จะคิดอย่างไรกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

 

ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร

17มิถุนายน 2555 รำลึก 21 ปีการสูญหายของทนง โพธิ์อ่าน

คุณนภาพรขอให้ข้าพเจ้าพูดเรื่องสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และทางออก นับเป็นเรื่องใหญ่มาก สาเหตุของความขัดแย้งนั้น มีผู้เสนอความคิดเห็นวิเคราะห์ออกไปต่างๆนานา ไม่มีคำอธิบายหนึ่งเดียวที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ที่เรารู้แน่ๆ คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย ไม่ใช่ของใหม่ ได้เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆหลายประเทศแล้ว เมื่อประชาชนส่วนใหญ่เปลี่ยน แต่สถาบันการเมือง และคนชั้นนำยังไม่ปรับแปลงเปลี่ยนตาม ยังต้องการรักษาสภาพเดิมไว้ ซึ่งสภาพเดิมไม่สามารถสนองตอบกับความเปลี่ยน แปลง และความคาดหวังใหม่ๆได้ จึงเกิดความลักลั่น ความไม่สอดคล้อง และผลที่ตามมาก็คือความขัดแย้งซึ่งอาจจะปะทุขึ้นอย่างรุนแรงได้ 

ไม่มีสูตรสำเร็จสูตรใดที่จะคลี่คลายความขัดแย้งได้อย่างทันทีทันใด ไม่ว่าจะจัดตั้งคณะกรรม การเพื่อสร้างความปรองดอง หรืออะไรทำนองนี้สักกี่ชุด ไม่ว่าจะแก้กฎหมายกี่ฉบับ หรือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกี่มาตรา ก็จะไม่ทำให้ความขัดแย้งสูญหายไปทันที เสมือนหนึ่งเราเป็นแผล ไปหาหมอ หมอก็จะช่วยลดความเจ็บลงได้บ้าง แต่ในท้ายที่สุด ก็ต้องให้ร่างกายมนุษย์เยียวยาตัวเองจนแผลค่อยๆหาย ฉันใดก็ฉันนั้น ที่สำคัญคือ เราจะมีท่าทีหรือจุดยืนอย่างไร  กับสถานการณ์ทางการเมืองบางอย่างที่จะส่งผลกับพัฒนาการทางสังคมการเมืองในระยะยาวได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น เราจะมีจุดยืนอย่างไรกับการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ ถ้าเพื่อนๆถามความเห็นจะตอบอย่างไร? ถ้าจะคิดเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น จะเข้าร่วมกับขบวนการใด ?

คุณทนง โพธิ์อ่าน หายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะที่เมืองไทยมีรัฐบาลแต่งตั้งตัวเองจากการรัฐประหารโดยคณะ ร.ส.ช. เมื่อพ.ศ. 2534 

คุณทนง โพธิ์อ่าน เป็นผู้นำคนงานระดับชั้นแนวหน้า เขาต่อต้านกฎอัยการศึกที่คณะร.ส.ช. ประกาศ เขาต่อต้านที่รัฐบาลรัฐประหารยกเลิกสิทธิของคนงานรัฐวิสาหกิจที่จะจัดตั้งสหภาพและนัดหยุดงาน โดยเขาได้ชักชวนคนงานจำนวนมากให้ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2534  หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน คือวันที่ 19 มิถุนายน ก็หายตัวไป และจากนั้นมาเป็นเวลา 21 ปีเข้าวันนี้ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดติดตามค้นหาสาเหตุของการหายตัวไปนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แม้ว่าครอบครัวของคุณทนงและขบวนการแรงงานจะได้เรียกร้องอย่างต่อเนื่อง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย การที่ผู้ต่อต้านรัฐหายตัวไปเช่นนี้ โดยไม่มีใครรับผิดชอบ มักเกิดขึ้นในสมัยของเผด็จการทหาร หรือในภาวะที่มีรัฐบาลมาจากรัฐประหาร เป็นวิธีการที่รัฐไทยจัดการกับผู้ไม่เห็นด้วย ด้วยความรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณทนงอาจจะเกิดขึ้นกับเราหรือใครก็ได้

การใช้อำนาจรัฐด้วยความรุนแรงดังกล่าว เป็นสิ่งที่พลเมืองทุกคนต้องต่อต้านอย่างถึงที่สุด ซึ่งหมายความด้วยว่า เราต้องพยายามจรรโลงระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยให้ถึงที่สุดด้วย

ทำไมเราจึงควรสนับสนุนการเมืองในระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยมีหลักการอยู่ที่การเลือกตั้ง

ประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองในอุดมคติ แต่ขณะนี้ประเทศสำคัญในโลกส่วนใหญ่ ที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ล้วนแล้วแต่มีระบอบประชาธิปไตย และพบว่าเป็นระบอบที่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งได้ดีที่สุด  อีกทั้งป้องกันไม่ให้มีการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ดังนั้นขณะที่เรายังไม่มีทางเลือกซึ่งดีกว่านี้และเป็นที่ยอมรับกันในสากลโลก เราจึงต้องจรรโลงระบอบประชาธิปไตยใหดีที่สุด

บางคนบอกว่าระบบแต่งตั้งดีกว่า  แต่ใครจะเป็นผู้แต่งตั้ง ? และใครจะคานอำนาจหรือตรวจสอบผู้แต่งตั้ง? เราจะกลับไประบอบ ร.ส.ช. หรือ ?

บางคนอาจจะบอกว่า พรรคเดียวแบบจีนมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะตัดสินใจทำอะไรได้รวดเร็ว แต่ไทยไม่ใช่จีน และคนไทยได้ผ่านระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักการเสรีภาพ ภราดรภาพ และความเสมอภาคมาแล้ว จะหวนกลับไปสู่ระบอบพรรคเดียวที่กำหนดทุกอย่าง และมีการจำกัดเสรีภาพด้วย คงเป็นไปไม่ได้ 

ระบอบประชาธิปไตย ต้องอยู่ใต้กติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด รัฐธรรมนูญนี้อาจปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ด้วยเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนและกฎเกณฑ์เดิมไม่เอื้อให้ระบบทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ  สำหรับกติกาหรือกระบวนการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ก็มักจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

ข้าพเจ้าคิดว่า ข้อดีอีกประการของระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย คือ พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์หรือวิธีจัดการกับระบบเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่าง อาจแข่งขันกันเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก อาจผลัดเปลี่ยนกันเข้าปกครองประเทศตามวาระ เสมือนกรณีอังกฤษ ที่สับเปลี่ยนกันระหว่างพรรคแรงงานกับพรรคอนุรักษ์นิยม ที่ฝรั่งเศสเมื่อไม่กี่วันมานี้ พรรคสังคมนิยมก็เพิ่งชนะเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศแทนพรรคอนุรักษ์นิยม ก่อนหน้า  แต่กติกาคือ เมื่อพรรคใดชนะการเลือกตั้ง พรรคที่พ่ายแพ้ก็ต้องยอมถอย  แล้วเปลี่ยนไปทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน โดยไม่ขัดขวางการทำงานของพรรครัฐบาลชุดใหม่จนเกินเลยขอบเขตและกติกาที่กำหนดไว้

เราอาจจะไม่ชอบนักการเมืองเพราะส่วนมากพวกเขาคอร์รัปชัน แต่เมื่อเปรียบเทียบระบบเลือกตั้งกับระบบแต่งตั้ง ระบบเลือกตั้งเปิดโอกาสให้เรากำจัดคอร์รัปชันได้ดีกว่าแน่นอน และไม่ใช่ว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร หรือการแต่งตั้งจะไม่คอร์รัปชัน ข้อนี้ไม่จริงแน่นอน  ข้าพเจ้าได้ศึกษามาแล้ว  และประวัติศาสตร์การเมืองไทยชี้ชัดว่า มีนักการเมืองถูกลงโทษในคดีคอร์รัปชันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมากกว่าภายใต้ระบอบเผด็จการ

จะขอยกตัวอย่าง จากปี พ.ศ. 2500 จนถึงปี พ.ศ.2519 นับเป็นเวลา 19 ปี ซึ่งเป็นช่วงรัฐบาลเผด็จการทหารที่แต่งตั้งตนเองจากการรัฐประหารปี 2500 นั้น มีรัฐมนตรีเพียงคนเดียวที่ถูกลงโทษจำคุกเพราะข้อหาคอร์รัปชัน แต่ในช่วงเพียง 5  ปี นับจาก พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2549  เรามีระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น รัฐมนตรี 2 คนถูกตัดสินจำคุกเพราะข้อหาคอร์รัปชัน รัฐมนตรีอีก 3 คน ถูกตัดสิทธิไม่ได้เล่นการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เพราะว่าแจ้งรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยังมีข้าราชการประจำอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกลงโทษเพราะช่วยนักการเมืองเหล่านี้คอร์รัปชัน 

แต่ในเมืองไทยนั้นระบบรัฐสภาประชาธิปไตย ไม่มีโอกาสได้พัฒนาไปตามธรรมชาติ เพราะว่ามักถูกรัฐประหารเสมอๆจึงเกิดอาการสะดุดหยุดชะงัก รัฐประหารที่ไรก็ถอยหลังเข้าคลอง ต้องเริ่มใหม่เสียทุกที และที่สำคัญได้ทำให้ฝ่ายกองทัพที่กุมอำนาจความรุนแรงแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายพลเรือน นับว่าไม่เป็นผลดีกับการลดความรุนแรงในสังคม และเป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

กรณีของคุณทนง โพธิ์อ่าน แสดงให้เห็นด้วยว่ากระบวนการยุติธรรมไม่ทำงาน ตำรวจไม่สืบสวนสอบสวน ศาลอาจไม่ได้รับความเชื่อถือ กล่าวกันด้วยว่าบางส่วนของศาลอาจจะถูกอิทธิพลจากภายนอกได้ ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมของไทยที่เป็นปัญหา เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ต้องได้รับการปรับปรุง และสังคมยังพูดกันถึงเรื่องนี้น้อยมาก  กระบวนการยุติธรรมของไทยต้องการการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน  เพื่อให้เป็นระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ โปร่งใส และเชื่อถือได้

ขบวนการแรงงานเป็นขบวนการทางสังคมที่มีความสำคัญมาก  เพราะว่ามีจำนวนมากจึงมีแรงต่อรองสูง  และยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย จึงอยู่ในฐานะที่จะส่งแรงผลักดันให้มีการปฎิรูปได้

อย่าลืมว่าปัญหาการเมืองไทย เหมือนแผลที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา ระหว่างนั้นเราต้องยึดโยงกับหลักการให้มั่นคง ต้องต่อต้านรัฐประหารที่ล้มรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย อย่างสุดขีด

แม้ว่าประชาธิปไตยจะมีจุดอ่อน แต่ก็ยังดีกว่ายอมให้ระบอบที่ส่งเสริมความรุนแรงภายใต้การรัฐประหาร หรือรัฐบาลที่ฝ่ายรัฐประหารสนับสนุน เข้าบริหารประเทศโดยไม่มีใครกำกับควบคุมได้

////////////////////////////////////////////////