แจง! พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯใหม่ ก่อนชวนลงชื่อเสนอ

กลุ่มสหภาพสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ เร่งประชุมชี้แจงสาระสำคัญ  พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการ  วันที่  10  มิถุนายน  เวลา  15.30 น. โดยการสนับสนุนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมโครงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อคุ้มครองแรงงานในระบบ  การสัมมนาสร้างความเข้าใจเรื่องการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการแรงงาน  ในพื้นที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ เพื่อทำความเข้าใจในพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการ

กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์  โดยนางสาวดาวเรือง  ชานก   ประธานสหภาพแรงงานแอล ที ยู  แอพพาเรลส์   กล่าวถึง “เหตุผลของการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์(ฉบับที่..)พ.ศ. ….  สาเหตุคือ  พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 ฉบับเก่าไม่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อลูกจ้างเท่าไหร่เนื่องจากมีความล่าสมัย ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ98 ว่าวด้วยการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง และกำหมายฉบับดังกล่าวถูกใช้มาเป็นเวลานาน  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่  เพื่อให้เกิดสอดคล้องประโยชน์ต่อลูกจ้างมากที่สุด 

นายชาลี  ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  กล่าวถึง  พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดิมเริ่มบังคับใช้เมื่อปี  2518   ถ้าเป็นช่วงยุคนั้นยังไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่หลังจากที่ใช้มาได้ระยะหนึ่งแล้วเกิดปัญหาในทางปฏิบัติทางการคุ้มครองด้านสิทธิการก่อตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรองจนถึงในปัจจุบันนี้ มีสหภาพแรงงานประมาณ1,300  แห่ง  มีสมาชิกประมาณ  5  แสนคน รวมรัฐวิสาหกิจ 

ฉะนั้น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับเดิมจึงไม่เอื้อต่อการก่อตั้งสหภาพแรงงานและการยื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง เราจึงควรมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับ  ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังถูกกดดันทั้งภายในและภายนอก คาดว่า อีกไม่นานอาจมีการรับรองอนุสัญญาILOทั้งสองฉบับ  ต่อจากนั้นก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายด้านแรงงานสัมพันธ์  ในส่วนการรวมกลุ่ม จัดตั้งองค์กร ถามว่าวันนี้ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  2518 สอดคล้องหรือไม่  ตอบว่าไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาILO ทั้งสองฉบับ เพราะยังไม่เปิดโอกาสให้มีการคุ้มครองการรวมตัว และเจรจาต่อรอง  การรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  2518 ต้องมีการแจ้งเพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงานต่อเจ้าหน้ารัฐสวัสดิการจังหวัด ภายใต้กระทรวงแรงงาน และมีการตรวจสอบควบคุม

ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือต้องมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับอนุสัญญา 2 ฉบับ  และวันนี้ในระดับของสากลกำลังจะให้ทุกประเทศมีการลงนามรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน หรืองานที่มีคุณค่า (Dacent Work) ปี 2559 อีก 4 ปี ทุกประเทศจะต้องมีการไปลงนาม   และมีแผนรับรองประชาคมอาเซียนในปี 2557-2558 ดังนั้นรัฐบาลเองต้องมีการแก้ไขกฎหมายเช่นกัน แต่ในส่วนของขบวนการแรงงานนั้นมีการร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ใหม่ทั้งฉบับ เพราะต้องการให้สอดคล้องกับอนุสัญญา2 ฉบับ แต่ฉบับของกระทรวงแรงงานยังใช้เนื้อหาเดิมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับเดิมอยู่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมไม่ใช่ร่างกฎหมายใหม่

ส่วนที่ 1 ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับขบวนการแรงงานฉบับนี้ต้องการให้ครอบคลุมกับแรงงานทุกกลุ่ม เช่น แรงงานนอกระบบ  ลูกจ้างภาครัฐ ข้าราชการ  ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ  เพราะคนงานเหมือนกันจะต้องใช้กฎหมายแรงงานฉบับเดียวกัน จึงต้องช่วยกันร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  ฉบับบูรณาการ อีกเหตุผลคือ เนื่องจาก  พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์  2518 ฉบับเก่าใช้อำนาจนิยมและวัฒนธรรมทางการเมือง เป็นระบบอุปถัมภ์ไม่มีความเสมอภาค เช่นใช้คำว่า “นายจ้างกับลูกจ้าง” สองคำนี้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ยังมีลักษณะคล้ายการปกครองแบบนายกับบ่าว ขบวนการแรงงานจึงต้องการแก้ไข ร่างใหม่ปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ทั้งฉบับให้ทันสมัยสอดคล้องกับสังคมปัจจุบันและเกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานมากที่สุด

ส่วนที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องสิทธิพื้นฐานแรงงาน การรวมตัว การเจรจาต่อรอง การคุ้มครอง และการปกป้องอย่างจริงจัง ตรงนี้ก็ยังเหลื่อมล้ำอยู่

ส่วนที่  3  กฎหมายไม่ได้เอื้อให้เราได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจส่วนมากเป็นฝ่ายรัฐบาล  เช่น  ลูกจ้างข้าราชการ  ลูกจ้างโรงพยาบาล  ลูกจ้างขององค์กรอิสระ  ซึ่งมองเห็นว่าไม่ถูกต้อง  ไม่ว่าจะเป็นในระบบ  หรือนอกระบบ  จะต้องให้เสมอภาคกัน  จึงต้องมีการร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำลง  และแรงงานทุกภาคส่วนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายตัวนี้ ตลอดถึงการรวมตัว  การเจรจาต่อรอง  โดยเปลี่ยนคำว่า “นายจ้างลูกจ้าง”มาเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ให้นิยามใหม่ว่า “คนทำงานช่วยกันรักษาช่วยกันพัฒนาให้บริษัทอยู่ได้   ไม่ให้มีนายกับบ่าว       

นางสาว วิไลวรรณ  แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงแนวคิดในการยกร่างพ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์  ว่า จากที่ได้ย้อนกลับไปมองพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ พ.ศ.  2518  มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นระบบการจ้างงานมีความซับซ้อน  บริษัทฯ ขยายงานตามพื้นที่ต่างๆ แม้แต่การจ้างงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง ให้รับงานไปทำที่บ้าน คนงานเหล่านั้นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ใดๆ เพราะถูกจำกัดสิทธิ์ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่คุ้มครอง เช่น สิทธิรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคมเจ็บป่วยจากการทำงาน  ค่าคลอดบุตร  และสวัสดิการอื่นๆ ที่ควรได้รับเหมือนกับคนงานในบริษัทฯที่ตนรับงานไปทำ 

ข้อดีของพ.ร.บ.ใหม่มีมากมาย เช่น  การเจรจาต่อรองกับนายจ้าง  คนงานตั้งแต่ 10 คน  ขึ้นไปสามารถขอจดทะเบียนการก่อตั้งสหภาพได้  โดยมีกรรมการ  3  คนต่อคนงาน  10  คน   รวมถึงอนุสัญญา  ILO ฉบับที่   87 – 98  เมื่อสหภาพฯยื่นหนังสือเจรจาต่อรองถูกบริษัทฯแทรกแซงโดยไม่ให้ผู้เจรจาเข้าทำงานตามปกติ  โดยรับคนนอกเข้าทำงานแทน หรือปิดกิจการ ขณะเจรจาต่อรอง  สร้างความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง พ.ร.บ. นี้ก็จะคุ้มครองผู้ก่อการ  ผู้ก่อตั้งสหภาพฯ รวมถึงในขณะที่สหภาพฯยื่นหนังสือเจรจานั้นบริษัทฯไม่สามารถปิดกิจการหรือสั่งผู้เจรจาต่อรองหยุดงานโดยยังไม่สอบสวนว่าผิดถูก  ผู้ทำการยื่นหนังสือเจรจาต่อรองนั้นสามารถเข้างานได้พร้อมๆการเจรจาต่อรอง และห้ามรับคนนอกเข้ามาทำงานแทนกัน 

การยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความสอดคล้องในการทำงานทำให้คนงานเกิดความมั่นคงในการทำงานและกล้าที่จะสร้างองค์กรในสถานประกอบการ  ในการปกป้องสิทธิ์ของตนมากเพิ่มขึ้น  หากการล่าลายมือชื่อเพื่อนำเสนอต่อกฎหมายได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนและพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์  ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย  การคุ้มครองแรงงานให้มีความเสมอภาคไม่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบัน มักมีผู้ประกอบการหลายรายที่หลีกเลี่ยงการรักษาพยาบาล  แม้กระทั่งการจ่ายค่าแรงก็มักจะไม่จ่ายตามความเป็นจริงทำให้มีแรงงานนอกระบบอีกมากที่เดือดร้อนจึงเป็นที่มาของการร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับบูรณาการ เพื่อประโยชน์ของแรงงาน

ปัญหาต่อการตั้งองค์กรสหภาพฯ/การยื่นข้อเรียกร้องฯ/ แรงงานสัมพันธ์

นางสาวนิภา  มองเพชร  ประธานสหภาพแรงงานบริติชไทยซิน เทติคเท็กส์ไทล์  ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า   ก่อนหน้าที่จะจัดตั้งสหภาพฯมีปัญหาเรื่องนายจ้างลดสวัสดิการ    คนงานจึงรวมตัวก่อตั้งสหภาพฯ  ซึ่งช่วงแรกนายจ้างไม่พอใจ  สหภาพฯเข้าเจรจาครั้งแรกเรื่องที่ทางบริษัทฯลดสวัสดิการปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  2540 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะปัญหา มาตรา 75 การเจรจาครั้งนั้นทำให้นายจ้างไม่พอใจคณะกรรมการสหภาพฯในขณะนั้นจึงไปขออำนาจศาลเลิกจ้างเลขานุการสหภาพฯในสมัยนั้น กระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2546 สหภาพฯพยายามใช้แรงงานสัมพันธ์กับทางนายจ้างดูเหมือนนายจ้างจะให้ความใส่ใจแต่ก็ไม่เคยปฏิบัติตามปัญหาจึงเกิดการสะสมเป็นเวลา 10 ปี

ในการยื่นข้อเรียกร้องนั้น  3 ปี ยื่นข้อเรียกร้องหนึ่งครั้ง  ก่อนทำการยื่นต้องเรียกสมาชิกฯประชุมหารือแนวทางต่างๆร่วมกันว่าอะไรเอาหรือไม่  เรื่องเงินๆทองๆเช่นเรื่องเบี้ยขยัน ซึ่งสวัสดิการเดิมได้  วิค/งวดละ  1  แรง  ในการเจรจาข้อเรียกร้องบางครั้งคนงานต้องการเพียงให้รักษาสวัสดิการเดิมไว้ไม่ให้เสียไปก็พอ   ด้านแรงงานสัมพันธ์ช่วงแรกไม่ดีนักฝ่ายนายจ้างเปลี่ยนผู้จัดการฝ่ายต่างๆตลอดเวลา เช่นจ้างอดีตแรงงานจังหวัดซึ่งเป็นนักกฎหมายมาบริหาร  เพื่อกดดันทางสหภาพฯ   ถ้าเป็นผู้หญิงก็มีท่าทีแข็งกร้าวเสนอคำแนะต่อสหภาพฯเช่นสวัสดิการที่เกี่ยวกับเงินจะไม่ประสบผลสำเร็จเป็นต้น   เป็นเหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างเดิน  ถ้าเป็นสวัสดิการด้านอื่นๆฝ่ายนายจ้างจะไม่ค่อยขัดขวาง  ช่วงหลังทางสหภาพฯใช้วิธีรวมพลังคนงานกดดันทางฝ่ายนายจ้างจึงมีท่าทีที่อ่อนลงมาบ้าง

 นางแสงดาว   ลุนสอน ประธานสหภาพแรงงานที ยู ดับบลิวเท็กส์ไทล์  กล่าวว่าพึ่งเข้ามารับตำแหน่งประธานใหม่เมื่อ พ.ศ. 2554     กล่าวถึงปัญหา ที่บริษัทฯนั้นนายจ้างไม่ใช้แรงงานสัมพันธ์กับสหภาพฯ  เมื่อมีปัญหาต่างๆ นายจ้างเรียกคณะกรรมการลูกจ้างประชุมสรุปสุดท้ายนายจ้างตัดสวัสดิการลูกจ้างทุกครั้ง เช่นเมื่อ  พ.ศ. 2552  นายจ้างก็ตัดสวัสดิการลากิจฉุกเฉิน  3 วัน  ผ่านมา  2  ปีแล้วจึงไม่สามารถทำหนังสือยื่นคัดค้านเรื่องนี้ไว้ได้  ทั้งที่กรรมการลูกจ้างเองไม่มีอำอาจในการตัดสินในการลดสวัสดิการใดๆ  สาเหตุที่ปล่อยเวลาล่วงเลยมานานจนทำให้สวัสดิการหลุดไปเพราะ ในอดีตที่ผ่านมานายจ้างเข้าไปแทรกแซงสหภาพฯโดยการเสนอตำแหน่งงานให้  เช่นแผนกทรัพยากรบุคคลให้เป็นต้น       กรรมการคนไหนที่มีความเข้มแข็งนายจ้างก็เลิกจ้างทำให้ไม่มีใครกล้าเข้าไปเป็นกรรมการบริหารสหภาพฯ เพราะเกรงจะถูกเลิกจ้างตกงาน ทำให้สมาชิกขาดกำลังใจสหภาพฯจึงอ่อนแอ  ตนมีโอกาสได้เข้ามาบิหารงานจะออกไปศึกษาเรียนรู้งานต่างๆกับกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่และองค์กรภายนอกเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปแก้ไขปัญหาในองค์กรและเรียกสวัสดิการต่างๆกลับคืนให้สมาชิก

นักสื่อสารแรงงาน  กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  รายงาน