาสู่ผลกระทบที่ติดตามมาต่อผู้ใช้แรงงานโดยเฉพาะการถูกเลิกจ้าง

DSC04937P5010365

 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะองค์กรแรงงานที่มีจุดยืนสนับสนุนและผลักดันการเข้าถึงความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไทยอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง ขอตั้งข้อสังเกตสำคัญต่อการปรับราคาก๊าซ LPG ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นไป (นอกเหนือจากการกรณีการถูกให้ออก การถูกเลิกจ้าง การตกงานของผู้ใช้แรงงานในบางอุตสาหกรรมดังที่ได้กล่าวข้างต้นไปแล้ว) ดังนี้

(1)   โดยข้อเท็จจริงประเทศไทยผลิตก๊าซ LPG ได้โดยตรงประมาณ 5.5 ล้านตัน และมีการนำเข้าอีก 1.4 ล้านตัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังนั้นจนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ

ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยมีโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 (มาบตาพุด จ.ระยอง) ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กลับไม่มีการขายก๊าซที่แหล่งผลิตแห่งนี้ให้กับภาคครัวเรือน/ยานยนต์/อุตสาหกรรม แต่เป็นการขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ภาคการผลิตอื่นๆต้องซื้อก๊าซที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแทน มีข้อมูลแสดงชัดเจนว่า ในช่วงปี 2551-2554 ผู้ใช้น้ำมันต้องแบกรับภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประมาณ 23,300 ล้านบาท ในขณะที่ประชาชนใช้ก๊าซ LPG เพื่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิต (หุงหาอาหารและขนส่ง) แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับใช้ก๊าซ LPG เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการของตัวเอง

(2)     ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการควบคุมราคาก๊าซ LPG ไว้ในระดับที่ต่ำ ได้ส่งผลกระทบด้านบวกที่สำคัญต่อผู้ใช้แรงงานหลายประการ โดยเฉพาะช่วยทำให้ค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำไปด้วย โดยเฉพาะค่าครองชีพที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการหุงต้มอาหาร รวมถึงทำให้ต้นทุนบางส่วนของการเดินทางขนส่งและการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดต่ำลงไปได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ยังคงมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง

(3)     การขึ้นราคาก๊าซ LPG คือ การผลักภาระให้กับพี่น้องแรงงานในฐานะประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม แม้รัฐบาลจะอ้างว่าวันที่ 1 มกราคม 2556 จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ แต่ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะไร้ความหมายทันที เพราะการขึ้นราคาก๊าซอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ (ปกติก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ประมาณ 280-290 บาทต่อถัง ) เท่ากับขึ้นมาถังละ 7.50 บาทต่อเดือน  นั้นแปลว่าราคาก๊าซหุงต้มถังละ 15 กิโลกรัม มีแนวโน้มที่ราคาจะสูงถึงถังละ 400-500 บาท ในอนาคตอย่างแน่นอน นี้ยังไม่รวมค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา หรือค่าครองชีพอื่นๆที่เพิ่มขึ้นติดตามมา จนทำให้ค่าแรง 300 บาทไร้มูลค่าตามจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น

เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่ารัฐบาลและกระทรวงพลังงานต้องยุติการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และรวมทั้งจำเป็นต้องทบทวนการแบ่งสรรสัดส่วนการใช้ก๊าซ LPG โดยเฉพาะในกลุ่มภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ที่ควรต้องได้รับการจัดสรรจากแหล่งผลิตภายในประเทศไทยเป็นลำดับแรก ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่แล้ว จึงควรเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ก๊าซนำเข้าแทน เนื่องจากก๊าซ LPG ที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งภายในประเทศถึง 55 % ซึ่งเพียงพออยู่แล้วต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง



[1] ตัวเลขจากกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย