ค่าจ้าง 300 บาท ชะตากรรมใคร ? รัฐบาล นายจ้าง หรือลูกจ้าง

     เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554  คณะทำงานปฏิรูปค่าจ้างเครือข่ายองค์กรแรงงาน  กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิ ฟรีดริคเอแบร์ท จัดงานอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง  300 บาท ชะตากรรมใคร? รัฐบาล นายจ้าง หรือลูกจ้าง  ที่ห้องประชุม 209 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   โดยมีนักวิชาการร่วมอภิปราย คือ  ดร. ณรงค์  เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ  นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ   มูลนิธิอารมณ์ พงค์พงัน  ศาสตราจารย์ ดร. ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒาการเมืองเศรษฐกิจ นิด้า  ดำเนินรายการโดย  นายศักดินา ฉัตรกุล  ณ อยุธยา  นักวิชาการด้านแรงงาน

     เนื้อหาการอภิปรายได้กล่าวถึงประเด็นการปรับค่าจ้างในประเทศไทยให้มีค่าจ้างสูงถือว่าเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง  แม้มีข้ออ้างที่เป็นประเด็นถกเถียงโดยเฉพาะประเด็นที่ นักวิชาการฝ่ายสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าที่มีการทำโพลรองรับ  ซึ่งบนเวทีมองเห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ  เป็นปฎิกิริยาที่เกินจริง  และเห็นแก่ตัวเกินไป  เพราะได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมที่ใช้นโยบายเศรษฐกิจค่าจ้างแรงงานในราคาถูกมานาน  แต่พอถึงเวลาที่จะต้องจ่ายบ้างก็มีข้ออ้างมากมาย
 
 
 เวทีการเสวนาครั้งนี้มองอีกว่าค่าจ้าง 300 บาทมีความเป็นไปได้ค่าจ้าง 300 บาท ที่เป็นการหาเสียงถือว่าเป็นข้อสัญญา ว่าเป็นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และต้องทำได้ทันที  ผิดสัญญาไม่ได้  การตัดสินใจเรื่องนี้ตัดสินใจง่ายหากเอาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและคนงานที่เป็นคนส่วนใหญ่จำนวนมหาศาลของประเทศเป็นที่ตั้ง  ซึ่งก็มีข้อเสนอว่าจะต้องตั้งคณะทำงานประกอบด้วยหลายๆฝ่าย เพื่อศึกษาและผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดเป็นจริงขึ้น  โดยจะต้องมีการคุยกันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีการทำการวิจัยค้นคว้าหาข้อเท็จจริงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร  และก็จะต้องนำไปสู่การแก้ไขบนพื้นฐานที่เป็นจริง  เช่นการตั้งกองทุนเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้าง  แต่ต้องคัดค้านหากว่าเงินกองทุนจะเอามาจากภาษีอากรของประชาชน  ถือว่าไม่เป็นธรรมเพราะว่าอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากตรงนี้มานาน  ควรจะคืนประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน  รวมทั้งจะต้องมีการสร้างงานขึ้นมารองรับสำหรับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง และขอให้นายทุนพรรคเพื่อไทยทำให้เป็นตัวอย่างโดยการปรับค่าจ้างให้ก่อน  
     ส่วนนายจ้างก็อย่าคิดว่าค่าจ้างคือต้นทุนทั้งหมด  ให้ไปดูว่ามีช่องทางไหนที่จะลดต้นทุนได้บ้าง ก็จะสามารถทดแทนกันได้  โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะก็ควรจะเลิกกันได้แล้ว  และมีข้อเสนออีกว่าเรื่องค่าจ้างอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอ  สังคมไทยก็ควรจะก้าวไปสู่การดูแลเรื่องสวัสดิการอื่นๆ  ซึ่งจะทำให้เรื่องค่าจ้างลดความสำคัญลง  คิดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการกันต่อไป
     ข้อเสนอท้ายสุดและมีความเด็ดขาดก็คือ  ชัยชนะของการที่จะได้มาของค่าจ้างขั้นต่ำ  คือจากการมีอำนาจในการต่อรอง  ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีคนงานที่รวมภาครัฐวิสาหกิจด้วยประมาณ 5แสนคน ถือว่าน้อย  แต่ถ้าเป็นเอกภาพ สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้
 
 
     ด้านเครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมในสังคม  ได้อ่านแถลงการณ์กรณีมีเสียงคัดค้านนโยบายการขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทยจากสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้านั้น ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนไม่ตรงข้อเท็จจริง เป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคม จึงขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยืนหยัดในนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามที่ได้หาเสียงไว้ เพราะนโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวพ้นจากการมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำต้องทำงานล่วงเวลายาวนานในแต่ละวัน โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ ฝ่ายแรงงาน และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันพิจารณา  ขอให้รัฐบาลใหม่เน้นนโยบายสร้างเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเพื่อสร้างอำนาจซื้อและตลาดภายในประเทศที่เข้มแข็ง  ขอให้มีการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างแรงงาน โดยให้นิยามค่าจ้างขั้นต่ำใหม่หมายถึงค่าจ้างไร้ฝีมือแรกเข้าทำงาน  ให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด  ให้ปฏิรูประบบเลือกตั้งไตรภาคีค่าจ้างให้โปร่งใสสะท้อนความเป็นตัวแทนแรงงานที่แท้จริง และการปรับขึ้นค่าจ้างขอให้ทันกับดัชนีผู้บริโภค อัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อ โดยไม่ใช้วิธีเล่นเล่ห์ถกเถียงต่อรองโดยมองข้ามข้อเท็จจริงทางสังคมเหมือนเช่นที่ผ่านมา
 
รายงานโดย นางสาวเกศแก้ว  ทะเบียนธง นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่