คสรท.และสรส.เสนอรมว.แรงงานแก้ปัญหาด่วน 6 ข้อ ติดตาม 10 ข้อ

รมว.แรงงาน รับข้อเสนอ แก้ปัญหาผลกระทบแรงงานช่วงโควิด หลายข้อต้องแก้กฎหมายประกันสังคม ด้านแรงงานเสนอสิ่งที่ต้องทำด่วน มี 6 ข้อ และติดตาม 10 ข้อเรียกร้อง  รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ทั้งสุขภาพ การศึกษา การปฏิรูปประกันสังคม ตั้งธนาคารแรงงาน สร้างโรงพยาบาล และจัดหางาน
วันที่ 11 กันยายน 2563 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้ยื่นข้อเรียกต่อรัฐบาลในวันกรรมกรสากล  และวันงานที่มีคุณค่าสากลเป็นประจําทุกปี ให้กับ นายสุชาติ  ชมกลิ่น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ณ ห้อง ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคสรท. กล่าวว่า ในแต่ละปีคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้รวบรวมประเด็นปัญหาและผลกระทบที่ เกิดขึ้นต่อผู้ใช้แรงงาน บรรจุเป็นข้อเรียกร้องยื่นต่อรัฐบาล วัตถุประสงค์ เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบถึงปัญหา และเข้ามา แก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงยั่งยืน ซึ่งได้ติดตามข้อเรียกร้อง และขับเคลื่อนประเด็นปัญหาแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อเรียกร้องและปัญหาของผู้ใช้แรงงานก็ยังไม่ได้ รับการแก้ไขปรับปรุงอย่างที่ควรจะเป็น ในทางกลับกันปัญหาที่เกิดขึ้นบางเรื่องกลับลุกลามบานปลาย ขยายขอบเขต ไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งเป็นการซ้ําเติมปัญหาแรงงานมากยิ่งขึ้นไปอีก  ขณะที่การดําเนินการช่วยเหลือเยียวยาของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามนโยบายเร่งด่วน การบังคับใช้กฎหมาย ยังขาด ประสิทธิภาพไม่ทันต่อเหตุการณ์ มาตรการควบคุมการระบาดทําให้ผู้ใช้แรงงานต้องตกงานครอบครัวได้รับความ เดือดร้อนมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากการประชุมประจําเดือน พฤศจิกายน 2562 ของคณะกรรมการ สมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการประสานงานเพื่อขอเข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา เพื่อติดตามข้อเรียกร้องและหารือรวมทั้งข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงานต่อหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้แรงงาน  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และเครือข่ายแรงงานจึงขอเข้าพบ นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เนื่องในโอกาสเข้ามารับตําแหน่งใหม่ เพื่อแสดงความยินดี  และเพื่อติดตามข้อเรียกร้องของวันกรรมกรสากลประจําปี 2560
ซึ่งมีดังนี้
1. รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
2. รัฐต้องกําหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
    2.1 กําหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ําแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว อีก 2 คน
ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ
    2.2 กําหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี
3. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิใน การรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ  การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)
4. รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อ ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้
4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ
4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ
4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ
5. รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว
6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้
6.1  ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสํานักงานประกันสังคม  ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม
6.2  จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนําส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจํานวน
6.3  เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33
6.4  เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย
6.5  ให้สํานักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับ ที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558
6.6  ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคําวินิจฉัยของ แพทย์
7. รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตาม กฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)
8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันใน การคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงิน ชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้
9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และ สภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ
10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบประมาณให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ อย่างเพียงพอ เพื่อให้สถาบันความปลอดภัยฯบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. เป็นผู้แทนในการนำเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติมประจําปี2563 จากการที่คสรท.ได้เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในพื้นที่ 14 แห่ง ครอบคลุมเขตอุตสาหกรรม และพบกับปัญหามากมายและฝากมานําเสนอ ซึ่งมีปัญหาเร่งด่วน เพื่อหารือทางออก และให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันในลําดับต่อไป โดยข้อเสนอให้รัฐมนตรีแก้ไขประเด็นปัญหาเร่งด่วน คือ
1. ให้รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่ เลือกปฏิบัติ ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยปัญหาโควิด-19 ที่จ่อจะระบาดรอบสอง อาจเนื่องความคาดหมายและแม้ว่าจะมีการป้องกันและเฝ้าระวังดีอยู่แล้วแต่หากเจ็บป่วยก็ควรได้รับการดูแล และทางด้านด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างแท้จริง
2. ให้รัฐต้องจัดหางานให้ประชาชนวัยทํางานมีงานทําอย่างทั่วถึง จัดหาอาชีพให้กับประชาชนที่ออกจากงาน และมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ไม่มีงานทําอย่างเพียงพอ ซึ่งมาตรการต่างๆที่ออกมาอาจยังไม่ครอบคุมและตอนนี้แรงงานก็ตกงานจำนวนมากเพิ่มขึ้น และเงินค่าชดเชยที่ หรือเงินสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับถิอเป็นเงินก้อนสุดท้ายของผู้ใช้แรงงาน ที่จะใช้ในการดำเนินชีวิตในอนาคตต่อไป รัฐยังมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายอีก
3. รัฐต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร สํานักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
4. ให้เลขาธิการประกันสังคมเร่งดําเนินการให้รัฐบาลนําเงินสมทบค้างจ่าย จํานวน  87,737  ล้านบาท มาคืนให้กับประกันสังคมทั้งหมดเป็นกรณีเร่งด่วน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องทำหน้าที่ในการทวงเงินก้อนนี้ที่รัฐบาลยังติดหนี้กองทุนประกันสังคมมาคืน เพื่อให้เกิดความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม เนื่องจากช่วงวกฤติโควิด-19ได้มีการอนุมัติเงินออกมาจำนวนมาก ในการใช้เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้
5. ให้รัฐบาลจัดตั้งธนาคารแรงงาน เพื่อให้บริการผู้ประกันตน เนื่องจากในยามวิกฤติผู้ประกันตนมีปัญหามากมายด้านการเงิน เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อการนำมาใช้ในกิจกรรมสร้างเสริมอาชีพ และเงินประกันสังคมเองที่มีการฝากไว้ในธนาคารต่างๆก็เป็นเงินก้อนใหญ่แต่ผู้ประกันตนก็เข้าไม่ถึงในฐานะเจ้าของเงินนั้นด้วยเงื่อนไขต่างๆ
6. ให้รัฐบาลสร้างโรงพยาบาลเพื่อให้บริการผู้ประกันตน  เป็นต้นแบบ ด้วยสปส.มีโรงพยาบาลด้านเอกชนอยู้ในเครือข่ายกว่า 200 แห่ง การสร้างโรงพยาบาลประกันสังคมเองขึ้นมาเพื่อสร้างมาตรฐาน การดูแลผู้ประกันตนด้านสุขอนามัยแบบครบวงจรเช่นเดียวกัน เพื่อการเปรียบเทียบเชิงคุณภาพ โดยอาจมีภูมิภาคละแห่ง เพื่อให้เป็นการนำร่อง ยังมีประเด็นกรณีผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ แต่ว่าประกันสังคมได้ตัดสิทธิการรักษาพยาบาลไปด้วย จริงแล้วอยากให้คงสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนที่รับเงินบำนาญไว้ด้วย
“ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่คสรท.เสนอมานั้นอยากให้รับมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพิจารณา และแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นเรื่องนโยบายที่เรียกร้องมากหลายรัฐบาล และประเด็นเร่งด่วนที่อาจรอไม่ได้ หากรัฐมนตรีฯเร่งแก้จะถือเป็นผลงานที่สนองความต้องการของผู้ใช้แรงงานอย่างแน่นอน” นายชาลีกล่าว
ด้านนางอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคสรท. กล่าวถึงประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานหญิงจำนวนมาก เมื่อนายจ้างอ้างได้รับผลกระทบจากโควิด-19เลิกจ้างผู้หญิงขณะตั้งครรภ์ โดยไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย จึงอยากให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48) เพื่อการคุ้มครองแรงงานหญิง ตอนนี้แรงงานกลุ่มนี้ยังไม่สามารถหางานทำได้ การพัฒนาฝีมือที่ได้มีการจัดเพื่อการสร้างรายได้ ปัญหาคือแรงงานไม่มีตลาดที่จะขาย ซึ่งรัฐควรคิดเรื่องตลาดให้กับแรงงานหญิงที่มีการพัฒนาฝีมือ สร้างผลผลิตออกมาแล้วต้องส่งเสริมการตลาดให้เขาด้วย
นางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานในพื้นที่ขณะนี้มีการให้หยุดงานใช้มาตรา 75 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน และหลังจากที่รัฐบาลให้นายจ้างที่ใช้สิทธิปิดงานไปแจ้งประกันสังคมกรณีได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ลูกจ้างรับ 62% จากประกันสังคมสิ้นสุดลง ขณะนี้เริ่มมีการเลิกจ้าง และการเกษียณอายุงานโดยนายจ้างขอผ่อนจ่ายเงินชดเชย จึงอยากให้รัฐเข้าไปแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย เนื่องเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่ลูกจ้างควรได้รับ แต่กลับมีการแบ่งจ่ายทำให้ไม่สามารถนำเงินไปลงทุนทำอะไรเพื่อสร้างงานในอนาคตได้
ส่วนผู้แทนของสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างและสมาชิกว่า บริษัทวิงสแปน เป็นบริษัทฯที่รับเหมาในสนามบิน และเกี่ยวเนื่องกับการบินโดย
มีพนักงานจำนวนกว่า 4 พันคน และนายจ้างได้ใช้การปิดงานโดยใช้มาตราปิดงานด้วยผลกระทบจากโควิด-19 และพนักงานรับเงิน 62%จากประกันสังคม เมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวนายจ้างได้ปิดงานต่อเนื่องและประกาศเลิกจ้างจำนวน 2,000 คน โดยแจ้งว่าจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นการจ่ายค่าชดเชยที่ใช้ระยะเวลายาวนานมาก รัฐมนตรีฯเองได้มอบหมายให้ข้าราชการเข้าไปดูแลแต่จนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจึงอยากให้รัฐมนตรีฯเข้ามาร่วมแก้ปัญหานี้โดยด่วนได้หรือไม่
ทั้งนี้ยังมีประเด็นแรงงานข้ามชาติที่มีข้อเสนอ สถานการณ์ เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดย นางสาวโรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่มาพร้อมกับนายอองจอ เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ได้กล่าวขอบคุณที่รัฐมนตรีฯถึงการแก้ไขให้แรงานข้ามชาติต่อใบอนุญาตทำงาน และการขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติช่วงที่ผ่านมากลับเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่แรงงานมากขึ้น โดย ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,000-10,000 บาทต่อคน ขึ้นอยู่กับกิจการและหลักประกันทางสุขภาพ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เป็นวีซ่าที่ตกปีละ 1,900 บาทต่อปี (2 ปี) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายในระยะเวลาที่ดำเนินการให้เสร็จ ยังพบว่า แม้จะมีกฎหมายห้ามนายจ้างหักค่าใช้จ่ายเรื่องดำเนินการยกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนตัวของแรงงานข้ามชาติ แต่ยังมีมาตรการบังคับกฎหมาย หรือมีช่องทางรับเรื่องราวร้องเรียนที่ชัดเจน แล้วกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ค่าธรรมเนียมคำขออนุญาติเพื่ออยู่ในราชอณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป สำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษพ.ศ.2559 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ได้ครบกำหนดการบังคับใช้ 4 ปี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 และยังไม่มีการออกกฎกระทรวงเพิ่มเติม ส่งผลให้ค่าทำเนียมการตรวจลงตราวิซ่าของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาตาม MOU จากเดิม 500 บาท มาเป็น 1,000 บาท มีผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาตามระบบMOU จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้น รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในอนาคตตามความต้องการของนายจ้างที่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเรื่องค่าตรวจโรคโควิด-19 ค่ากักตัว ค่าประกันโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 20,000 บาท ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องแบกรับภาระหนี้สิน เสี่ยงต่อการเข้าข่ายเป็นแรงงานบังคับเนื่องจากมีภาระหนี้ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้กระทรวงแรงงานควรมีนโยบายลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงในช่วงที่มีผลกระทบจากโรคโควิด-19 ไปก่อนเพื่อลดภาระและความเดือดร้อนให้แก่แรงงานข้ามชาติ และขอนัดปรึกษาหารือประเด็นแรงงานข้ามชาติเป็นการเฉพาะด้วย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่าจากข้อเสนอที่ได้ยื่นมานั้น ข้อเสนอตั้งธนาคารแรงงาน คงต้องมีการแก้พรบ.ประกันสังคม เพื่อให้นำเงินบำนาญชราภาพแก้ไขให้รับบำเหน็จ เมื่ออายุ 55 ปี โดยแบ่งเงินร้อยละ 30 ของเงินบำนาญมาเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ให้กับผู้ประกันตน ซึ่งอาจดูตามยอดเงินก้อนที่อยุ่ในบำนาญ ปล่อยกู้ผ่านธนาคารของรัฐ ธนาคารกรุงไทย ทำให้ง่ายที่สุด ใช้เพียงบัตรผู้ประกันตน ให้ใช้เงินบำนาญเขาค้ำการกู้ไม่เกิน 30% ต้องเข้าว่า เงินประกันสังคมมีไว้เพื่อดูแลยามชราของผู้ประกันตน
เรื่องตั้งธนาคาร เจ้าหน้าที่ได้รายงานว่ากฎษฎีกาได้ตีความแล้วว่า ไม่สามารถนำเงินประกันสังคมไปตั้งเป็นธนาคารได้ แต่สามารถนำไปลงทุนได้ตามสัดส่วน การซื้อพันธบัตร มีการซื้อหุ้นธนาคาร หลายแห่งเพื่อนำดอกผลมาเข้ากองทุน เพื่อจัดสวัสดิการเพิ่ม
เรื่องติดตามเงินประกันสังคมที่รัฐบาลค้างจ่าย ตามที่ได้รับรายงานก็มีการทยอยจ่ายเข้ามาแล้ว แต่อย่างไรจะติดตามส่วนที่ยังค้างอยู่ หลายครั้งตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็ทำหน้าที่ในการท้วงติงเสมอหามีความไม่ชอบมาพากลอย่างจะขอลดเงินสมทบเป็นต้น เพราะตอนนี้เงินที่รัฐสมทบก็น้อยกว่า นายจ้าง และลูกจ้างที่สมทบอยู่แล้ว ตอนนี้ก็มีความพยายามจะทำอย่างไรให้สิทธิผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น อย่างเมื่อแสดงบัตรผู้ประกันตนเวลาซื้อของใช้จำเป็น ได้รับส่วนลดจากราคาสินค้า หรือเข้าพักโรงแรม ก็มีส่วนลดกำลังเจรจาห้างค้าปลีก หรือการท่องเที่ยวอยู่
เรื่องโรงพยาบาลประกันสังคม ตอนนี้มีการพูดคุยให้ทางโรงพยาบาลที่สังกัดประกันสังคม ต้องดูแลผู้ประกันตนให้ดีในเรื่องรักษาพยาบาล เช่น มีห้องให้ดูดี เนื่องจากผุ้ประกันตนจ่ายเงินในการรักษา แต่สิทธิเป็นพลเมืองชั้นสองตรงนี้รับไม่ได้ และต้องมองเชิงป้องกันด้วยเนื่องจากโรคระบาดเกิดขึ้นมากมีโรคใหม่ๆที่ต้องมีการฉีดวัคซีน อย่างไข้หวัดใหญ่ ผู้ประกันตนไม่ได้รับวัคซีนฟรีตรงนี้ ถามว่าทำไม หากเจ็บป่วยต้องสูญเสียเพิ่มขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังมอบนโยบาย ซึ่งคงไม่นาน กรณีผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพแล้วไม่ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม ตอนนี้กำลังมีการแก้ไขกฎหมายฉบับที่ 5 แล้วกำลังจะส่งมาให้ที่กระทรวงพิจารณา คงอีกไม่นานเช่นกัน ส่วนประเด็นปัญหาการคุ้มครองแรงงานก็ขอให้ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงไปดูแลบังคับใช้กฎหมาย และกรณีแรงงานข้ามชาติ ตามที่ผู้แทนแรงงานข้ามชาตินำเสนอมาคงต้องพูดคุยกันอีกครั้ง โดยให้นัดมา
ท้ายสุดได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมท้ายรูปร่วมกัน
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน