คสรท.เสนอปรับค่าจ้าง 360 บาท ม.หอการค้าหนุนต้องปรับ ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ

13012772_1717088945170452_5370891404567977592_n

มหาวิทยาลัยหอการค้าหนุนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ด้านแรงงานหอบข้อมูล ข้อเสนอนายก ให้ปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมอย่างต่ำต้อง 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท.ได้เข้ายื่นหนังสือ ข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล พร้อมนำข้อมูล เกี่ยวกับข้อเสนอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาทเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ต่อนายกรัฐมนตรี

นางสาววิไลวรรณ ได้กล่าวว่า ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการยกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะดำเนินการในปีแรก โดยระบุว่าจะ“ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร” ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555-2558 โดยมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดย 1 เมษายน 2555 ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนอีก 70 จังหวัด ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นขั้นต่ำเป็นวันละ 222-273 บาท และ 1 มกราคม 2556 ให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในอีก 70 จังหวัด ส่วนอีก 7 จังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทให้คงไว้ในอัตราเดิม สำหรับในปี 2557 และ ปี 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 และ 2558 ได้ตามความเหมาะสมแต่กลับไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 มติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ยังคงยืนยันให้ไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างให้ โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งขัดแย้งกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายได้มีการยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2558 ว่าอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมนั้นควรเท่ากับ 360 บาทตามข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน เดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงแรงงานด้วยเช่นเดียวกันว่าควรปรับค่าจ้างเป็น 360 บาท และในขณะเดียวกันกลับพบว่ารัฐบาลมีการปรับขึ้นค่าตอบแทนในภาคราชการและภาครัฐวิสาหกิจแล้ว

“คิดว่าการที่ไม่มีการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำเลย เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมแรงงานภาคเอกชน  รัฐบาลควรกำหนดค่าจ้างเป็นธรรมให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยทางคสรท.เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่อเป็น 360 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากไม่มีการปรับมาหลายปีแล้ว และค่าครองชีพประจำวันก็มีการปรับตัวขึ้นทุกวัน โดยที่รัฐบาลก็ไม่ได้มีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้า จึงขอเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และยกเลิกคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติและคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญของการขึ้นค่าจ้างในประเทศไทย ” นางสาววิไลวรรณ กล่าว

ในวันเดียวกัน สื่อมวลชนรายงานว่า นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผย ผลสำรวจ“ค่าครองชีพแพงจริงหรือในสถานการณ์ภัยแล้งและยุคเงินเฟ้อติดลบ” ว่า 8 หมวด ใน 37 หมวด รู้สึกว่าราคาสินค้าสูงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผลไม้ อาหารจานเดียว ข้าวราดแกง ปัจจัยทางการเกษตร ค่าเทอม ทั้งที่อัตราเงินเฟ้อติดลบมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี 58 และต่อเนื่องมายังปีนี้ สาเหตุที่มองว่าสินค้าแพงขึ้น เพราะรายได้ไม่เพิ่มขึ้นหลังค่าแรงขั้นต่ำคงที่ 300 มานานถึง 3 ปี ส่งผลให้หนี้สินต่อครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 ของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งมีเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท ยังพบรายได้ประชาชนไม่พอรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ลูกจ้างรายวันส่งผลให้มีหนี้สินสูง จึงเสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอีก 5-7 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15-21 บาท ให้กับกลุ่มคนรายได้น้อย รับจ้างรายวัน ภายในปีนี้

ในขณะที่ปัญหาภัยแล้งคาดหากยาวนาน มีผลกระทบต่อกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 0.6ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวร้อยละ 3 จงเสนอแก้ปัญหาด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานอย่างน้อยร้อยละ 5-7 เป็นเงินราว 10-15 บาทต่อวัน

 

2015-06-25 14.02.30

หมายเหตุ : เอกสารประกอบข้อเสนอ

เรื่องทำไมคนงานต้องได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม: “300 บาท” เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร[1]
—————————————————————————————————————————————–

ก่อนหน้าปี 2555 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละเขตท้องที่มีระดับแตกต่างกันออกไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม แต่นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกปรับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อันเป็นผลพวงมาจากนโยบาย “300 บาท” ของพรรคเพื่อไทย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งได้ให้สัญญาไว้ว่าเมื่อได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศในทันที

ภายหลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลได้กำหนดนโยบายการยกระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะดำเนินการในปีแรก โดยระบุว่าจะ“ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร” (ข้อ 1.8.2 ของนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554)

ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555-2558 โดยมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้

(1) ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 โดยมี 7 จังหวัดที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ส่วนอีก 70 จังหวัด ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 222-273 บาท

(2) ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัดอีกครั้งเป็นวันละ 300 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ส่วนอีก 7 จังหวัดที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทให้คงไว้ในอัตราเดิม

(3) สำหรับในปี 2557 และ 2558 ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ทั้งนี้หากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2557 และ 2558 ได้ตามความเหมาะสม

ในเวลาต่อมากระทรวงแรงงานโดยคณะกรรมการค่าจ้างได้ออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เพื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศมีจำนวนอัตราทั้งสิ้น 31 อัตรา อัตราสูงสุดคืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาครวันละ 300 บาท ส่วนอัตราค่าจ้างต่ำสุดคืออัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่จังหวัดพะเยา วันละ 222 บาท

การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555 ทำให้อัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.75 (เพิ่มขึ้นจากวันละ 221 บาท เป็นวันละ 300 บาท ในจังหวัดภูเก็ต) และอัตราต่ำสุดของค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.62 (เพิ่มขึ้นจากวันละ 159 บาท เป็นวันละ 222 บาท ในจังหวัดพะเยา) ส่วนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.54 (จากวันละ 215 บาท เป็นวันละ 300 บาท)

จากนั้นได้มีการออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เพื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัดที่เหลือให้เป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นผลให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดค่าจ้างต่ำที่สุดเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 35.13 ส่วนอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำใน 7 จังหวัดไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยจึงเท่ากันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศที่ระดับวันละ 300 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 มติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ยังคงยืนยันให้ไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างให้เพิ่มขึ้นจาก 300 บาทแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว หากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

มติที่ประชุมดังกล่าวได้แตกต่างจากที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายได้มีการยื่นข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2558 ว่าอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมนั้นควรเท่ากับ 360 บาทตามข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการสำรวจค่าครองชีพผู้ใช้แรงงาน เดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงแรงงานด้วยเช่นเดียวกันว่าควรปรับค่าจ้างเป็น 360 บาท

นอกจากนั้นแล้วในขณะเดียวกันกลับพบว่า ได้มีการปรับขึ้นค่าตอบแทนในภาคราชการและภาครัฐวิสาหกิจที่มีการปรับไปแล้วหรืออยู่ในระหว่างการปรับ ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากภาคเอกชนที่ไม่ให้มีการปรับค่าจ้างใดอย่างใด กล่าวคือ

  • การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ได้มีการอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท ตั้งแต่ 4-10 % ของอัตราเงินเดือนที่ได้รับตามตำแหน่ง โดยใช้งบประมาณ 22,900 ล้านบาท เหตุผลที่อนุมัติ คือ สอดคล้องกับภาวการณ์ครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยไม่สร้างภาระงบประมาณมากจนเกินควร และคำนึงถึงผลกระทบต่อต้นทุนการจ้างงานภาคเอกชน
  • คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) สำหรับผู้ที่ได้รับต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท โดยให้ปรับเพิ่มให้ครบ 9,000 บาท มีข้าราชการได้รับเงินจำนวนนี้ 70,000 คน โดยใช้งบประมาณเพิ่มปีละ 151 ล้านบาท มีผลตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป
  • คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม โดยใช้งบประมาณกลางปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557
  • คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. และเทศบาล จำนวนกว่า 1.6 แสนคนทั่วประเทศ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2557
  • ข้อมูลจากนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เคยนำเสนอต่อ คสช. เมื่อปลายปี 2557 ก็ระบุชัดเจนว่า ควรมีการปรับเงินเดือนและค่าจ้างดังนี้ 1. ปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำชั้นผู้น้อย 2. ปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และ 3. ปรับเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
  • เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีมติเรื่องให้มีการปรับขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ โดยให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจในแต่ละแห่ง และเป็นอำนาจการพิจารณาคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน

ข้อเสนอโครงการวิจัยเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม[2] ได้ชี้ชัดว่าระดับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมที่ใกล้เคียงกับหลักเกณฑ์ของค่าจ้างเพื่อชีวิต ภายใต้โครงสร้างครัวเรือนต่างๆ คือ

(1) ระดับ 378 บาท หากต้องการระดับอัตราค่าจ้างที่ทำให้แรงงานหัวหน้าครอบครัวและคู่สมรสใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเอง

(2) ระดับ 483 บาท หากต้องการระดับอัตราค่าจ้างที่ทำให้แรงงานหัวหน้าครอบครัว คู่สมรส และบุตร 1 คน ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเอง

(3) ระดับ 588 บาท หากต้องการระดับอัตราค่าจ้างที่ทำให้แรงงานหัวหน้าครอบครัวคู่สมรส และบุตร 2 คน ใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจในตัวเอง

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) ก็ได้ระบุชัดเจนว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระดับค่าจ้างที่ช่วยปกป้องแรงงานระดับล่างจากความยากจน (Poverty Safety Net) และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้แก่แรงงาน กล่าวคือ ช่วยให้แรงงานได้รับประโยชน์ของการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่น (Fair Wage) แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่อาจรับประกันว่าแรงงานระดับล่างจะหลุดพ้นจากความยากจนหรือได้รับความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจที่เพียงพอ

กล่าวคือเมื่อพิจารณาความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ พบว่า ต้องสอดคล้องกับ 3 มิติดังกล่าวนี้คือ (1) ความเหมาะสมต่อการใช้จ่ายตามอัตภาพ ซึ่งประกอบด้วยรายจ่ายที่จำเป็นต่างๆ ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาลและยาที่นอกเหนือจากประกันสังคม ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่ายานพาหนะ (2) ความเหมาะสมต่อการใช้จ่ายตามคุณภาพ คือ ขนาดของค่าใช้จ่ายตามอัตภาพรวมกับค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัย เงินทำบุญ ทอดกฐินและผ้าป่า และค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิงและพักผ่อน (3) ความเหมาะสมต่อคุณภาพและฝีมือของแรงงานในอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่โดยข้อเท็จจริง พบว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับการใช้จ่ายตามคุณภาพ รวมทั้งยังน้อยกว่าความต้องการใช้จ่ายตามอัตภาพด้วยเช่นกัน

อนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นต้องครอบคลุมถึงครอบครัว รวม 3 คน ที่พอจะทำให้มีชีวิตปกติสุข เพราะเวลาพูดถึง “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ในที่นี้หมายถึง “อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างคนเดียวสามารถดำรงชีพอยู่ได้ (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว)” เท่านั้น

ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกำลังพูดถึง คือสิ่งที่เรียกว่า “ค่าจ้างเพื่อชีวิต หรือ Living Wage” ไม่ใช่แค่ “ค่าจ้างขั้นต่ำ Minimum Wage” เท่านั้น เพราะ Living Wage คือ ค่าจ้างที่แรงงานจะสามารถสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง

จากข้อมูลเบื้องต้นที่กล่าวมานี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าทำไมจำเป็นต้องขึ้นค่าจ้าง 300 บาทได้แล้ว เพื่อสร้างให้เกิดค่าจ้างที่เป็นธรรม และนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและขยายความเป็นธรรมในสังคมไทยเพิ่มขึ้น ดังนี้

  • สถานการณ์ประเทศไทยกับการจ้างงาน

เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้ามากกว่าการนำเข้า ทำให้ประเทศไทยจึงวางตัวเองในฐานะ “ผู้รับจ้างผลิต” ในเวทีโลก ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทยจึงพยายามทำให้ต้นทุนทุกอย่างของการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งๆต่ำที่สุด ในที่นี้รวมถึงต้นทุนเรื่องค่าจ้างแรงงานด้วย เพื่อให้ได้กำไรมากที่สุดจากการส่งออก สำหรับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่แล้วการลดข้อจำกัดของต้นทุนการผลิตรูปแบบหนึ่ง คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังที่ไหนก็ได้ที่มีแรงงานราคาถูกและทรัพยากรเพียงพอ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

รูปแบบหนึ่งของการผลิตและการจ้างงานในลักษณะนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต คือ การจ้างระบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง (Outsourcing) ที่ทำให้การจ่ายค่าจ้างต่ำลง จ่ายสวัสดิการต่ำกว่าหรือไม่ต้องจ่ายเลย รวมถึงไม่มีการลงทุนด้านความปลอดภัยในการทำงานแม้แต่น้อย ดังนั้นสภาพการจ้างและเงื่อนไขสำหรับแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่หรือเกิดความตระหนักในการต้องคุ้มครองในกระบวนการผลิตแบบนี้แม้แต่น้อย

อาจไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่าประเทศไทยทุกวันนี้เป็นประเทศที่อาศัยการใช้แรงงานราคาถูกแบบ 3 L คือ ค่าจ้างแรงงานถูก (Low Wage) ผลิตภาพแรงงานต่ำ (Low Productivity) และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน (Long Working Hour) ทำให้แรงงานในประเทศไทยจึงมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นแรงงานจึงขาดความมั่นคงในการทำงานและไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสัญญาจ้างเป็นแบบปีต่อปี ระยะสั้น หรือไม่มีแม้แต่สัญญาจ้าง จะไม่มีความก้าวหน้าตามอายุการทำงาน ไม่มีหลักประกันใดๆในการถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีอำนาจต่อรองใดๆ และไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานหรือตัดสินใจใดๆในองค์กร รวมถึงบริษัทก็ไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในค่าจ้างและสวัสดิการของลูกจ้างเหล่านี้ว่าจะมีสภาพเช่นใดด้วย

(2) เข้าใจเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม

 (2.1)  การที่ลูกจ้างยิ่งได้รับค่าจ้างสูงและเป็นค่าจ้างที่มีความเป็นธรรม มากพอที่ตัวเองและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคตามมา เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว  ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น แต่สินค้าก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น และสินค้าก็ขายได้มากขึ้น เพราะแรงงานมีอำนาจซื้อสูงขึ้น

(2.2) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพียงเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานราคาถูกหรือกดค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องมาพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานควบคู่กันไป เช่น การลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์, เทคนิคการผลิตแบบใหม่ ๆ หรือการลงทุนในการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (2554) ได้เคยประเมินผลกระทบทางตรงของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากสัดส่วนของต้นทุนที่มาจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ผู้ประกอบการโดยรวมได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.7 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในขณะที่การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของต้นทุนแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้แรงงานไร้ฝีมือกระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยสาขาที่มีการใช้แรงงานไร้ฝีมือมากที่สุด คือ การผลิตสิ่งทอ ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานไร้ฝีมือเพียงร้อยละ 0.15 ของต้นทุนแรงงานทั้งหมดเท่านั้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพาณิชย์ (2554) ยังได้คำนวณผลกระทบต่อผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.05 ของต้นทุนทั้งหมดของผู้ผลิตเท่านั้น โดยข้อสรุปนี้มิได้แตกต่างไปส่าหรับกรณีของผู้ประกอบการ SMEs ด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจึงมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพียงเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่สถานประกอบการพยายามเลือกใช้แรงงานราคาถูกหรือกดค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตลอดมา

ถ้าจะกล่าวในเชิงรูปธรรมให้เห็นภาพมากขึ้น กล่าวคือ ต้นทุนค่าแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า 1 ชิ้น ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะทราบดีว่า ต้นทุนค่าแรงเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 บาทเป็น 360 บาท จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่ใช่ 100 % ตามที่มักกล่าวอ้างถึง และเมื่อมองผลกระทบด้านอื่นๆ อีก เช่น การลดภาษีเงินได้ มาตรการต่างๆของภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ เช่น สิทธิพิเศษในการจ้างงานตาม BOI ยิ่งจะช่วยให้กำไรสุทธิของบริษัทมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

(2.3) แม้จะมีการอ้างว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศใกล้เคียงที่ยังมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาก คำถามสำคัญที่ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาต่อคือ ประสิทธิภาพแรงงานของประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เท่ากับประสิทธิภาพและฝีมือของแรงงานไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะพบว่าประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพด้านฝีมือการผลิตสินค้าสู้ประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไม่ได้ รวมถึงความไม่พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ความเสี่ยง ที่ดินในการตั้งโรงงาน และการขนส่งสินค้า และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในประเทศแถบอาเซียนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้นๆ พบว่าเมื่อเรียงตามลำดับอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดไปถึงต่ำที่สุดนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยากที่นายทุนในประเทศไทยจะย้ายฐานการผลิต

  • ลำดับที่ 1 ประเทศสิงคโปร์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ ประมาณ 55,500 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 2 ประเทศมาเลเซียมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 15,900 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 3 ประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,960 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 4 ประเทศไทยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,450 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 5 ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 3,360 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 6 ประเทศเวียดนามมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,650 – 1,800 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 7 ประเทศลาวมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 2,642 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 8 ประเทศกัมพูชามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,830 บาท/เดือน
  • ลำดับที่ 9 ประเทศพม่ามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท/เดือน

นอกจากนั้นแล้วการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศอาจเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักและไม่สามารถทำได้ทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตสัดส่วนสูงในไทย อาทิ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก

(1) บริษัทต่างชาติลงทุนไปค่อนข้างมากแล้วจึงมีต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ค่อนข้างสูง การย้ายฐานการผลิตจึงมีต้นทุนสูงตามมา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

(2) ประเทศไทยมีเครือข่ายการผลิต (Supplier network) ที่แข็งแกร่งและมีความพร้อม ทำให้การย้ายฐานการผลิตไปเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาใหม่และใช้เงินลงทุนสูงโดยเฉพาะในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากการกระจุกตัวรวมกันเป็นกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ (cluster) ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องโดยกลุ่มบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลกมาตั้งโรงงานประกอบในไทยต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนหลัก ที่อยู่ในค่ายของผู้ประกอบรถยนต์แต่ละราย (Tier 1) และต้องพึ่งพาชิ้นส่วนรองและชิ้นส่วนย่อยจากผู้ประกอบการไทยอีกต่อหนึ่ง (Tier 2,3) ซึ่งไทยยังมีความเป็นศูนย์กลางด้านวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและมีเพียงพอกับความต้องการ ด้วยคุณภาพและระดับราคาที่ยังแข่งขันได้ โดยมีสัดส่วนการผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึงร้อยละ 80-90 ในกรณีรถกระบะ และร้อยละ 50 ในกรณีรถยนต์นั่ง

(3) แรงงานไทยมีความชำนาญและมีฝีมือประณีต ซึ่งอาศัยการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร และเป็นสิ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีส่วนแบ่งการผลิตถึงร้อยละ 41 ของโลก

(2.4) แน่นอนเรามักเข้าใจกันว่าเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น สินค้าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่มิได้หมายความว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น 60 บาท สินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 60 บาทในอัตราที่เท่ากัน เพราะเมื่อเท่ากันจะกลายเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแน่นอน ทางออกที่เหมาะสม คือ การที่รัฐบาลต้องเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตส่วนอื่นๆ เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ ลดภาษีรายได้บริษัท หรืออื่นๆ รวมถึงการหนุนช่วยในเรื่องของการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใกล้แหล่งโรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของแรงงาน เป็นต้น

(2.5) อีกหลายคนก็กังวลใจว่าจะมีการหลั่งไหลการเข้ามาเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่างจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา บังคลาเทศ เวียดนาม หรือจีน มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในกรณีนี้ถึงเวลาแล้วที่การจ้างงานในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถปฎิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ได้แล้วอีกต่อไป นี้ไม่นับในปลายปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

โจทย์ที่ท้าทายมากกว่าคือ เหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานข้ามชาติ? เพราะปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่าแรงงานข้ามชาติยังคงรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทย เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะไม่ได้ยกเว้นแรงงานข้ามชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างก็กลับจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้นความท้าทายของขบวนการแรงงานไทย คือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้

(2.6) นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักคาดการณ์หรือให้ข้อมูลว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะนำมาซึ่งการจ้างงานที่ลดลง เพราะค่าแรงมีราคาสูงขึ้น เป็นการทำลายบรรยากาศในการลงทุน และมิพักต้องทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นไปอีกเพราะต้นทุนสูงขึ้น จนส่งผลต่ออุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มค่าจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชี้ชัดว่า ต้นทุนการจ้างแรงงานที่สูงขึ้นไม่ส่งผลให้เกิดการปลดคนออกจากงาน หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังเมืองอื่นที่มีระดับค่าจ้างขั้นต่ำกว่าแต่อย่างใด ผลการศึกษาชี้ว่าต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวโดยการขึ้นราคาสินค้ากับเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในกระบวนการผลิตแทน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) มากขึ้น การเปลี่ยนงานมีแนวโน้มลดลง ช่วยลดต้นทุนการรับคนงานใหม่และลดต้นทุนการพัฒนาแรงงาน

(2.7) จากการที่แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ เพราะมีรายได้ต่อเดือนเพียง 9,000 บาทเท่านั้น (300 บาท x 30 วัน) จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องดิ้นรนในการทำงานนอกเวลา โดยต้องทำงานถึงวันละ 10-14 ชั่วโมง เพื่อให้พอมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย บางครั้งที่รายได้ไม่เพียงพอยิ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของแรงงานที่ไม่มีเงินออมต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงในเรื่องของการไม่มีเวลาในการดูแลครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาด้านครอบครัวอื่นๆติดตามมาเพิ่มขึ้น

(2.8) มีผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนมากที่มีงานทำ แต่เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการพื้นฐานของระบบประกันสังคมและจำนวนมากก็อาจไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองอะไร กลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ประกอบไปด้วย แรงงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย เช่น กรรมกรก่อสร้างอิสระ รับจ้างทั่วไป หาบเร่แผงลอย ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น ที่ผ่านมาการหยิบยื่นความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ให้กับผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน ถือเป็นการช่วยเหลือที่ทำให้ผู้รับความช่วยเหลืออ่อนแอลง ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือน การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม

          (3) ข้อเสนอ

(3.1) กระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการในการทำให้นโยบายการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้นได้จริงทุกปี ทั้งความชัดเจนในระดับนโยบายรัฐและระดับสถานประกอบการ ซึ่งเป็นไปตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นทุกปี  เนื่องจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้เป็นส่วนสำคัญของการสร้าง “เศรษฐกิจฐานกว้าง” ในประเทศ เพราะไม่มีเศรษฐกิจประเทศใดจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนถ้าหากไม่จัดการกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีรายได้เพิ่มน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งถีบตัวสูงขึ้นทุกปี รวมถึงเมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพียงเฉพาะแรงงานที่เข้าถึงนโยบายการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่คำนึงถึงกลุ่มแรงงานที่เข้าไม่ถึงการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อแสวงหาแนวทางในการเยียวยาที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้ต้องแบกรับเช่นเดียวกัน

(3.2) รัฐบาลต้องยกเลิกคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติและคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญของการขึ้นค่าจ้างในประเทศไทย กล่าวคือ คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดมีการทำงานซ้ำซ้อนเพราะมีโครงสร้างแบบเดียวกัน คือ มีลักษณะไตรภาคีเหมือนกัน ประกอบด้วยตัวแทนจากสามฝ่าย คือ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง ถึงแม้จะมีสัดส่วนของตัวแทนทั้งสามฝ่ายเท่ากันในกรรมการทั้งสองชุด แต่เป็นโครงสร้างที่ข้าราชการครอบงำอย่างชัดเจน เพราะคณะกรรมการได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี และมีข้าราชการประจำเป็นประธานและเลขานุการโดยตำแหน่งทั้งสองชุด

นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญ ก็คือ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นระบบการกำหนดค่าจ้างชั้นเดียว (single tier) อำนาจการตัดสินใจยังอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติเท่านั้น นี้ไม่นับว่าระบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำนี้ยิ่งไม่ได้ถูกออกแบบให้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละอุตสาหกรรมตามที่ควรจะเป็น ทั้งในแง่ของสัดส่วนการใช้แรงงานและทุน ความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการจ่ายและผลิตภาพของแรงงาน เพราะค่าจ้างนั้นถูกกำหนดในเชิงพื้นที่แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรม

(3.3) กระทรวงแรงงานต้องจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาเพื่อพิจารณาแก้ไขสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว โดยคำนึงถึงการมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่อง “ค่าจ้างที่เป็นธรรม” ไม่ใช่การคำนึงถึงเพียงแค่ “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงค่าครองชีพ และฝีมือแรงงานที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ความเสี่ยงและลักษณะงานของลูกจ้าง ค่าจ้างที่เป็นธรรมสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยวัดจากประสบการณ์ ฝีมือและทักษะของแรงงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่เป็นเพราะเรื่องของเหตุผล เป็นค่าแรงพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย มีความจำเป็นจักต้องนำมิติด้านสังคมเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำมีเพื่อให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ

—————————————-

[1] เอกสารฉบับนี้จัดทำโดยนายยงยุทธ เม่นตะเภา รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) และนางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ เมื่อ 1 มิถุนายน 2558

[2] โดยผศ.ปกป้อง จันวิทย์ และดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เสนอต่อ Friedrich Ebert Stiftung (FES) เมื่อมกราคม 2556