จับตา 5 สถานการณ์ยานยนต์ “หุ่นยนต์ผงาด เปิดฐานการผลิตแห่งใหม่ ค่ายยักษ์ใหญ่เลิกจ้าง ส่งออกร่วง เรียกร้องขึ้นค่าแรง” แรงงานไทยอยู่ตรงไหน ?

จับตา 5 สถานการณ์ยานยนต์
“หุ่นยนต์ผงาด เปิดฐานการผลิตแห่งใหม่ ค่ายยักษ์ใหญ่เลิกจ้าง ส่งออกร่วง เรียกร้องขึ้นค่าแรง”
แรงงานไทยอยู่ตรงไหน ?

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
8 มิถุนายน 2562

ภาพการฝึกอาชีพทางเลือกของพนักงานโรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งและโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อีก 2 แห่ง นำโดยสหภาพแรงงานผู้บริหารฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย, สหภาพแรงงานวาย เอส ภัณฑ์ และสหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย ถูกส่งผ่านมาทาง LINE กลุ่มแรงงานที่สนิทกัน ทำให้ดิฉันเห็นความหวังไม่มากก็น้อย อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าฤดูกาลยื่นข้อเรียกร้องประจำปีของสหภาพแรงงานไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้เดินทางมาถึง แม้โบนัสและสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น จะคือหมุดหมายเฝ้ารอของพนักงานโรงงาน ที่จำนวนไม่น้อยกรำงานหนักในไลน์ผลิต ในออฟฟิสมาตลอดทั้งปีเพียงเพื่อสิ่งนี้
แต่อะไรเล่า !!! จะคือคำยืนยันว่าสิ่งนี้จะยั่งยืนและคือ “อนาคตที่แท้” หากไม่เตรียมแผนสำรองชีวิตล่วงหน้าไว้แต่เนิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ต้องมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตนเองให้แข็งแกร่งคู่ขนานกันไป บทเรียนการเจรจาข้อเรียกร้องปี 2560-61 ก็พลิกชะตาชีวิตสหภาพแรงงานบางแห่งมาแล้ว

มีรายงานข่าวเล็กๆในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนฉบับ 8 มิถุนายน 2562 เป็นการให้สัมภาษณ์ของนายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า “ในช่วงปี 2560-61 มีโรงงานปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตมาใช้หุ่นยนต์ทำงานแทนแรงงาน 229 โรงงาน มีผู้ประกอบการ 65 ราย ได้รับการส่งเสริมการลงทุนผ่านการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการผลิต”

สอดคล้องกับที่นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดการณ์ถึงเรื่องการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานว่าภายในปี 2569 จะมีการใช้มากกว่า 50 %

รายงานของ IFR’s World Robotics 2018 ระบุว่าเอเชียเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เห็นได้จากยอดขายหุ่นยนต์เติบโต 37 % ในช่วงปี 2558-2560 โดยประเทศไทยเป็น 1 ในตลาดใหญ่ใน 15 ตลาดทั่วโลก และเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดในอาเซียน ในปี 2560 ยอดขายหุ่นยนต์อยู่ที่ 3,400 ตัว คาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ตัว

ในรายงานยังระบุว่าพนักงาน 10,000 คน จะใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน 974 ตัวเท่านั้น หรือหุ่นยนต์ 1 ตัว แทนได้ 10 คน โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 63 ประเทศไทยจะมีการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ถึง 70 % ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน
บริษัทในเครือไทยซัมมิท กรุ๊ป คือ บริษัทที่หันมาใช้หุ่นยนต์ในการผลิต โดยสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ 40 หลังหุ่นยนต์ 1,700 ตัว เข้ามาทำงานแทนแรงงานคน

เมื่อปลายปี 2561 Microsoft Research Cambridge ได้ทำการศึกษาร่วมกับ International Data Group (IDC) พบว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ตำแหน่งงานประมาณ 30 % ของตำแหน่งงานทั้งหมดในไทย มีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนโดยแรงงานข้ามชาติ เทคโนโลยี กระทั่งบางงานหมดความจำเป็นลง จะเหลืองานเพียง
35 % ของตำแหน่งงานทั้งหมดในไทยที่จะยังคงเป็นรูปแบบเดิม

ทั้งนี้ลักษณะงานมีความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ได้แก่ กลุ่มงานที่ใช้แรงและเป็นการทำซ้ำ (manual routine work) เช่น ผู้ควบคุมเครื่องจักร และคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม กับงานที่ใช้ทักษะการคิดและเป็นการทำซ้ำ (cognitive routine work) เช่น เสมียนและพนักงานธุรการ ฯลฯงานแบบนี้เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ดีและมีความแม่นยำสูง ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นทุกปี การทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีจึงอาจคุ้มทุนกว่า

จากที่กล่าวมาข้างต้นเมื่อมาพิจารณาประกอบกับสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาตั้งแต่ปี 2561 จนมาถึงกลางปี 2562 ไม่ว่าจะเป็นการนำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า การเปิดฐานการผลิตแห่งใหม่ กระทั่งการเลิกจ้างพนักงานในหลายค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก จึงยากที่จะปฏิเสธว่าไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ

สถานการณ์ที่ 1 : นโยบาย Smart Mobility ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ ค่ายรถ 9 ราย ได้รับการส่งเสริมจาก BOI ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กำลังการผลิตรวม 500,000 คัน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐผลักดันให้เกิดขึ้นในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากประเทศไทยมีชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคตและชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีโรงงานผลิตรถยนต์จำนวนมากตั้งอยู่ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆในอุตสาหกรรมรถยนต์อนาคต ขณะเดียวกันยังมีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่สนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมาก
นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาจนถึงมิถุนายน 2562 มีค่ายรถยนต์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าจาก BOI รวม 9 ราย ได้แก่ Toyota, Honda, Nissan, Mazda, Mercedes-Benz, BMW, MG, Mitsubishi และ Fomm กำลังการผลิตรวม 500,000 คัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 2/2562 เรื่อง การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
ประกาศฉบับดังกล่าวได้อ้างถึงประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 5/2560 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 เรื่อง นโยบายการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ โดยผ่อนผันให้โครงการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2561 ต้องมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใน 3 ปี

แน่นอนวันนี้รัฐไทยมีการเตรียมความพร้อมกลุ่มนักศึกษาที่จะเข้าสู่รั้วโรงงานภายใต้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่มีความซับซ้อนสำหรับการผลิตรถในอนาคต อย่างไรก็ตามสำหรับแรงงานที่ทำงานในกระบวนการผลิตเดิมอยู่แล้ว การผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้แค่ต้องพึ่งพานวัตกรรมใหม่ๆเท่านั้น แต่ยังต้องพึ่งพาแรงงานฝีมือเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้วย ดังนั้นระดับความสามารถในการแข่งขันจึงขึ้นอยู่กับฝีมือแรงงานที่มีความสามารถหรือการเป็น “super labour”อย่างมีนัยสำคัญ
แรงงานกลุ่มเดิมเติบโตมากับเครื่องยนต์สันดาป แต่เมื่ออุตสาหกรรมนี้กำลังเดินหน้าไปสู่เครื่องยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตจึงมีความเสี่ยงที่แรงงานกลุ่มนี้จะหายไปจากตลาด และถูกทดแทนด้วยแรงงานฝีมือที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ไฟฟ้าแทน

สถานการณ์ที่ 2 : บริษัทโตโยต้าเปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในพม่า
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 บริษัทโตโยต้าให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ทางบริษัทวางแผนที่จะผลิตรถโตโยต้ารุ่นไฮลักซ์ปีละ 2,500 คัน ที่โรงงานแห่งใหม่ในประเทศพม่า โดยจะเริ่มการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 (พ.ศ.2564) และจะลงทุนอีกเป็นมูลค่า 52.6 ล้านดอลลาร์ในโรงงานที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนอกเมืองย่างกุ้ง หลังจากที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อื่นๆได้ก่อสร้างโรงงานในพม่าไปแล้ว อย่างเช่น ซูซูกิ นิสสันและฟอร์ด ทั้งนี้เมื่อปี 2017 (พ.ศ.2560) รัฐบาลพม่าเริ่มประกาศใช้ข้อจำกัดเรื่องรถยนต์นำเข้า ในขณะที่รถยนต์มีราคาลดลงทำให้ตลาดรถยนต์ในพม่าขยายตัว (สำนักข่าวไทย)
ที่ผ่านมาบริษัทซูซูกิ ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในพม่าเป็นรายแรกในปี 2556 ในปีเดียวกันนั้นเองบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ คัมปะนี ได้เปิดโชว์รูมฟอร์ดอย่างเป็นทางการแห่งแรกในพม่าเช่นกัน ต่อมาในปี 2559 Nissan ได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์เป็นบริษัทที่ 3 และเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า

สถานการณ์ที่ 3 : ค่ายรถยนต์โลกประกาศเลิกจ้างพนักงานทั่วโลก รองรับยานยนต์ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2562 มีรายงานข่าวว่า บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ฯ เตรียมปิดโรงงานในสหราชอาณาจักรภายในเดือนกันยายนปี 2563 คาดว่ามาจากยอดขายชะลอตัว รวมถึงโรงงานที่บริดเจนด์มีต้นทุนสูงกว่าโรงงานอื่นๆ ที่ใช้ผลิตเครื่องยนต์แบบเดียวกัน ส่งผลให้พนักงานต้องตกงานมากถึง 1,700 ตำแหน่ง

ทั้งนี้ย้อนไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2562 บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ฯ แถลงข่าวเรื่องการเตรียมปลดพนักงาน 7,000 ตำแหน่ง หรือประมาณ 10 % ของพนักงานทั่วโลกภายในเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อปรับโครงสร้างลดรายจ่ายครั้งใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดรายจ่ายได้ถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยเลิกจ้างพนักงาน 800 ตำแหน่งในอเมริกาเหนือ 5,000 ตำแหน่งในเยอรมนี ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ยังไม่ได้กำหนดตัวเลขที่แน่นอน ทั้งนี้ฟอร์ดมีการว่าจ้างพนักงานทั่วโลกราว 199,000 คนเมื่อปลายปี 2561 ลดลงจาก 202,000 คนในช่วง 1 ปีก่อนหน้า โดยฟอร์ดเริ่มหันไปลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไร้คนขับ ปิดโรงงานและตัดไลน์การผลิตรถที่ไม่สร้างกำไรออกไป
ก่อนหน้านั้นเมื่อมีนาคม 2562

– Volkswagen บริษัทผลิตรถยนต์จากเยอรมนีก็แถลงว่า จะลดพนักงานลงระหว่าง 5,000-7,000 คน ภายในปี 2565 เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านไปทำรถไฟฟ้า โดยจะใช้วิธีเกษียณเป็นหลัก ซึ่งช่วงไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีพนักงานครบอายุเกษียณราว 11,000 คน

– บริษัทฟอร์ดฯ ได้ประกาศปิดโรงงานประกอบรถยนต์และรถบรรทุกที่รัฐ Sao Paulo ประเทศบราซิล ซึ่งโรงงานแห่งนี้เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ปัจจุบันผลิตรถยนต์และรถบรรทุกรวมกันประมาณ 33,000 คัน/ปีเท่านั้น แต่มีการจ้างงานประมาณ 3,000 ตำแหน่ง หรือแรงงาน 1 คน ผลิตรถได้ 11 คันต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูง
กุมภาพันธ์ 2562 บริษัทฮอนด้าแถลงว่าจะปิดโรงงานในเมืองสวินดอน สหราชอาณาจักร ภายในปี 2565 ซึ่งจะมีการเลิกจ้างประมาณ 3,500 ตำแหน่ง ซึ่งดำเนินการมากว่า 24 ปี
มกราคม 2562

– บริษัท Jaguar Land Rover (JLR) ซึ่งมีบริษัท TATA Motors เป็นเจ้าของ ได้ประกาศปลดพนักงานกว่า 4,500 ตำแหน่ง หลังจากผลการดำเนินงานปี 2561 ขาดทุนสูงกว่า 350 ล้านปอนด์ โดยปี 2561 ปลดไปแล้ว 1,500 ตำแหน่ง

– บริษัท Tesla ประกาศปลดพนักงานออกประมาณ 7% จากจำนวนพนักงานราว 45,000 คน หรือประมาณกว่า 3,100 คน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดต้นทุนในการผลิต

ปลายปี 2561 General Motors หรือ GM ผู้ผลิตรถยนต์จากอเมริกา ได้ประกาศปรับลดพนักงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง หรือ 15 % ของพนักงานทั้งหมดภายในปี 2562 โดยจะระงับการผลิตในโรงงานผลิตในทวีปอเมริกาเหนือ 5 แห่ง และนอกทวีปอเมริกาเหนืออีก 3 แห่ง เพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร (ผู้จัดการ 27 พค. 62, กรุงเทพธุรกิจ 14 มีค. 62, ประชาชาติธุรกิจ 11 มค. 62)

สถานการณ์ที่ 4 : เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวต่ำสุดนับแต่ปี 57
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2562 มีอัตราการขยายตัวเพียง 2.8 % ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2557 เป็นต้นมา โดยภาคการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยได้ปรับตัวลดลงจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนส่งผลให้การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกปีนี้ลดลง โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า คือ อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ สศช. จึงได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยปีนี้ลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่เคยคาดไว้ 4.1%
ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกรถยนต์ประจำเดือนเมษายน 2562 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่าอยู่ที่ 67,114 คัน ถือว่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี เพราะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน

นักวิเคราะห์ระบุว่า กลุ่มยานยนต์จบรอบ “ขาขึ้น” ไปแล้วในปี 2561 แม้ว่ากำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวมีโอกาสหนุนยอดขายรถยนต์ในประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง แต่สำหรับยอดส่งออกรถยนต์คาดว่ายังถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ขณะที่กำลังการผลิตของทั้งกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มเต็ม ซึ่งการจะขยายหลังจากนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการผลิตจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปเป็นไฟฟ้า (ฐานเศรษฐกิจ พค.62)

สถานการณ์ที่ 5 : บริษัทญี่ปุ่นที่มาลงทุนในไทยกังวลเรื่องการขึ้นค่าแรงมากที่สุด

เมื่อเดือนมกราคม 2562 NNA Business News ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นบรรดาเจ้าหน้าที่ของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินกิจการอยู่ในเอเชีย จำนวน 630 คน โดยให้ผู้ร่วมสำรวจเลือกตอบคำถามถึงสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลของพวกเขาจากความเสี่ยงทั้งหมด 13 ปัจจัย ผลปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 479 คน (คิดเป็นร้อยละ 76) ระบุว่าปัจจัยด้านแรงงานเป็นสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุด

จาก 13 ปัจจัยเสี่ยงร้อยละ 86 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นตัวแทนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย ระบุว่าพวกเขากังวลถึงต้นทุนในเรื่องค่าแรงมากที่สุด ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย 2,541 บริษัท สอดคล้องกับกรณีที่มีหลายพรรคการเมืองได้ประกาศนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไว้แบบก้าวกระโดด ในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง อาจเป็นการเร่งผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมนำเอาหุ่นยนต์มาทดแทนแรงงานเร็วขึ้น ทั้งนี้รถยนต์ 1 คัน ประกอบด้วย ค่าชิ้นส่วน 70 % ค่าแรง 10 % และอื่นๆ 20 % หากค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลต่อราคาชิ้นส่วนจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและส่งผลถึงภาพรวมราคารถยนต์

สถานการณ์ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาถือเป็นภาพสะท้อนสำคัญที่แรงงานยานยนต์ไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะตั้งรับมากกว่าเชิงรุก ทั้งๆที่ผู้ประกอบการได้รุดหน้าปรับตัวไปอย่างมากแล้วควบคู่ไปกับนโยบายรัฐบาลที่เอื้ออำนวยโอกาส โจทย์ที่ท้าทายวันนี้ จะปล่อยให้ชะตากรรมอยู่ในอุ้งมือเขี้ยวเล็บอันตรายเป็นไปได้แค่เพียง “We build CARS, we don’t build older people” หรือจะสร้างอนาคตใหม่ผ่านการกำหนดกลยุทธ์ชะตาชีวิตตนเองเสียแต่วันนี้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า