คสรท.แถลงการณ์ถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แก้ปัญหาสิทธิคนงานรถไฟ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรีนางสาว ยิ่งลักษณ์ ให้วางแนวทางแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิเลิกจ้างคนงานรถไฟ แบบไม่เป็นธรรม เสนอให้ตรวจสอบการทุจริต จับมือคนงานร่วมสร้างระบบธรรมาภิบาล พร้อมสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลงการ สนับสนุนการต่อสู้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2554 กรณีที่ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 อนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท. ทั้ง 7 คน และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 15 ล้านบาท คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะองค์กรแรงงาน อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ขอแสดงความเคารพในการตัดสินของศาลแรงงาน และขอให้กรรมการสหภาพฯ ทั้ง 7 ท่าน ต่อสู้ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุด และเห็นว่า การที่ สร.รฟท. รณรงค์เรียกร้องให้การรถไฟฯ สร้างมาตรฐานความปลอดภัยแก่ประชาชน เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ และประชาชน
 
ในขณะที่การรถไฟฯ กลับละเมิดสิทธิแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้างและกิจการแรงงานสัมพันธ์ ดังที่บัญญัติในข้อตกลงสภาพการจ้าง พ.ศ. 2544 ข้อที่ 2, ข้อตกลงสภาพการจ้าง พ.ศ. 2545 ข้อที่ 14, ข้อตกลงสภาพการจ้าง พ.ศ. 2552 ข้อที่ 15 และ ข้อที่ 16, ข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549 ข้อที่ 223 และ ข้อที่ 303, มาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494, มาตรา 37 และมาตรา 40 (4) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 4, 26, 29, 63, 64, 70
 
คสรท. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วางแนวทางระยะยาวในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน และการทำลายสหภาพแรงงาน ดังที่เกิดขึ้นกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย โดยการ เร่งรัดการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ และการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน พ.ศ. 2491 และ อนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492 
 
ส่วนกรณีการละเมิดสิทธิแรงงานต่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย คสรท. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อสร้างระบบธรรมาภิบาลในการรถไฟแห่งประเทศไทย อันเป็นไปตามข้อเสนอเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการละเมิดสิทธิแรงงานดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ชี้มูลว่า ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าข่ายประพฤติทุจริตประพฤติมิชอบ ตามหนังสือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตผ.00107/27 วันที่ 21 มกราคม 2552 เรื่องการให้เช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างอาคารและให้เช่าที่ดินเพื่อดำเนินการจัดหาประโยชน์ (ตลาดซันเดย์) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอให้กำลังใจมายังกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ทั้ง 7 ท่าน และพนักงานคนรถไฟทุกท่าน ในการยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเป็นธรรม อย่างถึงที่สุด
 
อนึ่ง ประเด็นปัญหาต่างๆ สืบเนื่องจากขบวนรถด่วนที่ 84 เกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 จนเป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 7 ราย และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้รณรงค์เรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับปรุงความปลอดภัยในการเดินรถ แต่การรถไฟฯ ได้มีคำสั่งลงโทษกรรมการสหภาพฯ สาขาหาดใหญ่จำนวน 6 คน มีการยื่นฟ้องศาลแรงงานเพื่อลงโทษและขออนุญาตเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงาน ในที่สุดศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 อนุญาตให้การรถไฟแห่งประเทศไทยสามารถเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท. ทั้ง 7 คน และให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 15 ล้านบาท
 
////////////////////////////////////////////////////////////