ประณามการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ต่อการจัดการปัญหาสหภาพแรงงานซันโคโกเซ – ยุติการคุกคามผู้นำแรงงาน คืนบัตรประชาชนและใบขับขี่ของสมาชิกสหภาพแรงงานโดยทันที
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้ออกแถลงการณ์วันที่12 มกราคม พ.ศ. 2559 ขอประณามการใช้พ. ร. บ. การชุมนุมสาธารณะ2558 ให้และยุติหัวเรื่อง: การคุกคามผู้นำแรงงาน ดังนี้
นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา บริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยีประเทศไทย จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ ได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งงานให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า, มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ ได้มีคำสั่งปิดงานสมาชิกสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวน 663 คน และสั่งห้ามเข้าทำงานในโรงงานและงดจ่ายค่าจ้าง อีกทั้งไม่ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมายประกันสังคม, คุ้มครองแรงงาน และกองทุนเงินทดแทน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมากนี้ ทำให้ลูกจ้างที่ถูกปิดงานจึงได้ชุมนุมบริเวณด้านหน้าบริษัทฯ เพื่อให้มีการเจรจาเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว แต่ไม่เป็นผลอย่างใด อีกทั้งบริษัทฯยังได้ประสานงานกับทางนิคมฯเพื่อขอใช้อำนาจศาลสั่งให้ลูกจ้างย้ายสถานที่ชุมนุมออกจากบริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา และได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างอีกคนละ 500,000 บาท รวม 1,000,000 บาท
ก่อนหน้านั้นทางสหภาพแรงงานได้พยายามอย่างยิ่งยวดในการเจรจากับนายจ้างกว่า 16 ครั้ง เพื่อให้ได้ข้อยุติในข้อพิพาทแรงงานมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 จนล่าสุด คือ 11 มกราคม 2559 แต่ก็ยังไม่ยุติแต่อย่างใด
บริษัทฯยังได้มีมาตรการกดดันลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำแรงงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน, การสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำ, การเปิดโครงการสมัครใจลาออกด้วยข้ออ้างเรื่องการขาดทุนแต่ก็มีการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา (OT) ควบคู่กันไป, การทำงานท่ามกลางความไม่ปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในโรงงาน เป็นต้น
สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลใจว่าอาจนำไปสู่การเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน มากกว่าการเจรจาข้อพิพาทแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ได้กำหนดไว้ จึงทำให้สมาชิกฯเดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 35 ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 6 มกราคม 2559 จวบจนเวลา 16.00 น. ทางกระทรวงแรงงานจึงได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการจัดการกับสมาชิกสหภาพแรงงาน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จนทำให้มีตำรวจกว่า 200 นาย พร้อมรถตำรวจ และรถที่มีห้องขัง เข้ามาประจำการในกระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะจัดการสลายการชุมนุมสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 500 คน ที่รวมตัวอยู่บริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงาน ที่มีทั้งกลุ่มแรงงานหญิง แรงงานตั้งครรภ์ และแรงงานที่ป่วย
ขณะเดียวกันก็ได้มีการควบคุมตัวนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และนายอมรเดช ศรีเมือง ประธานสหภาพแรงงานฯ กว่า 4 ชั่วโมง โดยในช่วงแรกได้มีการยึดโทรศัพท์ ยึดบัตรประจำตัวประชาชน ห้ามติดต่อสื่อสารกับสมาชิกที่อยู่บริเวณด้านล่าง และตำรวจที่อยู่ในห้องควบคุมตัวในชั้น 6 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ใช้คำพูดตะคอกข่มขู่กดดัน อีกทั้งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้เข้ามาควบคุมการชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน ได้ยึดบัตรประชาชนและใบขับขี่ของสมาชิกสหภาพแรงงานและผู้นำแรงงานที่มาชุมนุม โดยที่ยังไม่มีการคืนบัตรดังกล่าวให้แต่อย่างใดจนบัดนี้ ประกอบด้วย นายเสมา สืบตระกูล , นายพรพิชิต ปุริสาร และสมาชิกสหภาพแรงงานอีก 2 คน
ในวันรุ่งขึ้นจนปัจจุบัน นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ถูกติดตามจากตำรวจและทหารไม่ทราบสังกัดแต่งกายนอกเครื่องแบบ ตั้งแต่โรงงานจนบ้านพัก รวมทั้งสำนักงานสหภาพแรงงาน รวมถึงนายยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธาน คสรท. ที่ถูกติดตามมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559
เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยที่กระทรวงแรงงานไม่เข้ามาปกป้องหรือมีมาตรการใดๆตามที่กล่าวอ้าง ในคำแถลงข่าวโดยรองปลัดกระทรวงแรงงานเมื่อ 7 มกราคม 2559
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรสมาชิก ขอประณามกระทรวงแรงงานต่อการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ในการจัดการปัญหาสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2559 อย่างถึงที่สุด ทั้งที่การรวมตัวและเจรจาต่อรองถือเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานตามปฏิญญาสิทธิมนุษยชน และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ได้บัญญัติไว้ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยของผู้ใช้แรงงาน ในการปกป้องสิทธิของคนงานไม่ให้ถูกนายจ้างรังแกเอารัดเอาเปรียบตามอำเภอใจ และเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในสังคมไทย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกกับองค์กรแรงงานอื่นๆในอนาคต คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน ในการมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข และจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้โดยเร็ว รวมทั้งไม่มีการเอาผิดทางอาญาและทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายกับลูกจ้างทุกคนในทุกกรณี
2. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาพิจารณาและให้ความเห็นที่ชัดเจนว่า การชุมนุมที่เป็นผลมาจากการพิพาทแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 เข้าข่ายความหมายการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากกลไกสูงสุดในการแก้ไขความขัดแย้งด้านแรงงานตามที่กฎหมายระบุไว้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การที่กฎหมายชุมนุมสาธารณะได้กำหนดเรื่อง ห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติ หรือการใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ จึงขัดแย้งกับการชุมนุมขององค์กรแรงงาน เพราะเป็นไปเพื่อการเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรงให้เข้ามาแก้ไขปัญหา และโดยสภาพการชุมนุมย่อมก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้สถานที่ดังกล่าวอยู่บ้าง การบัญญัติลักษณะดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการห้ามการชุมนุมไม่ให้องค์กรแรงงานสามารถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ได้อีกต่อไป และเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานอันควรได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญ
3. ท่ามกลางสถานการณ์การละเมิดสิทธิแรงงานที่ทวีคูณ คสรท.ได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทั้งทางขับเคลื่อนเชิงนโยบายและด้านกฎหมายแก่แรงงานทุกกลุ่ม เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ให้สามารถเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกระบวนการยุติธรรมกำหนดไว้ การติดตามผู้นำแรงงานใน คสรท. ทั้ง 2 คน (นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ถูกติดตามจากตำรวจและทหารไม่ทราบสังกัด รวมถึงนายยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธาน คสรท. ที่ถูกติดตามมาตั้งแต่ 4 ม.ค.59 ) จึงถือได้ว่าเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ขององค์กรด้านแรงงาน คสรท.ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกลุ่มดังกล่าว เพื่อดำเนินการทางวินัยโดยทันที
4. เนื่องจากบัตรประชาชนถือเป็น “เอกสาร” ตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา ทางคสรท.ขอเรียกร้องให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจคืนบัตรประชาชนและใบขับขี่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกยึดไปโดยทันที เนื่องจากไม่มีกฎหมายฉบับใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่จะสามารถยึดบัตรประชาชนได้ อีกทั้งการยึดบัตรประชาชนไปถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 และพ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 15 ทวิ ฐานเอาไปเสียซึ่งบัตรประชาชนของผู้อื่นเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองโดยมิชอบ ทั้งนี้การที่ไม่มีบัตรประชาชนติดตัวอาจถูกเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมในข้อหาไม่สามารถแสดงบัตรประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจค้น ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน มาตรา 17 ได้ รวมถึงการไม่สามารถทำนิติกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ การยึดบัตรประชาชนไปจึงเป็นความผิดตามกฎหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และเจ้าหน้าที่ที่สั่งการจึงมีความผิดทางวินัยตามที่กล่าวมา
ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์