คุกคามสื่อ คือคุกคามแรงงาน

tawatcensorship2

ถวัติ ฤทธิเดช  เป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นนักจัดตั้งองค์กร และผลักดันให้ขบวนการกรรมกรไทยเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ปี 2465  ร่วมจัดตั้ง “คณะกรรมกร” และออก “หนังสือพิมพ์กรรมกร” ทำหน้าที่ผลิตอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อทำงานจัดตั้งความคิดการเมืองให้แก่คนงานทั่วไป โดยแถลงว่า “หนังสือพิมพ์กรรมกรนี้มีความมุ่งใจเป็นส่วนใหญ่ก็คือ หวังจะประหารสภาพแห่งการเปนทาษ ซึ่งยังเปนฉายาแฝงอยู่ในตัวคนงานฤาลูกจ้างให้ปลาศไป และให้อิศรภาพเข้ามาแทนที่”

ปี 2467 หนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ต้องถูกปิดไปเพราะเหตุขัดแย้งกับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ปี 2475 เมื่อระบอบสมบูรณาสิทธิราชสิ้นสุดลงโดยการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นของ “คณะราษฎร” ซึ่งถวัติและพวกก็เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ถวัติได้ก่อตั้ง “สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม” (ต่อมาเป็นกิจการไฟฟ้านครหลวง) และปี 2477 ก็ตั้ง “สมาคมอนุกูลกรรมกร” ซึ่งเป็นองค์กรกลางระดับชาติของคนงาน

จึงพูดได้ว่า วีรบุรุษคนแรกสุดของชนชั้นแรงงานไทยคือ “กรรมกรสื่อ”

การปฏิเสธขบวนการคุกคามใดๆต่อสื่อ จึงเป็นหน้าที่แห่งสำนึกชนชั้นแรงงาน

ผู้เขียน : วิชัย นราไพบูลย์

 

ที่มา : หนังสือประวัติการต่อสู้ของกรรมกรไทย โดย สังศิต พิริยะรังสรรค์

โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มิถุนายน 2529

สื่อ

แถลงการณ์เรื่องขอให้ยุติการคุกคามและแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน
วันอาทิตย์ที่ 01 ธันวาคม 2013 เวลา 19:26 น.

จากที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำมวลชนไปยังสถานีโทรทัศน์ช่อง3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส โดยกดดันให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ถ่ายทอดสัญญาณการเคลื่อนไหวและคำแถลงของกปปส. และห้ามนำเสนอข่าวจากฝ่ายรัฐบาลนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการกระทำที่เข้าข่ายการคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งขัดแย้งต่อเจตนารมณ์การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่กปปส.กล่าวอ้างว่าจะต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยโดยสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และขอให้กปปส.ยุติการกระทำดังกล่าวทันที

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอยืนยันหลักการว่า สื่อมวลชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นของทุกฝ่ายตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกองบรรณาธิการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ต้องยืนหยัดในหลักการดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่มีกฎหมายรองรับความเป็นอิสระ จะต้องยืนยันหรือไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ามากดดัน หรือครอบงำการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยเด็ดขาด หากต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกดดันหรือครอบงำ การยุติการออกอากาศถือเป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลที่ควรกระทำ

อย่างไรก็ตาม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีความเข้าใจถึงมูลเหตุ ที่กลุ่มมวลชนของกปปส.ไม่พอใจสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ให้ความสำคัญในการนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นสถานการณ์สำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นับตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมใหญ่ที่มีความต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 โดยปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์ส่วนใหญ่ยังคงนำเสนอรายการตามผังรายการตามปกติ เป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของสถานีเป็นหลัก มากกว่าการคำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน

ขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ในสังกัดหน่วยงานรัฐ ซึ่งมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้มีความอิสระในการเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล จะต้องไม่ยอมรับการถูกแทรกแซงหรือสั่งการจากฝ่ายรัฐบาล ให้นำเสนอข่าวสารเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาทิ กรณีที่รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์สั่งให้สื่อในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์นำเสนอข่าวสารเชิงบวกต่อรัฐบาล(อ้างถึงบันทึกเลขที่นร0213.071721 เรื่องขอให้กำกับดูแลการนำเสนอข่าวลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556) เป็นต้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในภาคสนามทุกคน โดยขอให้ระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเกินความจำเป็น ทั้งนี้ ให้ตระหนักว่าความปลอดภัยของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านมานำเสนอต่อสาธารณะชน

เราขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกคน ที่นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านต่อประชาชน และขอให้ทุกฝ่ายเคารพและไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์
1 ธันวาคม 2556