ขบวนการแรงงานแยก 2 ขบวน จัดวันกรรมกรสากล

วันนี้ (1 พฤษภาคม2554) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ราว 10,000 ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากล โดยเริ่มจากหน้ารัฐสภา เปิดงานด้วยการดึงเอาผ้าลายพางทหารออกจากแผ่นป้ายฉากหลังที่มีพานรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมทั้งมีการแสดงละครสท้อนปัญหาแรงงาน ขบวนล้อเรียนไข่แพงค่าแรงถูกฯลฯ ขบวนเดินรณรงค์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิไตยเพื่อร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ และแถลงข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสรส. และนายชาลี ลอยสูง ประธานคสรท. รวมถึงตัวแทนสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มสหภาพแรงงาน  สหพันธ์แรงงาน แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ  ซึ่งมีเนื้อหา ดังนี้
 
 1 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องกรรมกรต้องศึกษาจุดกำเนิดความเป็นมาให้เข้าใจถ่องแท้ถึงอุดมการณ์ การต่อสู้ การเสียสละ และความสูญเสียของบรรพชนกรรมกรของเรา เพื่อให้การเข้าร่วมงานวันกรรมกรสากลเป็นไปด้วยจิตสำนึก และการยืนหยัดภารกิจทางประวัติศาสตร์อย่างมีศักดิ์ศรี
 
ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ชาวนาที่ล้มละลายจำนวนมากได้อพยพเข้าสู่เมืองเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดช่วงเวลาของการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรม กรรมกรต่างถูกขูดรีดแรงงานอย่างหนัก ค่าจ้างถูกกดขี่ให้ต่ำ ในขณะที่ต้องทำงานเยี่ยงทาสถึงวันละ 16-18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุดและสวัสดิการใดๆ
 
ด้วยสภาพการทำงานที่เลวร้ายเช่นนี้ กระแสการต่อสู้ไม่ยอมจำนนของกรรมกรจึงก่อตัวขึ้นเป็นระยะๆ มีทั้งการนัดหยุดงานและการทำลายเครื่องจักร โดยระหว่างปี 2425-2429 มีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่หลายครั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการลดชั่วโมงการทำงานลง
 
วันที่ 1 พฤษภาคม 2429 กรรมกรทั่วอเมริกาได้นัดหยุดงานและออกมาเดินขบวนพร้อมกันเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมง และให้คนงานได้มีเวลาพักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า “ระบบสามแปด” การกระทำที่โหดเหี้ยม รุนแรงเพื่อยับยั้งการเดินขบวน นายทุนกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือชนชั้นปกครองได้เข้าปราบปรามคนงาน โดยจุดปะทะที่โหดเหี้ยมที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโก้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ปืนกราดยิงเข้าใส่คนงานจนเสียชีวิตนับสิบและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก มีคนงานถูกจับกุมหลายร้อยคนและถูกตัดสินแขวนคอ 4 คน แต่ถึงอย่างไรก็ตามขบวนการกรรมกรของอเมริกายังคงยืนหยัดต่อสู้ต่อไป โดยมีมติให้เตรียมการเดินขบวนทั่วประเทศอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2433
ในปี 2433 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันเดินขบวนประจำปีของกรรมกรทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งได้รับการขานรับและจัดเดินขบวนจากขบวนการกรรมกรต่างๆ ทั่วโลก จนกระทั่งบรรลุข้อเรียกร้องและได้รับสิทธิในระบบ “ สามแปด” และเป็นคุณูปการแก่กรรมกรรุ่นหลังจนถึงปัจจุบัน จึงถือได้ว่าวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันกรรมกรสากลครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และกรรมกรทั่วโลกจึงถือวันดังกล่าวเป็น “วันกรรมกรสากล”
 
ดังนั้นการจัดงานวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี จึงถือเป็นการจัดงานรำลึกถึงกรรมกรที่เสียสละ กล้าต่อสู้อย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นการสะท้อนการต่อสู้ทางชนชั้นของขบวนการกรรมกรทั่วโลกในยุคทุนนิยม มิใช่วันแรงงานแห่งชาติที่มีความหมายเพียงแค่วันหยุดประจำปีที่รัฐบาล สถานประกอบการจัดให้แก่คนงาน  
 
ในสถานการณ์ปัจจุบัน โลกเผชิญกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดภายใต้ยุคสมัยของโลกาภิวัฒน์ของระบบทุนนิยมในอดีต และพัฒนาเป็นทุนเสรีนิยมผูกขาดครอบโลก รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยได้ยอมจำนนก้มหัวให้กับระบบเสรีนิยมใหม่ เปิดทางให้กับนายทุนแสวงหากำไรได้อย่างเสรีโดยไม่จำกัดพื้นที่ เช่น การเปิดการค้าเสรี การกดขี่ค่าจ้างแรงงานให้ต่ำเพื่อสร้างแรงดึงดูดนักลงทุน ขยายขอบเขตการจ้างงานที่เลวร้าย ทำลายความมั่นคงในการทำงาน นำกิจการของรัฐให้เอกชนทำแทน หรือที่เรียกว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำให้สถาบันการศึกษา โรงพยาบาลเป็นธุรกิจการค้า ในสภาพเช่นนี้กรรมกรถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนัก ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำทำให้คนงานต้องทำงานอย่างหนัก ชั่วโมงการทำงานยาวนานขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ  ระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นผลักดันให้คนงานจำนวนมากหลุดจากการคุ้มครองของกฎหมาย ขณะที่สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวถูกกีดกันขัดขวาง ขณะเดียวกันรัฐบาลซึ่งเป็นตัวแทนชนชั้นนายทุนปล่อยให้
มีการกักตุนสินค้า ไม่ควบคุมราคา ทำให้สินค้าราคาแพง และขาดแคลนอย่างหนัก สร้างความเดือดร้อนแก่คนงานและประชาชนอย่างถ้วนหน้า
 
ดังนั้นในโอกาสวันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องกรรมกรทั้งหลายจักต้องสำนึกในจุดยืน อุดมการณ์ของชนชั้นกรรมาชีพ รวมพลังกันให้เหนียวแน่น เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกร ชาวนา คนจนในเมืองและในชนบทและพลังนักศึกษาทั้งหลายร่วมกันต่อสู้ผลักดันให้รัฐดำเนินการปกป้อง คุ้มครองสิทธิของกรรมกร ผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการสาธารณะอย่างจริงจัง โดยร่วมกันผลักดันให้รัฐดำเนินการ ดังปรากฏตามข้อเสนอในวันกรรมกรสากล ปี 2554 ดังนี้
 
1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในเรื่องการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
 
2. รัฐต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ตามข้อเสนอของขบวนการแรงงาน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
 
3. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้
 
4. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม และกำหนดโครงสร้างค่าจ้างให้ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม
5. รัฐต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชน โดยการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารงานของผู้แทนคนงานในทุกระดับ
 
6. รัฐต้องดำเนินการให้คนงานมีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน 
เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่
 
7. รัฐต้องเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 
 
8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากเจ้าของสถานประกอบการ กรณีการถูกเลิกจ้าง
 
9. รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนงานในเขตย่านอุตสาหกรรม
 
10. รัฐต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ และสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
11. รัฐต้องยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ
ขั้นพื้นฐานของประชาชน
 
12. ให้ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินชดเชย และเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย
 
13. ให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2551 มาตรา 118 โดยให้เพิ่มค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ทำงาน 10 ปีขึ้นไปเพิ่มอีกปีละ 30 วัน
 
แน่นอนว่า พวกเราไม่อาจคาดหวังได้ว่ารัฐบาลชนชั้นนายทุนจะดำเนินการตามข้อเสนอของกรรมกร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมกรทุกคนจำต้องผนึกกำลังสามัคคีทางชนชั้น ดังสำนึกที่ว่า “ กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน” ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ข้อเรียกร้องและภารกิจทางประวัติศาสตร์ปรากฏเป็นจริง 
 
โดยชูคำขวัญ "สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน"
 
ส่วนอีกกลุ่มคือสภาองค์การลูกจ้าง 12 แห่งจัดร่วมกับภาครัฐ ซึ่งมีนายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์กรลูกจ้างสภาแรงงานเป็นประธานจัดงานราว10,000 คน มีการจัดกิจกรรมพิธีสงฆ์เช้า และเดินรณรงค์จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังลานคนเมือง ยื่นข้อเรียกร้องให้กับนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จัดประกวดธิดาแรงงาน  และถวายพระพร โดยมีข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ดังนี้
 
1.  ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 แล 98
 
2.  ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้าง  ในกรณีสถานประกอบการปิดกิจการ  เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน
 
3.  ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง  พร้อมกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และรายได้แห่งชาติ ทุกสาขาอาชีพ
 
     3.1  ให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า  เข้มงวด  และเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎหมาย
 
4.  ให้รัฐบาลปฏิรูประบบประกันสังคม
 
      4.1  ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ม.39  กรณีการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน  ควรจ่ายเพียงเท่าเดียว
 
      4.2  ให้รัฐบาลนิรโทษกรรมให้กับผู้ประกันตน ม.39 กลับมาเป็นผู้ประกันตนได้
 
      4.3  ให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันตน ม.40 ในอัตรา 50% ทุกกรณี
 
      4.4  ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 โดยขยายสิทธิให้ผู้ประกันตนสามารถรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล  ในเครือประกันสังคม
 
      4.6  ให้รัฐบาลยกระดับสำนักงานประกันสังคม  เป็นองค์กรอิสระ
 
5.  ให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 และยกเลิกการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกกิจการ
 
6.  ให้รัฐบาลยกเว้นเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้าง  ในกรณีเงินค่าชดเชย  และเงินรายได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย
 
7.  ให้รัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.118 ให้กับลูกจ้างเดิมอายุงาน 10 ปีขึ้นไป  จ่ายชดเชย 300 วัน เป็นอายุงาน 10 ปีขึ้นไปเพิ่มอีกปีละ 30 วัน
 
     7.1  ให้รัฐบาลเข้มงวดและบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ม.11/1 ในกรณีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง
 
8.  ให้รัฐบาลจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กและศูนย์เก็บน้ำนมแม่
 
9.  ให้รัฐบาลรวมกฎหมายแรงงานทุกประเภทเป็นประมวลกฎหมายแรงงานฉบับเดียว  และบังคับใช้ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
 
โดย ชูคำขวัญ "แรงงานไทยน้อมใจถวายพระพร 84 พรรษา มหาราชันย์"
 
ทั้งนี้ 2 กลุ่มมีข้อเรียกร้องเหมือนจำนวน 9 ข้อ แตกต่างกัน 4 ข้อ
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อรายงาน