นับตั้งแต่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ก่อตั้งที่ได้เข้าร่วมการเป็นสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-International Labour Organization) และได้มีการตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในกรุงเทพฯ สหภาพแรงงานไทยและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้พยายามรณรงค์ในการส่งเสริมการให้สัตยาบัน และปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เช่น มีการยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีในวันแรงงานเรียกร้องให้รับรองสัตยาบันในอนุสัญญาทั้งสองฉบับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรแรงงานระหว่างประเทศโดยตรงเพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ได้มีการรวมตัวจัดตั้งเป็น “คณะทำงานเพื่อสนับสนุนอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87และ98 (Working group to promote ratification)” โดยมีนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเป็นประธานคณะทำงาน เมื่อเดือนมิถุนายน 2552
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2552 คณะทำงานได้มีการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการในการรณรงค์ โดยมีผู้นำแรงงานจาก 30 องค์กรเข้าร่วม แผนการทำงานประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักดังนี้ (1) สร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อกลุ่มแรงงานและประชาชนทั่วไปในความจำเป็นของอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 (2) จัดให้มีเวทีเพื่อการเรียนรู้ในเขตอุตสาหกรรม 7 แห่ง (3) การเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลให้สัตยาบันตามอนุสัญญา
ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2552 และ ปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่าสากล คณะทำงานและองค์กรเครือข่ายแรงงานได้มีการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 อีกทั้งยังมีการจัดเวทีร่วมกับกระทรวงแรงงานเพื่ออภิปรายถึงอุปสรรคและโอกาสของการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 จนในที่สุดนำไปสู่การแต่งตั้งคณะทำงานไตรภาคีที่มาจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยและฝ่ายรัฐบาล เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้สัตยาบันอนุสัญญาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจระดับประเทศและความมั่นคง โดยกลุ่มคณะทำงานดังกล่าวได้มีการประชุมหลายครั้งมาตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2552, 18 มกราคม 2553, 23 กันยายน 2553, ปลายเดือนธันวาคม 2553 และ 8 พฤษภาคม 2555
ผลจากความพยายามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2553 กลุ่มคณะทำงานทั้ง 3 ฝ่ายได้มีมติเห็นชอบในการให้สัตยาบันอนุสัญญาและเสนอคณะรัฐมนตรีให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมและให้สัตยาบัน จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อไปยังรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาลงความเห็นชอบต่อไป
แต่เนื่องมาจากความไม่สงบทางการเมือง อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในกรุงเทพฯและอีกหลายแห่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พ.ศ.2553 กิจกรรมทั้งหมดของกลุ่มแรงงานที่ดำเนินการในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ในช่วงเวลานั้นจึงหยุดชะงักไปชั่วคราว
ต่อมาจึงมีการขับเคลื่อนอีกครั้งในเดือนกันยายน 2553 มีการจัดงานแถลงข่าวและอภิปรายในหัวข้อ “หนึ่งปีกับการสนับสนุนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 : ความคืบหน้าและความท้าทาย” โดยความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์กร FES (Friedrich -Ebert-Stiftung) และองค์กร ACSIL (American Center for International Labor Solidarity) ที่โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ มีนักสหภาพแรงงานเข้าร่วมประมาณ 100 คน การประชุมนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการตื่นตัวให้เห็นความสำคัญในการให้สัตยาบันอนุสัญญา รวมถึงฟื้นฟูกิจกรรมของกลุ่มแรงงานที่มักมีปัญหาและอุปสรรคเนื่องมาจากความไม่สงบทางการเมือง
จนในที่สุดวันที่ 14 ธันวาคม 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง
15 กุมภาพันธ์ 2554 มีการหารือระหว่างคณะทำงานและสหภาพแรงงานกว่า 35 แห่ง เพื่อระดมความคิดเห็นและแสวงหาแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อให้รัฐสภารับรองอนุสัญญาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการประชุมต่างก็ให้คำรับรองคำมั่นสัญญาที่จะสนับสนุนการยอมรับและการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป
3 พฤษภาคม 2554 คณะรัฐมนตรีขอถอนการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 2 ฉบับ ฉบับที่ 87 เนื่องจากพบว่าอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และจะมีการออกกฎหมายลำดับรอง จึงขอถอนหนังสือสัญญาทั้งหมดออกไปก่อน เพื่อรอดำเนินการจัดทำกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จก่อน มาตรา 190 ระบุว่า “…ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย…” นั่นคือ หากเข้าข่ายมาตรา 190 ต้องให้คณะรัฐมนตรีเสนอรัฐสภาเพื่อทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจึงนำกลับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง แต่หากไม่เข้าข่ายมาตรา 190 สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ทั้งนี้หากได้รับความเห็นชอบแล้ว สามารถส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งจดทะเบียนให้สัตยาบันได้ทันที โดยอนุสัญญามีผลใช้บังคับหลังจากการให้สัตยาบันแล้ว 12 เดือน
11 พฤษภาคม 2554 เกิดเหตุการณ์ยุบสภา มีการเปลี่ยนรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
อุปสรรคสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในช่วงปลายปี พ.ศ.2554 ทำให้กระบวนการการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวหยุดชะงักอีกครั้ง ความวิตกกังวลและความสนใจมุ่งไปที่การแก้ปัญหาในเรื่องผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศจากเหตุการณ์น้ำท่วม ในขณะที่รัฐบาลก็มีแผนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการถอนการเสนอให้พิจารณาเรื่องของการให้สัตยาบันอนุสัญญาออกจากรัฐสภาตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ.2554
นอกจากนั้นแล้วผลจากการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้การประสานของ “คณะทำงาน” ทำให้กระทรวงแรงงานออกคำสั่งที่ 324/2552 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2552 แต่งตั้ง “คณะทำงานประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98” โดยมีผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ 46 คน เข้าร่วม ประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล 12 คน ฝ่ายนายจ้าง 16 คน ฝ่ายลูกจ้าง 15 คน และนักวิชาการแรงงาน จำนวน 3 คน ทั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
รวมทั้งยังสามารถสร้างให้เกิดความตระหนักของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับความสำคัญของอนุสัญญาต่อสิทธิของตน ผลจากการที่เครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ร่วมมือกันรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของอนุสัญญามากขึ้น และเข้าร่วมการรณรงค์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 และ 2553 ซึ่งเป็นการชุมนุมที่แสดงถึงพลังความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและมีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามภายหลังจากการเข้ามาทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ท่าทีต่อการผลักดันอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ยังไม่มีความชัดเจน แม้ว่าที่ประชุมร่วมของรัฐสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 จะระบุชัดเจนว่า อนุสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ระบุไว้ว่า “…ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย…” นั่นคือ หากเข้าข่ายมาตรา 190 ต้องให้คณะรัฐมนตรีเสนอรัฐสภาเพื่อทำประชาพิจารณ์ จากนั้นจึงนำกลับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
ในกรณีนี้มีการตีความว่าไม่เข้าข่าย ดังนั้นสามารถเสนอนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้ทันที ทั้งนี้หากได้รับความเห็นชอบแล้ว สามารถส่งต่อให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งจดทะเบียนให้สัตยาบันได้ทันที โดยอนุสัญญามีผลใช้บังคับหลังจากการให้สัตยาบันแล้ว 12 เดือน แต่ก็พบว่ารัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ
แต่พบว่าในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 พบว่าสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้จัดจ้างมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ดำเนินโครงการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ (1) เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ภาคีที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้เรื่อง การให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98 ของประเทศไทย (2) เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของแรงงาน หากประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98 (3) เพื่อให้ภาคีที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูล แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ของประเทศไทย (4) เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ กลุ่มเป้าหมาย คือ ภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวม 400 คน ทั้งนี้ได้กำหนดการจัดเวที 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 19 มิถุนายน 2555 ศิรินาถ การ์เด้นท์ จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 วันที่ 22 มิถุนายน 2555 โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 3 วันที่ 28 มิถุนายน 2555 โรงแรมชลจันทร์ จ.ชลบุรี ครั้งที่ 4 วันที่ 5 กรกฎาคม 2555 โรงแรมสยามธานี จ.สุราษฎร์ธานีครั้งที่ 5 วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรุงเทพมหานคร
นอกจากนั้นแล้วการเคลื่อนไหวรณรงค์สำคัญในปี 2555 คือ เมื่อวันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรม
อามารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ กรุงเทพฯ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้มีการจัดประชุมเพื่อผลักดันรัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร และเจรจาต่อรอง เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน โดยเป็นการประชุมที่เน้นไปที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาการการขับเคลื่อนของคณะทำงาน สหภาพแรงงาน รวมถึงในส่วนของกระทรวงแรงงานเอง ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการขับเคลื่อนผลักดันต่ออย่างเข้มข้น เพื่อให้กระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น ผ่านแนวทางการทำงานรูปแบบต่างๆ
จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อให้การขับเคลื่อนผลักดันสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทของสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่หรือระดับกลุ่มย่านอุตสาหกรรม ต่อการขับเคลื่อนและรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98
ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงได้ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ จัดทำโครงการเวทีสัมมนาสาธารณะระดับภาค รวม 3 ภาค คือ ภาคตะวันออก, ภาคกลาง , กรุงเทพและปริมณฑล เรื่อง “การขับเคลื่อนและรณรงค์ของสหภาพแรงงานในระดับพื้นที่ ต่อการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98” ขึ้นมา ในระหว่างเดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2556 โดยการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแรงงานในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมถึงในเรื่องการรณรงค์และมีกิจกรรมเกี่ยวกับการให้สัตยาบันอนุสัญญาในระดับจังหวัด เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรณรงค์และนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ต่อไปในอนาคต
โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์