จี้รัฐเร่งรับรอง ILO. 87-98 ชี้ลดกีดกันการค้า สร้างความเป็นธรรมสังคม

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอ แอล โอ ร่วมกับสหภาพแรงงานไทย จัดการประชุมการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 87และ 98 เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555  ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกต  กรุงเทพ

โดยอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการปกป้องสิทธิในการจัดตั้ง  และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้งและการเจรจาต่อรองร่วม  เป็นอนุสัญญาพื้นฐานที่จะเป็นหลักประกันสิทธิแรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม  ซึ่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกเริ่มแรกของ ไอ แอล โอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462  ยังไม่มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ

  

ที่ผ่านมา ไอ แอล โอ และองค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศไทยได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว  ซึ่งก่อให้เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นของอนุสัญญาในกลุ่มแรงงาน ข้าราชการ สมาชิกรัฐสภาและสื่อมวลชนว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะช่วยลดปัญหาเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน  การพัฒนาสิทธิแรงงานให้ดีขึ้นเป็นการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้แรงงาน  ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น  อันจะนำไปสู่การเติบโตของภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การให้สัตยาบันยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งหลายประเทศใช้มาตรฐานแรงงานเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า และในระยะยาว การให้สัตยาบันจะช่วยสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม  แบ่งบันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม  และลดช่องว่างทางรายได้

  

แต่แม้ว่าการเรียกร้องให้มีการรับรองอนุสัญญา 2 ฉบับดังกล่าว จะมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535  และมีการตั้งคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 87 และ 98 อย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2552  จน คณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553  แต่ก็ต้องถอนเรื่องออกในเวลาต่อมาเพื่อรอความชัดเจนของการออกกฎหมายรองว่าจะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบตามมาตรา 190 หรือไม่ อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานฯ ในยุคของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร ก็ได้ดำเนินการจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็น หลายครั้ง  สิ้นสุดไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และจะเสนอให้ ครม.ดำเนินการต่อไป

นายชาลี  ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนในระยะต่อไปเพื่อผลักดันการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับว่า ประกอบด้วย การสื่อสารสาธารณะผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อขององค์กรแรงงาน  การรณรงค์ ให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับคนงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ทุกภูมิภาค  การประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม และองค์กรแรงงานในระดับสากล  การประสานติดตามกับภาครัฐ ทั้งราชการและฝ่ายการเมือง  รวมทั้งภาคเอกชนและการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ไอ แอล โอ ฉบับที่ 87และ 98 ต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน