คสรท. และสรส.แถลง งดจัดงานวันกรรมกรสากล 1 พ.ค.นี้ พร้อมเสนอ 6 ข้อแก้โควิด-19

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออก แถลงการณ์เรื่อง   งดจัดงาน “วันกรรมกรสากล” 1 พฤษภาคม 2563 พร้อมนำข้อเสนอเฉพาะหน้าต่อรัฐ 6 ข้อแก้ปัญหาโควิด-19 และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออก แถลงการณ์เรื่อง   งดจัดงาน “วันกรรมกรสากล” 1 พฤษภาคม 2563 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โควิด 19 ที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างยากที่จะคาดการณ์แม้ในบางประเทศจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในสภาวะการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด แต่บางประเทศยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดยากที่จะควบคุมมีผู้ติดเชื้อ เกิดอาการป่วย และเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศให้เป็นภัยพิบัติของโลก

ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยากจะควบคุมรัฐบาลจึงขอความร่วมมือมายังประชาชนในสาขาอาชีพต่าง ๆ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน และสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อเข้มงวดเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการและคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด พร้อมสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด 19 แล้วก็เป็นเหตุผล เป็นความจำเป็นที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือเพื่อหยุดยั้งภัยพิบัติในครั้งนี้ มิฉะนั้นแล้วประเทศไทยอาจเข้าสู่สภาวะขั้นวิกฤตประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าเราทุกคนไม่อยากเห็น ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและหน่วยงานทางการแพทย์ สาธารณสุข ร่วมกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โควิด 19 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงงดจัดกิจกรรม “วันกรรมกรสากล” 1 พฤษภาคม 2563 และขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหน่วยงานทางการแพทย์ สาธารณสุขทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นโดยเคร่งครัด

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานในทุกภาคส่วนอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานลูกจ้างภาครัฐและแรงงานข้ามชาติ ทั้งโรงงาน สถานประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่ง คสรท. และ สรส. จะจัดทำข้อเสนอเพื่อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่อไป

ข้อเสนอต่อรัฐบาลเฉพาะหน้า

1. ขอให้เปิดบริการตรวจไวรัสโควิดในกลุ่มเสี่ยง ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. ขอให้จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ ยา เวชภัณฑ์ในการป้องกันรักษาให้เพียงพอ

3. ขอให้ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นราคา ไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าซ้ำเติมประชาชนในภาวะวิกฤต

4. ขอให้หามาตรการช่วยเหลือเรื่องเครื่องอุปโภค บริโภคแก่ประชาชน ผู้ใช้แรงงานที่ขาดรายได้จากภัยพิบัติ

5. สำหรับผู้ที่ถูกกักตัวเพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวังโรค ต้องได้รับการดูแลที่ดีเพียงพอ

6. ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลจากการปิดกิจการชั่วคราวตามคำสั่ง และนโยบายของรัฐบาล

ขอให้วางมาตรการช่วยเหลือทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว และขอให้กำลังใจไปยังทุกคน ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาล แพทย์ พยาบาล บุคลากรสาธารณสุข หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงงาน สถานประกอบการ ประชาชน ผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ สามัคคีมีพลังใจ ใช้วิกฤต เป็นโอกาส ฝ่าข้ามปัญหาอุปสรรค ภัยพิบัติไปด้วยกัน.. ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนไทย เชื่อมั่นในพลังของมวลมนุษยชาติ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน