คสรท.เรียกสมาชิกร่วมชุมนุมกปปส. ยังไม่ชัดเรื่อง ม.3 ม.7

Untitled-4

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กวักมือเรียกสมาชิก ผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมชุมนุม อ้างรัฐบาลหมดความชอบธรรมเพราะไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม และเบี้ยวให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO. ยังไม่ชัดต้าน หรือเอานายกรัฐมนตรีมาตรา7 และแก้มาตรา 3

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์ เสนอต่อรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน

2. แรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้

3. รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

นางสาวธนพร วิจันทร์ กรรมการอำนวยการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากการประชุมเมื่อวานนี้ของคสรท.เพื่อขอมติเข้าร่วมนั้นได้มีการถกเถียงกัน ในการออกแถลงการณ์ ซึ่งบางส่วนไม่เอาด้วยกับการรัฐประหาร และไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการเอามาตรา 7 และมาตรา 3 เพราะระบบสหภาพแรงงานถือว่า เป็นระบบประชาธิปไตยที่ตัวแทนต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้ออกแถลงการณ์ว่าให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชน

“เมื่อนายกรัฐมนตรีมีการประกาศยุบสภาแล้ว คิดว่าขบวนการแรงงานควรมาคุยกัน เพื่อจัดทำข้อเสนอของขบวนการแรงงาน เป็นการเตรียมตัวรับสถานการณ์การเลือกตั้งที่จะมาถึงซึ่งก็รู้อยู่ว่าไม่ว่านักเมือง หรือรัฐบาลไหนไม่ได้มีนโยบายเพื่อชนชั้นแรงงาน การตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานนั้นมีน้อยมาก แต่การยุบสภาก็คือการคืนอำนาจให้กับประชาชนได้ใช้สิทธิในการตัดสินใจเลือกตั้งอีกครั้ง แต่หากทางผู้ชุมนุมยังมีข้อเสนออื่นๆอีกก็คงว่ากันไป ตนเคารพแนวคิดของทุกคน และไม่มีข้อคิดเห็นใดใดเสนอต่อแนวทางการชุมนุม” ธนพร วิจันทร์ กล่าว

Untitled-3

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า วานนี้ทางกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้มีมติเสียงส่วนใหญ่เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 9 ธ.ค. 56 กับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อการแสดงความคิดเห็นประเด็นปัญหาแรงงาน และไม่เห็นด้วยกับระบบคอรับชั่น จึงได้เชิญชวนสมาชิกออกมาร่วมเดินขบวนครั้งใหญ่ ซึ่งวันนี้มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมทั้งคนงานที่เป็นสหภาพแรงงาน และพนักงานออฟฟิต

“การร่วมขบวนต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก การยุบสภายังไม่พอ เพราะว่ารัฐบาลยังคงรักษาการและกำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไปภายใต้ระบบเดิม ซึ่งในข้อเสนอของกปปส.คือต้องการให้มีการตั้งสภาประชาชนซึ่งต้องประกอบด้วยตัวแทนทุกสาขาอาชีพ และทุกกลุ่มไม่ว่าเหลือง หรือแดงต้องเข้ามาร่วมกันคิดและวางกติกากันใหม่ กรณีการเรียกร้องขอให้มีการสรรหานายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 นั้น ต้องเป็นการคัดสรรของสภาประชาชน จะเป็นเช่นนี้ได้ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เมื่อได้นายกรัฐมนตรีแล้วค่อยเสนอโปรดเกล้าแต่งตั้ง คสรท.เห็นด้วยกับการโค่นล้มระบอบทักษิณ ต้านการโกงกินคอรัปชั่นประเทศ ”นายชาลี ลอยสูง กล่าว

Untitled-8

นายชาลี ลอยสูง ยังกล่าวอีกว่า การออกมาชุมนุมร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อกหักจากนโยบาย และคำสัญญาที่รัฐบาลที่หลอกลวง เช่นเดียวกับคสรท.ที่รัฐบาลโหวตไม่รับร่างประกันสังคมฉบับภาคประชาชน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ98 ซึ่งได้มีการทำข้อตกลงไว้แต่ไม่ทำตาม การมาเข้าร่วมชุมนุมไม่ได้หมายความว่า เอาด้วยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่เป็นเพราะไม่เอารัฐบาลที่โกงกิน ออกกฎหมายหมายเหมาเข่งนิรโทษกรรมคนโกง คนผิด

แถลงการณ์ฉบับที่ 2
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ต่อการชุมนุมของประชาชน ณ ถนนราชดำเนินและสถานที่ต่างๆ

ประเทศไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ภายใต้บรรยากาศความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมือง และความเชื่อที่แตกต่างของประชาชนทุกกลุ่มในสังคม ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เมื่อกลุ่มบุคคลใดที่ไม่เห็นชอบด้วยกับความเห็นและข้อเสนอดังกล่าว ย่อมมีสิทธิจะแสดงออก และสามารถถกเถียงด้วยเหตุผล อย่างสันติ และ อารยะ ต้องเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ซึ่งเป็นแก่นของคุณค่าแห่งประชาธิปไตย
การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี 2498 อีกทั้งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ให้สิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการชุมนุม จึงนับว่าเป็นเสรีภาพที่สำคัญของประชาชน ในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่การสร้างรากฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย

ผลจากการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แก่ผู้ที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 อันเป็นที่มาความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมาก และก่อให้เกิดการชุมนุม ในหลายพื้นที่ เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว นำมาสู่ความรุนแรงทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บ ประชาชนจึงยกระดับการชุมนุม ด้วยเหตุผลรัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ เช่น การที่รัฐสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมเรื่องการรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ของขบวนการแรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้

4. รัฐบาลต้องคืนอำนาจให้กับประชาชน

5. แรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้

6. รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ขอให้พี่น้องแรงงานออกมาร่วมชุมนุมพร้อมกัน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เวลา 09.39 น. เป็นต้นไป ที่หน้ากระทรวงมหาดไทย

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในที่สุด
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
8 ธันวาคม 2556