คสรท.ยื่นค้านร่าบพ.ร.บ.การชุมนุม

20140522_175750

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คัดค้านร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งหนังสือตรงถึงประธานสนช. ย้ำพ.ร.บ.มีลักษณะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน และประชาชน พร้อมเข้าชี้แจงข้อมูลหากต้องการ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.)การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึง ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

87-98Untitled-6

นายชาลี ลอยสูง ประธานคสรท.กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันพุธที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2557 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้จัดเสวนาเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของแรงงานกับส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม” ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. กฎหมายฉบับนี้ได้ขัดกับหลักการการชุมนุมของกลุ่มแรงงานอย่างมากแทบทุกมาตรา ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถชุมนุมในสถานที่ราชการหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น สถานทูตได้อีกต่อไปแล้ว หรือผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนี้จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจน , การออกประกาศเป็นไปตามที่ผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้เห็นสมควรและใช้ดุลยพินิจ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก , เมื่อมาพิจารณาที่มาตรา 7, 8 ,11 ,12 ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการชุมนุม ก็ยังมีช่องว่างค่อนข้างกว้าง สามารถตีความได้หลากหลาย จึงขึ้นอยู่กับว่าเป็นมุมมองของใคร ที่สำคัญบทกำหนดโทษค่อนข้างหนัก จึงจำกัดคนที่มาชุมนุมอย่างมาก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการชุมนุมสามารถกระทำได้วิธีการเดียว คือ การเดินเท้าเท่านั้น

2. ที่ประชุมเห็นว่ามีโอกาสที่จะยับยั้งไม่ให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกประกาศใช้ น่าจะเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงมีข้อเสนอว่าในมาตรา 3 วงเล็บ 5 ให้เติมคำว่า “แรงงาน” เข้าไป ก็จะถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นจากร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว

3. การนัดหยุดงานเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของคนงานกับนายจ้าง แต่ยังไม่สามารถต่อรองเชิงนโยบายได้ ดังนั้นการชุมนุมของแรงงานในที่สาธารณะจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

P3080065t

ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงยื่นหนังสือ เพื่อคัดค้าน ร่าง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ… ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะนำเสนอเข้าบรรจุในร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ผู้ใช้แรงงาน เสรีภาพในการชุมนุม โดยเห็นว่า“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยรัฐต้องอำนวยความสะดวกและจะต้องได้รับการความคุ้มครองจากรัฐ” รวมถึงเสรีภาพในการรวมตัวกัน โยเห็นว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สมาพันธ์ สภา สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และต้องไม่ถูกคุกคามทุกรูปแบบ”

ทั้งนี้หากท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ทางคสรท.มีความยินดีในการไปพบเพื่อชี้แจงและนำเสนอ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน