คสรท.เข้าพบอธิบดี กสร.ให้ทบทวนสถานที่เลือกตั้ง- ขอความชัดเจนการตั้งอนุฯความปลอดภัยฯจังหวัด!

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้าพบอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อเสนอให้ทบทวนการกำหนดสถานที่เลือกตั้ง กก.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน(คปอ.)และกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัยฯ หลังกำหนดให้จัดเลือกตั้งที่ส่วนกลางเพียงแห่งเดียว พร้อมขอความชัดเจนการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯในระดับจังหวัดว่ามีแนวปฎิบัติอย่างไร ด้านรองอธิบดีบอกเป็นประกาศไปแล้วคงแก้ยาก คงต้องดำเนินการต่อไป แต่รับหลักการตั้งคณะทำงานออกแบบหลักเกณฑ์และแนวปฎิบัติในการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯจังหวัด

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 เวลา 10.00 น.นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมคณะ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำแรงงานจากศูนย์พื้นที่ต่างๆของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน ได้ขอพบอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยอธิบดีได้มอบหมายให้ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นายสมชาย วงษ์ทอง และคณะเป็นผู้แทนให้การต้อนรับและร่วมประชุมปรึกษาหารือ ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)เปิดเผยว่า ที่มาในวันนี้มีเรื่องติดตามและขอความชัดเจนจากกระทรวง 2 เรื่อง สืบเนื่องจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน “ได้กำหนดวันเวลาและสถานที่ทำการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2555 ระหว่างเวลา 09.00 – 15.00 น.” ในคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และคณะกรรมการบริหารกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยสถานที่เลือกตั้งฝ่ายลูกจ้าง ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพมหานคร เป็นสถานที่เพียงแห่งเดียวเท่านั้น  ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานที่ได้ติดตามเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด จึงขอคัดค้านประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องสถานที่เลือกตั้งผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554เนื่องจากขัดกับหลักการความเป็นจริงที่ฝ่ายลูกจ้างได้มีการทำงานอยู่ในสถานประกอบการทั่วประเทศ การจัดให้มีสถานที่เลือกตั้งเพียงแห่งเดียว แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อความสะดวกในการจัดการของกระทรวงแรงงาน แต่กลับทำให้เป็นภาระด้านค่าใช้จ่าย และความไม่สะดวกของผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง และนั้นจะทำให้เกิดการเสียสิทธิมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการเลือกตั้งที่มุ่งหวังประสิทธิภาพและประสิทธิผลและอำนวยความสะดวกให้คนงานได้ใช้สิทธิได้ง่ายขึ้น 

นายชาลี ลอยสูง กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องคัดค้านสถานที่ในการเลือกตั้งแล้ว ยังมีเรื่องการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจังหวัด ตามมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯด้วย ซึ่ง คสรท.พบว่า ความเสี่ยงในสถานประกอบการก็ยังไม่ได้ลดลง สุขภาพของลูกจ้างยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการทำงาน เนื่องจากในทางปฏิบัตินั้นพบว่าสถานประกอบการยังขาดการบังคับใช้กฎหมายและการรณรงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งไม่มีการยกระดับและปรับปรุงมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยตามปัจจัยเสี่ยงให้ทันต่อความก้าวหน้าในการผลิตทางภาคอุตสาหกรรม นี้ไม่นับรวมที่มาของคณะอนุกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสัดส่วนฝ่ายผู้แทนลูกจ้าง ที่ยังขาดความร่วมมือการทำงานกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทด้านความปลอดภัยและเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง เหตุนี้จึงเป็นที่มาสำคัญของสถิติอุบัติเหตุในสถานประกอบการที่ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลที่สะท้อนจากเวทีสมัชชา  “10 พฤษภาคม วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2555” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจัดร่วมกับกระทรวงแรงงาน พบว่า การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการทำงานนั้น ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการทำงานของคณะอนุกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับจังหวัด มีการพัฒนากลไกเพื่อให้ตัวแทนของสหภาพแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากการจัดการความไม่ปลอดภัยในการทำงานมีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกจ้างเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเป็นสำคัญ เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่ปลอดภัยในการทำงานโดยตรง ทั้งนี้ควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจากนโยบายระดับกระทรวงแรงงานว่าจะมีแนวทางในการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯในระดับจังหวัดอย่างไร

ด้านนายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า กรมฯยินดีต้อนรับทุกท่านที่ได้เข้ามาให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการกรมฯเพื่อให้การทำงานมีปัญหาและอุปสรรคน้อยที่สุด และยินดีที่จะนำข้อเสนอแนะไปพิจารณาเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป ส่วนเรื่องสถานที่การเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ตาม พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ นี้ ในประกาศได้กำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งไว้ที่ส่วนกลางเพียงแห่งเดียว เพราะเป็นเรื่องของกรรมการชุดใหญ่ รวมทั้งในประกาศก็มีผลบังคับใช้แล้วทำให้ในครั้งนี้คงไม่สามารถที่จะแก้ไขอะไรได้ คงต้องมีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้  ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่สะดวกบ้าง หรืออาจมองว่าเป็นการตัดสิทธิ แต่กรมฯก็พยายามทำตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนในการเลือกตั้งในครั้งต่อไปนั้น ก็คงจะเป็นเรื่องของคณะกรรมการความปลอดภัยฯชุดใหม่เป็นผู้กำหนดอีกครั้ง ส่วนเรื่องของแนวปฎิบัติวิธีสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯจังหวัด นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัยฯชุดใหญ่ที่จะได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 กันยายน นี้ ที่จะกำหนดแนวปฎิบัติในการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯระดับจังหวัดต่อไป

 

นอกจากนี้ คสรท.ยังได้เสนอแนะว่า การที่กระทรวงแรงงานจะทำอะไรก็ควรจะหารือหรือทำงานแบบมีส่วนร่วมของคนงานบ้าง ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องมานั่งแก้ไขปัญหากันอีก ทั้งๆที่ขณะนี้ก็มีปัญหามากมายที่รอการแก้ไขทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ และในส่วนของการออกแนวปฎิบัติในการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยนั้น ก็ควรจะตั้งคณะทำงานเพื่อมาร่วมออกแบบเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก ซึ่งรองอธิบดีก็เห็นด้วยในหลักการที่จะให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อมาร่วมประชุมเพื่อเป็นแนวในการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัยฯจังหวัดให้เหมือนกันทั่วประเทศ และมอบหมายให้สำนักความปลอดภัยฯไปดำเนินการ

หมายเหตุ : พระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 หมวด 3 มาตรา 24 ระบุให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีองค์ประกอบจากผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนภาครัฐ ฝ่ายละ 8 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และมีข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเลขานุการ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 25  ดังนี้

(1) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน หรือมาตรการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(2) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(3) ให้ความเห็นแก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

(4) วินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 12 มาตรา 33 วรรคสาม และมาตรา 40 วรรคสอง

(5) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

จากกรณีดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้นมา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2555

ทั้งนี้ในระดับจังหวัดให้มีการดำเนินการสรรหาคณะอนุกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานจังหวัด โดยแบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางที่ระบุไว้ในมาตรา 29 ตาม พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ที่ระบุว่า คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ 

นักสื่อสารแรงงานพื้นที่สระบุรี รายงาน