กล่าวนำ
การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาททันทีทั่วประเทศจะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นประมาณ 44 บาทสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่ค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้อยู่ที่ 206 บาท ในความเป็นจริงค่าแรงวันละ 206บาทต่อวัน ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอยู่แล้วคนเหล่านี้เกือบ 80-90% จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานอพยพมาจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทั่วประเทศหรือไม่ เป็นโจทย์สำหรับนโยบายแรงงาน
ค่าจ้างขั้นต่ำมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงานและค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัวหลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น
หากนิยามตามองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ค่าจ้างขั้นต่ำที่ 250 บาท ตามข้อเสนอของรัฐบาล หรือค่าจ้างขั้นต่ำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย300 บาท ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เรื่องค่าแรงขั้นต่ำเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ต้องมีเรื่องระบบสวัสดิการสังคม และการควบคุมค่าครองชีพมาช่วยเสริมด้วย
การจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางรายได้นั้น รัฐไม่ได้มีภาระดูแลเพียงแรงงานในระบบราว 10 ล้านคนเท่านั้น หากรัฐยังต้องดูแลแรงงานนอกระบบกว่า 25 ล้านคนที่ต้องการระบบสวัสดิการพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ
ที่มา :ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ บางตอนใน “ผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 250 บาทต่อเศรษฐกิจไทย”
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ,26พ.ย.53 น.11.1/12/53
เมื่อพิจารณาประเภทข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อนายจ้างจำนวน 3 ปี คือ ปี 2550-2552 พบว่าข้อเรียกร้องเกี่ยวกับค่าจ้างติดอันดับสูงสุดตลอดมาจำแนกได้ ดังนี้
ประเภทข้อเรียกร้อง |
ปี 2550 |
ปี 2551 |
ปี 2552 |
1. เงื่อนไขการจ้าง 2. วันและเวลาทำงาน 3. ค่าจ้าง 4. สวัสดิการ 5. การเลิกจ้าง 6. การร้องทุกข์ 7. อื่นๆ รวม |
16 53 221 171 17 90 26 |
22 52 149 141 16 43 22 |
38 57 238 239 22 97 37 |
602 |
445 |
728 |
ที่มา : สถิติสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2552 น.223
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน
ข้อสังเกต คือ หนึ่งในสามของข้อเรียกร้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าจ้างกล่าวคือปี2550 คิดเป็นร้อยละ 36.71,ปี2551 คิดเป็นร้อยละ 33.48 และปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 32.7 สาเหตุคือสถานประกอบการจำนวนมากไม่มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปีที่โปร่งใส เป็นธรรม หรือนายจ้างอาจใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศเป็นเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี จึงต้องมีการเรียกร้องปรับค่าจ้างและค่าตอบแทนที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ
ผลการสำรวจสภาพการจ้างในสถานประกอบกิจการประเภทสิ่งทอและเครื่องแต่งกายโดยสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อสนับสนุนการแก้ไขข้อพิพาทแรงงานของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน พบว่าร้อยละ 90 ไม่มีสหภาพแรงงานและอัตราการปรับค่าจ้างประจำปี ของสถานประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ 87 โดยเฉลี่ย 4-10 บาทต่อวัน (อนุสารแรงงานฉบับที่ 2/2549 ธ.ค.2548-ม.ค.2549 :น.19-20)ซึ่งนับว่าน้อยมากใกล้เคียงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น
เมื่อพูดถึงค่าจ้างที่เป็นธรรม แต่ละฝ่ายย่อมมีวิธีคิด และวิธีการกำหนดที่แตกต่างกัน การเคลื่อนไหวของฝ่ายแรงงาน เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท. เสนอให้ปรับเป็นค่าจ้างที่เป็นธรรม 421 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ต่อมาเสนอเป็น 250 บาทตามที่นายกรัฐมนตรีได้พูดไว้แต่นายกฯได้เปลี่ยนคำพูดทีหลังว่าจะปรับขึ้นที่ 10-11 บาท ในขณะที่องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อรท.) โดยการนำของนายมนัสโกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยเสนอให้รัฐบาลปรับ 10 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
ยังมีข้อเสนออื่นจากขบวนฝ่ายแรงงาน เช่น
1. ให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจแท้จริง
2.ปรับพื้นที่การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็น 3 โซน คือ 1.เขตกรุงเทพและปริมณฑล 2.จังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยวและ 3. จังหวัดที่เหลือทั้งหมด
3. ออกกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องมีโครงสร้างการปรับค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการโดยไม่ยึดติดกับการประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล
4. กำหนดให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำบังคับใช้กับลูกจ้างไม่เกิน 1 ปี
5. ควรกำหนดให้ปรับค่าจ้างลูกจ้างทุกคนทุกครั้งตามอัตราค่าขั้นต่ำที่ปรับขึ้น
ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจากการรวมศูนย์อำนาจกำหนดไว้ที่ส่วนกลางโดยคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เท่านั้น เป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดตั้งแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบัน แต่ละอนุกรรมการจังหวัด จะประชุมเสนอข้อมูลและมติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ? จำนวนเท่าไร ? ต่อคณะกรรมการค่าจ้างที่กระทรวงแรงงานให้ตัดสินใจ
ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างและองค์การธุรกิจหลายแห่งจะมีการคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประจำ หรือต่อรองขึ้นอัตราน้อยๆ โดยมีข้ออ้างว่าจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ จะทำให้สถานประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็กอยู่ไม่ได้ต้องปิดกิจการต้องเลิกจ้างคนงานหรือต้องจ้างแรงงานต่างด้าว, จะมีการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่าไทย หรือเสนอว่า แรงงานต้องมีการพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน ค่าจ้างจึงจะปรับสูงขึ้นไปเองตามกลไกตลาด เป็นต้น
แนวคิดระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
เมื่อพิจารณากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒธรรมขององค์การสหประชาชาติและอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศบางฉบับ ประกอบกับมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001-2553) ที่กระทรวงแรงงานปรับปรุงขึ้นจากมาตรฐานเดิมเพื่อส่งเสริมสถานประกอบการเพื่อการส่งออกให้เคารพปฏิบัติตามสิทธิแรงงานพื้นฐานโดยสมัครใจ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 มาตรา 84 (7) จะพบว่ามีหลักการเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมสำหรับคนทำงาน สรุปได้ดังนี้
1. ค่าตอบแทนที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันให้ได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ความอาวุโสและความชำนาญงานที่ต่างกัน
“ค่าตอบแทน”หมายความรวมถึงค่าจ้างและเงินเดือนปกติพื้นฐานหรือขั้นต่ำ และค่าตอบแทนเพิ่มเติมใดๆไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือสิ่งที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างตามผลของการจ้างคนงานนั้น ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม
“การเลือกปฏิบัติ”หมายความถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือการลำเอียงใดๆที่กระทำบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติหรือพื้นฐานทางสังคมซึ่งมีผลทำความเสียหายต่อความเสมอภาคในโอกาส หรือในการจ้างและอาชีพ
2. คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่เหมาะสมสำหรับตนและครอบครัว อันคู่ควรแก่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และต้องได้รับการคุ้มครองทางสังคมอื่นๆด้วย
3. อัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนที่จ่ายแก่แรงงานต้องส่งเสริมโอกาสอันเท่าเทียมสำหรับทุกคนที่จะได้รับการส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าที่สูงขึ้นในการทำงานที่เหมาะสม โดยไม่ขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาใดนอกจากความอาวุโสและความชำนาญที่แตกต่างกัน
4. สถานประกอบการต้องไม่หักค่าจ้าง ค่าตอบแทนในการทำงานหรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและข้อตกลงสภาพการจ้างกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้าง ไม่ว่ากรณีใดๆ เว้นแต่มีกฎหมายยกเว้นไว้ชัดเจน เช่น กฎหมายภาษี กฎหมายประกันสังคม บางเรื่องนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนหักค่าจ้างด้วย เช่น เงินสมทบกองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพ , ชำระหนี้เงินกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบการฯลฯ
5. ส่งเสริมและคุ้มครองหลักประกันการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมของฝ่ายแรงงานกับฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลในการกำหนดค่าจ้าง ทั้งในระดับสถานประกอบการ,ระดับอุตสาหกรรมและในระดับชาติ(คณะกรรมการไตรภาคี)
อนุสัญญาฉบับที่ 131 ว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำโดยการอ้างอิงพิเศษ แก่ประเทศกำลังพัฒนา ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบัน ได้กำหนดให้ดำเนินการกำหนดระบบค่าจ้างขั้นต่ำที่ครอบคลุมผู้มีรายได้จากค่าจ้างทุกกลุ่ม โดยการปรึกษาหารืออย่างเต็มที่กับองค์กรหรือผู้แทนของนายจ้างและคนงานที่เกี่ยวข้อง และต้องมีผลบังคับตามกฎหมายอย่างมีหลักประกันที่เพียงพอได้ผล
องค์ประกอบที่ต้องนำมาพิจารณาในการกำหนดระดับค่าจ้างขั้นต่ำต้องรวมถึงความจำเป็นของคนงานและครอบครัว โดยคำนึงถึงระดับค่าจ้างทั่วไปในประเทศ ค่าครองชีพ ประโยชน์ทดแทนต่างๆจากการประกันสังคม มาตรฐานการครองชีพโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มสังคมอื่นๆ ความจำเป็นของการพัฒนาเศรษฐกิจ ระดับของผลิตภาพแรงงาน และการคงไว้ซึ่งระดับการจ้างงานที่สูง
ปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำที่มีกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องปฏิบัติมี 2 ประเภท คือ
1. ค่าจ้างขั้นต่ำรายวันประจำจังหวัดมีอัตราแตกต่างตามประกาศกระทรวงแรงงาน (ที่มักจะมีประกาศปรับขึ้นเป็นรายปี โดยผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง) ปัจจุบันมีอัตราแตกต่างกันถึง 28 พื้นที่ดังนี้
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553
ค่าจ้างข้นต่ำ (บาท/วัน) |
พื้นที่ |
206 |
กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ |
205 |
จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร |
204 |
จังหวัดภูเก็ต |
184 |
จังหวัดชลบุรี และสระบุรี |
181 |
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
180 |
จังหวัดฉะเชิงเทรา |
178 |
จังหวัดระยอง |
173 |
จังหวัดนครราชสีมา พังงา และระนอง |
171 |
จังหวัดเชียงใหม่ |
170 |
จังหวัดกระบี่ ปราจีนบุรี และลพบุรี |
169 |
จังหวัดกาญจนบุรี |
168 |
จังหวัดเพชรบุรี |
167 |
จังหวัดจันทบุรี และราชบุรี |
165 |
จังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง |
164 |
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ |
163 |
จังหวัดเลย สมุทรสงคราม และสระแก้ว |
162 |
จังหวัดตรัง |
161 |
จังหวัดสงขลา |
160 |
จังหวัดชุมพร ตราด นครนายก นราธิวาส ยะลา ลำพูน อุทัยธานี และอุบลราชธานี |
159 |
จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี พัทลุง สตูล สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุดรธานี |
158 |
จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และสุพรรณบุรี |
157 |
จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และสกลนคร |
156 |
จังหวัดชัยภูมิ ลำปาง และหนองบัวลำภู |
155 |
จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และอำนาจเจริญ |
154 |
จังหวัดมหาสารคาม |
153 |
จังหวัดตาก พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน สุโขทัย สุรินทร์ และอุตรดิตถ์ |
152 |
จังหวัดน่าน และศรีสะเกษ |
151 |
จังหวัดพะเยา พิจิตร และแพร่ |
หมายเหตุ :ครม.มีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้าง (ฉบับที่ 4)
ปรับเพิ่ม 3 จังหวัด (จังหวัดอุทัยธานี เพชรบูรณ์ และแม่ฮ่องสอน) เมื่อวันที่ 7
เมษายน 2553 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นต้นไป
2. ค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง สำหรับนักเรียน นิสิตและนักศึกษากำหนดอัตราเท่ากันทั่วประเทศ ชั่วโมงละ 30 บาท เพื่อคุ้มครองนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่ทำงานไม่เต็มเวลาในกิจการขายสินค้า และบริการลูกค้า งานวิจัยตลาดงานร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อและงานคลังสินค้า โดยให้ทำงานได้ในช่วงวันปิดภาคเรียนไม่เกินวันละ 6 ชั่วโมง และในช่วง เปิดภาคเรียนปกตินอกเวลาเรียนไม่เกินวันละ 4 ชั่วโมง (ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2553)
ภายหลังที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 บังคับใช้ คณะกรรมการค่าจ้าง ได้ปรับภารกิจใหม่ โดยจัดทำข้อเสนอแนะการปรับค่าจ้างประจำปีแก่ภาคเอกชน โดยออกมา 3 ฉบับแล้ว สรุปสาระสำคัญของประกาศคณะกรรมการค่าจ้างทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้ดังนี้
1. สถานประกอบการควรปรับค่าจ้างประจำปีแก่พนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานในรอบปีแตกต่างกัน โดยอยู่บนพื้นฐานของผลประกอบการและผลิตภาพของลูกจ้างแต่ละคน เพื่อส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจและประสิทธิภาพในการทำงานในปีต่อไป
2. ควรปรับค่าจ้างประจำปีแก่พนักงานในลักษณะที่จะส่งเสริมความร่วมมือที่ดีในการทำงาน เพื่อเพิ่มผลิตภาพของสถานประกอบการในปีต่อไป นอกเหนือจากการเพิ่มตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองลูกจ้างไม่มีฝีมือซึ่งเข้าทำงานใหม่ และมีอายุการทำงานไม่เกิน 1 ปี
3. ควรปรับค่าจ้างประจำปี แก่พนักงานดังนี้
ประจำปี 2550/2551 |
ประจำปี 2551/2552 |
ประจำปี 2552/2553 |
– อัตราเฉลี่ยร้อยละ 4.9 – ควรจัดพนักงานเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 -ระดับดีเด่น ควรปรับเฉลี่ยร้อยละ 6.9 กลุ่มที่ 2 -ระดับดี ควรปรับปรับเฉลี่ยร้อยละ 4.9 กลุ่มที่ 3 -ระดับปกติ ควรปรับเฉลี่ยร้อยละ 2.9 |
– อัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นค่ากลางสำหรับลูกจ้างที่มีผลการปฏิบัติงานในระดับดี – การปรับค่าจ้างลูกจ้างมีผลการปฏิบัติงานในระดับดีเด่นและระดับปกติ ขึ้นกับนโยบายบริหารค่าจ้างและผลประกอบการ
|
1. สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ – ควรปรับค่าจ้างปี 2552/2553 และ/หรือจ่ายโบนัส โดยอัตราการปรับค่าจ้างเท่าใดนั้น ขึ้นกับนโยบายบริหารค่าจ้างและผลประกอบการ ประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเป็นสำคัญ 2. สถานประกอบการขนาดเล็ก – กรณีมีผลกำไรในการประกอบการในปี 2552 ควรปรับค่าจ้าง แก่ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปีขึ้นไปตามประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติงานในรอบปี |
ที่มา :ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องข้อแนะนำการปรับค่าจ้างประจำปี 2550/2551 แก่ภาคเอกชน (ลงวันที่ 9 เมษายน 2551) , ประจำปี 2551/2552 (ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2551) และประจำปี 2552/2553 (ลงวันที่ 27 มกราคม 2553)
4. หากสถานประกอบการใด มีการปรับค่าจ้างประจำปีอยู่แล้วหรือมีข้อตกลงการปรับค่าจ้างกับลูกจ้างไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำตามประกาศอีก
นอกจากนี้กระทรวงแรงงาน กำลังเตรียมประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปภายในระยะใกล้นี้ โดยหากนายจ้างใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษได้