คสรท.รุกเคลื่อนกฏหมาย 3 ฉบับ ดันประกันสังคมผ่านสภาฯ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและกลุ่มภาคีเครือข่ายแรงงานร่วมวางแผนการขับเคลื่อน 3 ด้านทั้งงานพื้นที่ งานขับเคลื่อนนโยบาย และงานสื่อสาร  หวังพ.ร.บ.3 ฉบับเกิดความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิและการเข้าถึงสวัสดิการที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน  เน้นให้ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ 14,264 ชื่อของแรงงานผ่านสภาสมัยประชุมนี้

วันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมรีสอร์ทพฤกษาประดับ อ.หมวกเหล็ก จ.สระบุรี คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งขณะนี้เข้าอยู่ใน วาระเร่งด่วนสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐบาลยังไม่นำร่างของรัฐบาลมาประกบ จึงจำเป็นต้องช่วยกันผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อของผู้ใช้แรงงานให้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ที่จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน
ส่วน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมายโดยคณะนักกฎหมายและนักวิชาการแรงงาน โดยหลักการใหญ่ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
สำหรับ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2554 แต่ยังมีข้อขัดแย้ง2 เรื่องใหญ่คือ ในประเด็น ความเป็นอิสระขององค์กร ซึ่งฝ่ายรัฐนิยามว่าต้องอยู่ภายใต้กำกับของราชการ แต่ฝ่ายแรงงานเห็นว่าจะต้องมีความเป็นอิสระมากที่สุด แม้จะอยู่ภายใต้กำกับของทางราชการก็ตาม ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องการให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งภาครัฐมองว่าซ้ำซ้อนกับกรมสวัสดิการฯ แต่ฝ่ายแรงงานมองว่าเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้พี่น้องคนงานเข้าถึงสิทธิอย่างแท้จริง
ในการสัมมนา ได้มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อกำหนดแผนในการทำงาน คือ
1. กลุ่มพื้นที่ ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกับคนงานในเรื่อง พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานในการขับเคลื่อนผลักดันและบังคับใช้กฎหมาย
2.กลุ่มนโยบาย ต้องติดตามสถานการณ์ของกฎหมาย และวางแผนในการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย
3.กลุ่มงานสื่อสาร ต้องประชาสัมพันธ์ รณรงค์ โดยใช้สื่อรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อของแรงงาน เช่น เว็บไซต์และหนังสือพิมพ์ วอยซ์เลเบอร์ จดหมายข่าวในพื้นที่ แผ่นพับ และ ช่องทางของเครือข่ายสื่อมวลชน โดยเน้นประกันสังคมเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้ความรู้กับผู้ประกันตนและคนงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความรู้สึกความเป็นจ้าของและสร้างกระแสต่อสาธารณชนให้สังคมได้รับรู้ถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้เกิดแนวร่วมในการเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐสภาพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย รวมทั้งการรณรงค์ให้ลงรายมือชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ในโอกาสต่อไป

ดาวเรือง ชานก นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย-อ้อมน้อย รายงาน