คสรท.ยื่นข้อเรียกร้องร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. …. ฉบับล่าลายมือชื่อ เน้นปฏิรูปโครงสร้างประกันสังคม ให้มีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม
นายชาลี ลอยสูง ประธานฯ กล่าวว่า การประกันสังคม เป็นการให้หลักประกันทางสังคมในระยะยาวที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ โดยให้ประชาชนผู้มีรายได้ออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนนี้จะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ส่งเงินสมทบ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน ชราภาพ เป็นต้น โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้องหรือเท่าทันต่อสถานการณ์แรงงาน กล่าวคือ
1) กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในภาคเกษตร หาบเร่แผงลอย และลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงานภาครัฐและองค์การอิสระต่างๆ
2) สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
3) การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน
4) การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ประเด็นสำคัญในการปฏิรูปประกันสังคมในปัจจุบัน ได้แก่ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการระบบประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ มีกลไก และกระบวนการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส การขยายการคุ้มครองสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน การประกันสังคมถ้วนหน้าเพื่อคนทำงานทุกคน และการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานอันประกอบไปด้วยสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ สภาแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน มีจำนวนสมาชิกประมาณ 283,000 คน[1] จึงได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิการเสนอกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 163 บัญญัติให้สิทธิรับรองไว้ ที่มีเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งภาคประชาชนต้องใช้ความพยายามความอดทนและงบประมาณจำนวนมาก ในการดำเนินการรวบรวมรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายให้มากกว่าจำนวน 10,000 คน เพื่อที่จะใช้สิทธิในการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นแนวนโยบายในการปฏิรูประบบประกันสังคม ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงขอให้ท่านนายกและคณะรัฐมนตรีในรัฐสภาโปรดพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ที่เสนอโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัตินี้ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานฯ กล่าว่า ในฐานะผู้แทนการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีความประสงค์ขอความอนุเคราะห์ให้ท่านและคณะรัฐมนตรีร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีเหตุผลสำคัญดังนี้
1. ร่างพระราชบัญญัตินี้เสนอโดยประชาชนที่ต้องใช้ความพยายามความอดทนและงบประมาณจำนวนมาก ในการดำเนินการรวบรวมรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย
2. ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือ
2.1 กำหนดให้สำนักงานประกันสังคม มีฐานะนิติบุคคลสังกัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ อยู่ในกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลบริหารจัดการอย่างกว้างขวางชัดเจนและให้กิจการของสำนักงานอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายเงินทดแทนและกฎหมายประกันสังคม ค่าตอบแทนและสวัสดิการประโยชน์เกื้อกูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสำนักงานนี้ จะไม่น้อยกว่าอัตราที่เคยได้รับเดิม
2.2 กำหนดให้เลขาธิการสำนักงานเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมกับการบริหารจัดการงานประกันสังคม โดยมาจากกระบวนการสรรหา มีคุณสมบัติและวาระการทำงานตามที่กำหนด มีอำนาจหน้าที่ในการทำงานชัดเจนตามระเบียบที่คณะกรรมการประกันสังคมกำหนด รวมทั้งสิทธิครอบครองและการเป็นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของสำนักงาน
2.3 กำหนดให้มีคณะกรรมการการลงทุนชัดเจนโดยมีองค์ประกอบ คุณสมบัติ กระบวนการได้มาและวาระดำรงตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบอย่างมีประสิทธิภาพ
2.4 กำหนดให้ผู้ประกันตน นายจ้าง หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิรับรู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันสังคมและการส่งเงินสมทบ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารของคณะกรรมการชุดต่างๆ
2.5 แก้ไขหลักเกณฑ์ผู้ประกันตนมีสิทธิรับบริการทางการแพทย์ทุกกรณีในสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่มีข้อตกลงกับสำนักงานประกันสังคม โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกับสถานพยาบาล และเพิ่มเติมประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายให้รวมถึงค่าใช้จ่ายส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตน ซึ่งหากร่างพระราชบัญญัตินี้ได้บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว จะส่งผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นอย่างมาก และหากทางรัฐบาลมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมประการใด ทางคสรท.ยินดีในการไปพบเพื่อชี้แจงและนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้แทนในการรับหนังสือกล่าวว่า จะนำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับขบวนการภาคประชาชนที่ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยฉบับนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อการพิจารณา ในส่วนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ฉบับที่วุฒิสภานั้น ก็คงต้องดูว่าเมื่อส่งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้วจะมีการนำมาพิจารณาหรือไม่
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย รายงานว่า ได้เดินทางไปร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่ายภาคประชาชน 145 องค์กร เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ที่รัฐสภา ยื่นข้อเสนอให้กับทางรัฐบาล ปู 1 ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี และนายพร้อมพงศ์นพฤทธิ์ และนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยมารับข้อเรียกร้อง ซึ่งในฐานะผู้นำแรงงานได้นำเสนอประเด็นหลักคือ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และปรับค่าจ้างปริญญาตรี 15,000 บาท และร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. …. ฉบับขบวนการภาคประชาชน ที่มีการล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมาย 14,000 บาท ทางนายแพทย์ชลน่าน ในฐานะตัวแทนที่รับหนังสือถามถึงความชัดเจนของข้อเสนอร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่อยู่ในกรรมาธิการวุฒิสภาด้วย แต่หากทางแรงงานเสนอร่างฉบับขบวนการภาคประชาชน ก็รับปากในการทำตามข้อเสนอ ส่วนนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนอเรื่องปรับค่าจ้างอย่างแน่นอน แต่ในส่วนของประชาชน เครือข่ายปัญหาต่างๆ ที่มีความเดือดร้อน มีคดีความติดคุก เกิดการฟ้องร้อง และอีกหลายกรณี ดูเหมือนว่าทางรัฐบาลไม่ค่อยสนใจ ตอบแบบการเมือง
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน
[1] ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก 26,000 คน สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย(TEAM) 45,000 คน, กลุ่มสหภาพแรงงานสระบุรีและใกล้เคียง 15,000 คน, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ 5,000 คน, สหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินฯ 20,000 คน, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 170,000 คน ,สหพันธ์แรงงานโรงแรมและการบริการฯ 2,000 คน