คสรท. เร่งรัฐให้สัตยาบันILOส่งเสริมสิทธิแรงงาน ป้องสิทธิทางการค้า

คสรท.เสนอ 3 ข้อแก้GSP ให้รัฐบาลไทยปกป้องสิทธิทางการค้าและเร่งให้สัตยาบันคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 29  ตุลาคม  2562 ที่กระทรวงแรงงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) นำโดยนายชาลี ลอยสูง รองประธานคสรท. ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มรว.จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รับหนังสือแทน

นายชาลี ลอยสูง ได้แถลงการณ์ เรื่อง  ให้รัฐบาลไทยปกป้องสิทธิทางการค้าและเร่งให้สัตยาบันคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ที่หน้ากระทรวงแรงงาน ว่า ตามที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ประกาศถอนสิทธิพิเศษทางการค้าผ่านโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯหลายรายการได้รับสิทธินี้  โดย GSP เป็นโครงการทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าปลอดภาษีกว่า 4,080  รายการจาก 120 ประเทศ รวมทั้งเขตปกครองต่างๆ ทั่วโลก การที่รัฐบาลสหรัฐฯได้ประกาศถอนสิทธิพิเศษทางการค้าสาเหตุมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานพื้นฐานตามมาตรฐานสากล ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการเป็นพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมาอย่างยาวนาน ด้วยมาตรการตัดสิทธิพิเศษทางภาษี สินค้าไทย 753 รายการ เช่น อาหารทะเล ผักผลไม้ น้ำเชื่อมและน้ำตาล  ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและผลไม้ เมล็ดพันธ์ อุปกรณ์เครื่องครัว ไม้อัด ไม้แปรรูป เหล็กแผ่น สแตนเลส ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับ จานชาม เป็นต้น ผลพวงจากการตัดสิทธิพิเศษครั้งนี้ เกิดความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 39,000 ล้านบาท ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่การลดต้นทุนหรือชะลอการผลิตเสี่ยงกับการลดการจ้างงานจำนวนมากในธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ

จากข้อมูลการร้องเรียนที่ยื่นเมื่อปี พ.ศ. 2556 และล่าสุดเมื่อ ปี 2561 โดย สหพันธ์แรงงานและสภาแรงงานอุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations : AFL-CIO) ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่มีสมาชิกกว่า 12 ล้านคนในสหรัฐฯได้เรียกร้องให้สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative :USTR) ถอนสิทธิพิเศษทางการค้า GSP จากประเทศไทยเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลไทยแสดงความรับผิดชอบต่อข้อผูกมัดด้านสิทธิแรงงาน ซึ่งสาระสำคัญในหนังสือร้องเรียนของ AFL-CIO ระบุว่า

“รัฐบาลไทยไม่ได้มีมาตรการในการบังคับให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการสมาคม สิทธิการจัดตั้งและเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการเป็นอิสระจากการถูกบังคับใช้แรงงาน ประมาณร้อยละ 75 ของกำลังแรงงานในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติและแรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วมตามกฎหมาย ในทางตรงข้าม รัฐบาลกลับจำกัดสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่องทั้งในตัวบทกฎหมายและจากความล้มเหลวในการบังคับให้เกิดการปฏิบัติตามสิทธินี้ ซึ่งกลับกลายเป็นการช่วยให้เกิดการละเมิดสิทธิจากนายจ้าง โดยรัฐบาลได้รับแจ้งหลายครั้งถึงความล้มเหลวและให้โอกาสในการปฏิบัติเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีพัฒนาการเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับข้อผูกมัดด้านการคุ้มครองสิทธิให้กับคนงาน”

จากการถอนสิทธิพิเศษทางการค้าผ่านโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preferences : GSP) ในครั้งนี้ย่อมไม่เกิดผลดีต่อประเทศไทยในสายตานานาประเทศ ที่ผ่านคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และเครือข่ายแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและเน้นย้ำเสมอมาว่าการละเมิดสิทธิด้านแรงงานโดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขกติกาสากลจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าและด้านอื่นๆในเวทีโลก และไม่เกิดผลดีทั้งผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกและไม่เป็นผลดีต่อคนทำงานในกิจการต่างๆที่เกี่ยว ข้องอย่างไรก็ตามเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิทธิพิเศษทางการค้านี้ ประเทศต่างๆรวมทั้งไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขด้วยการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากโครงการ GSP ของสหรัฐฯ รัฐบาลไทยจึงควรสร้างมาตรการที่ชัดเจนในการปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนงานทุกคนในประเทศไทย การถอนสิทธิพิเศษทางการค้าผ่านโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ในครั้งนี้รัฐบาลสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติหรือดำเนินอย่างจริงจังเพื่อยุติปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้ส่งเสริมสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมขั้นรุนแรงในหลายภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ถ้าหากรัฐบาลไทยยังไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ดำเนินการแก้ไข ในอนาคตอาจอาจถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้าเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิทางการค้าและคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ซึ่งมีสมาชิกกว่า 300,000 คน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งดำเนินการให้สัตยาบันดังต่อไปนี้โดยด่วน

1.ให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ฉบับ 87 ว่าด้วยเรื่อง เสรีภาพในการสมาคม และให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ฉบับ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม

2.ปฏิรูปพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และกฎหมายอื่นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

3.ออกมาตรการส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์และปกป้องคุ้มครองคนงานจากการถูกนายจ้างตอบโต้เลือกปฏิบัติในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วมอย่างไม่เป็นธรรม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะทบทวนและเร่งดำเนินการเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิทางการค้าและคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากลในลำดับต่อไป จึงแถลงการณ์มาเพื่อทราบทั่วกัน