คสรท.ยื่นILO.ทบทวนเกณฑ์คัดตัวแทนเข้าประชุมเจนีวา หลังผู้แทนทั้งชุดโหวตไม่รับอนุสัญญาเลิกใช้แรงงานบังคับ

Untitled-5

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้เข้ายื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เรื่อง ขอให้ทบทวนแนวทางการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในการเข้าประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)กล่าวว่า กรณีที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ลงคะแนนเสียงคัดค้านการรับรองพิธีสารของอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับฉบับที่ 29 (ILO Convention on Forced Labour No. 29) ทั้งผู้แทนภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 ในการประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 103 และต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 ได้มีการแถลงแก้ไขยืนยันว่า “ประเทศไทยสนับสนุนการขจัดปัญหาแรงงานบังคับ แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายภายในทำให้ไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีของพิธีสารฯ ได้หรือไม่ ไทยจึงลงคะแนนสนับสนุนร่างข้อแนะนำ (Recommendation) ซึ่งนำไปปรับใช้ได้ทันที แต่ไม่ได้สนับสนุนร่างพิธีสารฯ”

Untitled-4Untitled-3

คสรท.จึงขอแสดงความผิดหวังอย่างยิ่งต่อท่าทีดังกล่าวจากผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ต่อบทบาทที่เพิกเฉยของประเทศไทยต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงาน และทำให้มองได้ว่าประเทศไทยเพิกเฉยต่อการใช้แรงงานบังคับ แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติทั้งที่เข้ามาทำงานโดยถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย และนี้เองจะกลายเป็นสาเหตุในอนาคตที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือการตอบสนองในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ของประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้เมื่อมาพิจารณาที่แนวทางการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในการเข้าประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่กระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นหน่วยงานคัดเลือกผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง โดยใช้หลักการที่เรียกว่า “องค์กรผู้แทนข้างมากที่สุดของนายจ้างและของลูกจ้าง (most representative organizations of employers and workers)” โดยพิจารณาจากจำนวนสมาชิกของสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้างที่มากที่สุดเป็นสำคัญ

Untitled-1

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้พิจารณาร่วมกันและเห็นว่า

1. กระบวนการคัดเลือกที่เจาะจงเฉพาะการรวมตัวขององค์กรแรงงานเป็นสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐวิสาหกิจนั้น เป็นภาพสะท้อนสำคัญเรื่องการไม่ยอมรับการรวมตัวขององค์กรแรงงานรูปแบบอื่นๆที่มีการทำงานคุ้มครองปกป้องสิทธิแรงงาน ทั้งกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ และทำให้แรงงานกลุ่มต่างๆเหล่านี้เสียสิทธิในการเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งการเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสามารถแสดงความคิดเห็นและออกเสียงลงมติในการพิจารณาต่าง ๆ อันเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตน ถือได้ว่านี้เป็นความเสียหายและได้รับความเดือดร้อนจากกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว

2. อ้างอิงจากบทบัญญัติมาตรา 3 (5) แห่งธรรมนูญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ องค์การแรงงานระหว่างประเทศมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศสมาชิกดำเนินการคัดเลือกผู้แทนไตรภาคีที่ไม่ได้มาจากฝ่ายรัฐบาล ทั้งนี้หลักเกณฑ์และการปฏิบัติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศในการพิจารณาว่าองค์การฝ่ายลูกจ้างใดมีสภาพความเป็นผู้แทนที่มากที่สุด พบว่า มีดุลพินิจที่ยืดหยุ่นสามารถเลือกใช้หลักเกณฑ์ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมได้ กล่าวได้ว่า การดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายลูกจ้างไปเข้าร่วมประชุมใหญ่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงไม่ใช่กิจการแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เป็นการดำเนินการตามกรอบแห่งธรรมนูญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การดำเนินการดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร กระทรวงแรงงาน ในการกำหนดนโยบายและวิธีการในการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายข้างมากด้วยดุลพินิจของตนเอง ซึ่งมีสภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

3. เมื่อกระทรวงแรงงาน ประเทศไทยเลือกใช้วิธีคัดเลือกโดยพิจารณาจากสภาองค์การลูกจ้างที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เท่านั้น แม้เป็นวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาก็พบปัญหาในเรื่องการบล็อกโหวตและทำให้ผู้นำแรงงานบางคนเข้ามาเป็นกรรมการในลักษณะผูกขาดทุกสมัยและอาจจะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยที่ไม่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ดังนั้นจากสภาพปัญหาที่กล่าวมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงขอให้มีการทบทวนแนวทางการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างในการเข้าประชุมใหญ่ประจำปีขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมของแรงงานทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ และขอให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการดังกล่าวที่ทำให้ประเทศไทยและขบวนการแรงงานในประเทศไทยเสื่อมเสีย ได้ชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวนั้นร่วมด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน