คณะอนุกรรมการสิทธิฯ ค้านนโยบายส่งแรงงานหญิงข้ามชาติตั้งครรภ์กลับประเทศ

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ค้านแนวคิดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่จะส่งแรงงานข้ามชาติที่เป็นหญิงตั้งครรภ์กลับ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ตลอดจนปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบัน ทั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 ในเรื่องครอบครัวและการเดินทาง

เมื่อมีข่าวที่จะส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับแต่ละครั้ง คณะอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีแรงงานที่ตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อย ต้องทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งกลับ ซึ่งเป็นการทำแท้งกันเอง ส่งผลให้แรงงานหญิงบางคนได้รับอันตราย การส่งกลับแรงงานหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการละเมิดหลักครอบครัว ที่ได้รับการคุ้มครองอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการป้องกัน “ค้ามนุษย์” ตรงกันข้ามกลับเป็นการส่งเสริมการ “ฆ่ามนุษย์” ทารกที่ไม่มีความผิด

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ กล่าวว่า  การส่งกลับหญิงท้อง เป็นการผลักดันไปสู่อันตรายต่อทารกในครรภ์ และอนามัยของแม่ เป็นการแยกครอบครัวออกจากกัน  เด็กจะไม่ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ไม่ได้รับการพัฒนาจากครอบครัวที่อบอุ่น  ไม่ได้รับการคุ้มครอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพ่อของเด็กเป็นผู้มีสัญชาติไทย  เด็กก็ไม่สามารถแจ้งเกิดอย่างผู้สัญชาติไทยตามหลักสายเลือดได้ เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ

คณะอนุกรรมการฯจึงใคร่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทบทวนนโยบายการส่งกลับแรงงานหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ซึ่งกำลังถูกจับตาเรื่องการค้ามนุษย์  มีภาพพจน์เสียยิ่งขึ้น ในทางตรงข้ามให้มาดูแลหญิงและเด็กตามกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนี้ การส่งแรงงานหญิงข้ามชาติท้องกลับประเทศนั้น เป็นการขัดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ตลอดจนกฎหมายและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และให้สัตยาบัน ตลอดจนขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ในเรื่องครอบครัวและการเดินทาง กล่าวคือ

 

1. ขัดต่อกฎหมายและกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและให้สัตยาบัน

1.1 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ข้อ  12

          บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น

การเข้าไปแทรกสอดโดยพลการในกิจส่วนตัว ครอบครัว เคหะสถาน การส่งข่าวสาร ตลอดจนการโจมตีต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลนั้นจะทำมิได้ ทุกๆ คน มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการแทรกสอดและโจมตีดังกล่าว

            ซึ่งเป็นการคุ้มครองครอบครัว ที่อยู่อาศัยต่อการแทรกแซงสิทธิ

            1.2  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ข้อ 13

    

 

 

      คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยการวินิจฉัย อันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ โดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นอย่างอื่นด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ข้อ  17

1.บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่านั้น

ข้อ 23

1. ครอบครัวเป็นหน่วยรวมของสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติ และย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากสังคมและรัฐ

2. สิทธิของชายและหญิงในวัยที่อาจสมรสได้ในการที่จะสมรสและมีครอบครัวย่อมได้รับการรับรอง

3. การสมรสจะกระทาโดยปราศจากความยินยอมอย่างเต็มใจของผู้ที่เจตนาจะสมรสกันมิได้

4. รัฐภาคีแห่งกติกานี้จะดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อประกันความเสมอภาคแห่งสิทธิและความรับผิดชอบของคู่สมรสในการที่จะสมรส ระหว่างการสมรสและเมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ในกรณีการสิ้นสุดของการสมรส จะต้องมีบทบัญญัติเพื่อการคุ้มครองที่จำเป็นแก่บุตร ซึ่งคุ้มครองคนต่างด้าวที่อยู่ในดินแดนโดยชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิในครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกัน

            1.3  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลกโดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบันในพ.ศ.2535 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ได้แก่

สิทธิที่จะมีชีวิตรอด         – ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย

สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา   – มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่ดี และภาวะโภชนาการที่เหมาะสม

สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง – ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การล่วงละเมิด การละเลย การนำไปขาย การใช้แรงงานเด็ก และการแสวงประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบอื่นๆ และ

สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม    – ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง

ข้อ 3

1. ในการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าจะกระทำโดยสถาบันสังคมสงเคราะห์ของรัฐหรือเอกชน ศาลยุติธรรม หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือองค์กรนิติบัญญัติ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก

2. รัฐภาคีรับที่จะประกันให้มีการคุ้มครอง และการดูแลแก่เด็กเท่าที่จำเป็นสำหรับความอยู่ดีของเด็ก โดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา ผู้ปกครองตามกฎหมาย หรือบุคคลอื่นที่รับผิดชอบเด็กนั้นตามกฎหมายด้วย และเพื่อการนี้ จะดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติ และบริหารที่เหมาะสมทั้งปวง                   

3. รัฐภาคีจะประกันว่า สถาบัน การบริการ และการอำนวยความสะดวกที่มีส่วนรับผิดชอบต่อการดูแลหรือการคุ้มครองเด็กนั้น จะเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้โดยหน่วยงานที่มีอำนาจ โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย สุขภาพ และในเรื่องจำนวนและความเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

ข้อ 6

1. รัฐภาคียอมรับว่า เด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิต

2. รัฐภาคีจะประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ ให้มีการอยู่รอด และการพัฒนาของเด็ก

ข้อ 7

          1. เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับตั้งแต่เกิด และสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน

          2. รัฐภาคีจะประกันให้มีการปฏิบัติตามสิทธิเหล่านี้ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีของรัฐภาคี ที่มีอยู่ภายใต้ตราสารระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เด็กจะตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ

ข้อ 8

1. รัฐภาคีรับที่จะเคารพต่อสิทธิของเด็ก ในการรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้รวมถึงสัญชาติ ชื่อ และความสัมพันธ์ทางครอบครัวของตนตามที่กฎหมายรับรอง โดยปราศจากการแทรกแซงที่มิชอบด้วยกฎหมาย        

2. ในกรณีที่มีการตัดเอกลักษณ์บางอย่าง หรือทั้งหมดของเด็กออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐภาคีจะให้ความช่วยเหลือและความคุ้มครองตามสมควร เพื่อให้เอกลักษณ์ของเด็กกลับคืนมาโดยเร็ว

ข้อ 9

1. รัฐภาคีจะประกันว่า เด็กจะไม่ถูกแยกจากบิดามารดาโดยขัดกับความประสงค์ของบิดามารดา เว้นแต่ในกรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจ ซึ่งอาจถูกทบทวนโดยทางศาลจะกำหนดตามกฎหมายและวิธีพิจารณาที่ใช้บังคับอยู่ว่า การแยกเช่นที่ว่านี้จำเป็นเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก การกำหนดเช่นที่ว่านี้อาจจำเป็นในกรณีเฉพาะ เช่น ในกรณีที่เด็กถูกกระทำโดยมิชอบ หรือถูกทอดทิ้งละเลยโดยบิดามารดา หรือในกรณีที่บิดามารดาอยู่แยกกันและต้องมีการตัดสินว่าเด็กจะพำนักที่ใด

2. ในการดำเนินการใดๆ ตามวรรค 1 ของข้อนี้ จะให้โอกาสทุกฝ่ายที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว และแสดงความคิดเห็นของตนให้ประจักษ์

3. รัฐภาคีจะเคารพต่อสิทธิของเด็กที่ถูกแยกจากบิดาหรือมารดา หรือจากทั้งคู่ ในอันที่จะรักษาความสัมพันธ์ส่วนตัว และการติดต่อโดยตรงทั้งกับบิดาและมารดาอย่างสม่ำเสมอ เว้นแต่เป็นการขัดต่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก

4. ในกรณีที่การแยกเช่นที่ว่านี้เป็นผลมาจากการกระทำใดๆ โดยรัฐภาคีต่อบิดาหรือมารดา หรือทั้งบิดามารดา หรือต่อเด็ก เช่น การกักขัง การจำคุก การเนรเทศ การส่งตัวออกนอกประเทศ หรือการเสียชีวิต (รวมทั้งการเสียชีวิตอันเกิดจากสาเหตุใดๆที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้นั้นอยู่ในการควบคุมของรัฐ) หากมีการขอร้อง รัฐภาคีนั้นจะต้องให้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นเกี่ยวกับที่อยู่ของสมาชิกของครอบครัวที่หายไปแก่บิดามารดา เด็ก หรือในกรณีที่เหมาะสม แก่สมาชิกของครอบครัว เว้นแต่เนื้อหาของข้อมูลข่าวสารนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความอยู่ดีของเด็ก อนึ่ง รัฐภาคีจะให้การประกันต่อไปว่า การยื่นคำร้องขอเช่นว่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 11

          1. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการต่างๆ ที่จะหยุดยั้งการโยกย้ายเด็ก และการไม่ส่งเด็กกลับคืนจากต่างประเทศที่มิชอบด้วยกฎหมาย

          2. เพื่อการนี้ รัฐภาคีจะส่งเสริมให้มีการจัดทำความตกลงทวิภาคี หรือพหุภาคี หรือการภาคยานุวัติความตกลงที่มีอยู่

ข้อ 18

1. รัฐภาคีจะใช้ความพยายามที่สุด เพื่อประกันให้มีการยอมรับหลักการที่ว่า ทั้งบิดาและมารดามีความ รับผิดชอบร่วมกันในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก บิดามารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายแล้วแต่กรณี เป็นผู้รับผิดชอบเบื้องต้นในการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นพื้นฐาน

2. เพื่อความมุ่งประสงค์ในการให้หลักประกัน และส่งเสริมสิทธิที่กำหนดไว้ในอนุสัญญานี้ รัฐภาคีจะให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่บิดามารดา และผู้ปกครองตามกฎหมายในอันที่จะปฏิบัติความรับผิดชอบของตนในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก และจะประกันให้มีการพัฒนาสถาบันการอำนวยความสะดวก และการบริการต่างๆสำหรับการดูแลเด็ก

3. รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงที่จะประกันว่า บุตรของบิดามารดาที่ต้องทำงานมีสิทธิได้รับประโยชน์จากการบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการดูแลเด็กที่พวกเขามีสิทธิจะได้  ซึ่งคุ้มครองให้เด็กได้อยู่กับบิดามารดา โดยไม่แยกจากกัน

 

2. ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐

บททั่วไป

            มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง

ความเสมอภาค

            มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน   ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน  การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้

สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล

            มาตรา 35 สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง

แนวนโยบายด้านศาสนา สังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม

            มาตรา80 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และวัฒนธรรม ดังต่อไปนี้

(1) คุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชน สนับสนุนการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัว…

แนวนโยบายด้านการต่างประเทศ

            มาตรา 82 รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ และพึงถือหลักในการปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาค ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งตามพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ

            ซึ่งระบุให้รัฐมีหน้าที่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และคุ้มครองสิทธิบุคคลในครอบครัวอย่างเท่าเทียมกัน

1. ขัดต่อหลักการอนามัยแม่และเด็ก

เมื่อมีการตั้งครรภ์ ทั้งแม่และเด็กในครรภ์ต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด โดยรัฐ สังคม และชุมชน เฉพาะอย่างยิ่งด้านการดูแล สุขภาพอนามัยอย่างจริงจัง ต่อเนื่องจนถึงวันคลอด และหลังจากนั้นการส่งแรงงานตั้งครรภ์กลับ ทำให้ไม่ได้รับการดูแลด้านอนามัยแม่และเด็ก

2. ขัดต่อหลักการประกันสังคม

เมื่อแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคม แรงงานจะได้รับความคุ้มครองในเรื่องการคลอดบุตรด้วย และสามารถลาเพื่อเตรียมการ และคลอดบุตรโดยได้รับค่าจ้างด้วย

3. ขัดกับพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

มาตรา 7  บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น หากแรงงานหญิงข้ามชาติที่มีบุตรกับชายสัญชาติไทยบุตรย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสายเลือดของบิดา การบังคับให้เด็กไปคลอดต่างประเทศ และไม่ได้อยู่กับบิดาคนไทย จะทำให้เด็กไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย

4. ส่งผลให้มีการทำแท้งมากขึ้น

เมื่อมีข่าวที่จะส่งแรงงานหญิงตั้งครรภ์กลับแต่ละครั้ง คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีแรงงานที่ตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อย ต้องทำแท้งเพื่อหลีกเลี่ยงการส่งกลับ  ซึ่งเป็นการทำแท้งกันเอง ส่งผลให้แรงงานหญิงบางคนได้รับอันตราย

การส่งกลับแรงงานหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการละเมิดหลักครอบครัว ที่ได้รับการคุ้มครองในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการป้องกัน “ค้ามนุษย์” ตรงกันข้ามกลับเป็นการส่งเสริมการ  “ฆ่ามนุษย์” ทารกที่ไม่มีความผิด

ดังนั้น คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ใคร่เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ทบทวนนโยบายการส่งกลับแรงงานหญิงตั้งครรภ์ ในทางตรงข้ามให้มาดูแลหญิงและเด็ก เนื่องจากปัจจุบัน พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ให้เด็กสามารถแจ้งเกิด และมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในประเทศไทยได้ ตามมาตรา ๓๘ อันเป็นการดูแลแรงงานทั้งแม่และบุตรตามกฎหมายต่อไป

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น

สภาทนายความ

28 มิถุนายน 2555

 

——————————————————-

รายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม : นายสุรพงษ์ กองจันทึก  ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ  โทร. ๐๘๑-๖๔๒๔๐๐๖

ประสานงาน : นางสาวทิพย์วิมล  ศิรินุพงศ์ เลขานุการคณะอนุกรรมการ ฯ โทร ๐๘๕-๐๔๔๐๒๓๔