คสรท.ยื่นคลัง เร่งเยียวยาให้แรงงานทุกคนถ้วนหน้า

วันที่ 21  มกราคม 2564 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ยื่นหนังสือ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เรื่อง  ขอเข้าพบกรณีขอให้เร่งช่วยเยียวยาลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของ รัฐบาลเป็นกรณีเร่งด่วน 2 ข้อ โดย มีเนื้อหา ดังนี้

จากสถานการณ์วิกฤตการระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) ที่ได้กลับมาแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ตั้งแต่ กลางเดือน ธันวาคม 2563 อันเกิดจากการปล่อยปละละเลยของการตรวจคัดกรองและการเดินทางเข้าประเทศที่ผิดกฎหมายและได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น บ่อนการพนัน สถานบันเทิง ตลาด ห้างสรรพสินค้าการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วเกือบทั่วประเทศสถิติเพิ่มขึ้นทุกวัน รัฐบาลไทยได้มีการควบคุ้มและป้องกัน ประกาศใช้มาตรการอย่างแรง ใน 5 จังหวัดที่มีการแพร่เชื้อ อย่างต่อเนื่อง เช่น สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด โดยการห้ามประชาชนออกพื้นที่ ไปจนถึงสิ้นเดือน มกราคม 2564 ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุ่นแรง รวมทั้งพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับผลกระทบจากบริษัทมีปัญหาเกี่ยวกับการผลิต และการสั่งซื้อสินค้าที่ลดน้อยลงหรือมีการชะลอการสั่งชื้อ ร้านค้าบริการ  การท่องเที่ยวหยุดการบริการ เนื่องจากลูกค้าขอยกเลิก สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ เกิดผลกระทบมาถึงลูกจ้าง และนายจ้างลดเวลาการทำงานให้เหลือน้อยลง รายได้ที่เคยได้รับ ทั้งการทำงานล่วงเวลา ก็ต้องขาดหายไป ถึงแม้ว่าจะไม่ถูกเลิกจ้าง แต่รายได้ลดหายไปเป็นจำนวนมาก ในทางกลับกัน รายจ่ายหรือหนี้สินก็ยังต้องจ่ายเหมือนเดิม การใช้จ่ายชีวิตประจำวันก็เพิ่มขึ้น ด้วยปัญหาและสาเหตุต่างๆเหล่านี้จึงทำให้แรงงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ถึงแม้ว่ายังมีงานทำอยู่

ในขณะที่รัฐบาลได้จัดทำมาตรการเยียวยาให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเยียวยาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 มีเงื่อนไขให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า(โควิด-19) ยกเว้นพี่น้องที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และพี่น้องพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้รับการเยียวยาในมาตรการครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาชนทั้ง 2 กลุ่มนี้ยังมีงานทำมีรายได้จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด ด้วยสาเหตุนี้ประชาชนที่อยู่ในมาตรา33 และพนักงานรัฐวิสาหกิจมีความรู้สึกไม่ดีต่อรัฐบาล เพราะเขาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐตั้งแต่มีการช่วยเหลือตั้งแต่รอบแรก 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อมาครั้งนี้การแพร่ระบาดครั้งที่ 2 รุนแรงกว่าครั้งแรกแต่ไม่ได้รับการเยียวยาเช่นเดิม ทั้งที่ความเป็นจริงผลที่เกิดขึ้นกระทบต่อตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 11 ล้านคน และพนักงานรัฐวิสาหกิจประมาณ 4 ล้านคน เดือดร้อนอย่างหนักไม่แพ้กลุ่มอาชีพอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน ทั้งประเทศด้วยความเป็นธรรมและเหมาะสม และควรรีบดำเนินการขจัดโรคร้ายนำพาประชากรผ่านวิกฤติครั้งนี้โดยเร็ว

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และเครือข่ายแรงงานทุกภาคส่วนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะประเด็นให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เพียงแต่ว่ายังมีมาตรการบางประการที่ยังไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 11 ล้านคน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 4 ล้านคน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมซึ่งถือว่าเป็นกำลังหลักที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาโดยตลอดพร้อมทั้งจ่ายเงินภาษีให้กับทางรัฐมาโดยตลอด เมื่อผู้ประกันตนและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า(โควิด-19)  ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ลูกจ้างมีเจตนาจะหยุดงาน หรือเป็นต้นเหตุของปัญหาที่ทำให้นายจ้างต้องหยุดกิจการ ขณะเดียวกันยังมีนายจ้างบางคนฉกฉวยโอกาสในสถานการณ์ หาวิธีการต่างๆ เช่น ปิดงาน เลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม  จึงขอให้รัฐบาลได้พิจารณาช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ดังนี้

1.กรณีที่ลูกจ้างผู้ประกันตนในมาตรา 33 และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ได้รับการเยียวยาตามมาตรการของรัฐบาล เดือนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 3 เดือน อย่างถ้วนหน้า

2.ขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน หรือจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้กับประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19