วานนี้ (27 มกราคม 2555) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ยื่นหนังสือ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ผ่าน รัฐมนตรีช่วย พล.ต.ท. ชัชจ์ กุลดิลก เรื่อง ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) กลับเข้าทำงาน โดยทันที
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีคำสั่งไล่กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) สาขาหาดใหญ่ ออกจากงาน จำนวน 6 คน และกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนกลาง ออกจากงาน อีกจำนวน 7 คน รวมทั้งหมด 13 คน พร้อมกับมีการฟ้องแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหาย จากการที่ สร.รฟท. ได้รณรงค์เรียกร้องให้ปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถ ภายหลังกรณีขบวนรถด่วนที่ 84 ตรัง-กรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุตกรางในย่านสถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ทำให้ประชาชนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และการที่ สร.รฟท. เรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินรถ เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของการรถไฟฯ และแสดงถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตทรัพย์สิน รวมถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน และพนักงานที่ทำหน้าที่บนรถไฟ โดยไม่มีการกระทำอันเป็นการกีดขวางการเดินรถ
แม้ว่า การเรียกร้องในครั้งนี้จะไม่เข้าข่ายการชุมนุมหรือการนัดหยุดงาน ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 แต่สิทธิแรงงานในการชุมนุมนัดหยุดงานปรากฏในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรองร่วม ทั้งในวิถีสังคมประชาธิปไตย สิทธิการชุมนุมโดยสงบก็เป็นสิทธิของประชาชนที่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แต่กล่าวได้ว่า การเรียกร้องของ สร.รฟท. ในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการบริการเดินรถขนส่งสาธารณะ ควรเป็นวาระหลักของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยกลับละเมิดสิทธิแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้างและกิจการแรงงานสัมพันธ์อันจะส่งผลให้เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และการบริการประชาชน ดังที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ละเมิดต่อข้อตกลงสภาพการจ้าง
ดังนั้นแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงกระทำการอันไม่ส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง การมีคำสั่งไล่กรรมการ สร.รฟท. สาขาหาดใหญ่ จำนวน 6 คน ได้แก่ นายธวัชชัย บุญวิสูตร นายสรวุฒิ พ่อทองคำ นายสาโรจน์ รักจันทร์ นายประชานิวัฒน์ บัวศรี นายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม และนายนิตินัย ไชยภูมิ ออกจากงาน แต่เมื่อคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) ได้มีมติในวันที่ 15 มกราคม 2553 ให้การรถไฟฯ รับมั้งหมดกลับเข้าทำงานภายใน 30 วัน แต่การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ไม่ดำเนินการใดๆ ส่วนในกรณีคำสั่งไล่กรรมการ สร.รฟท. ส่วนกลาง จำนวน 7 คน ได้แก่ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายภิญโญ เรือนเพ็ชร นายบรรจง บุญเนตร์ นายธารา แสวงธรรม นายเหลี่ยม โมกงาม นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ ออกจากงาน ก็ควรพิจารณาว่ากรรมการ สร.รฟท. ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาลแรงงาน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นว่า การละเมิดสิทธิแรงงานดังกล่าว เป็นความพยายามในการกีดกันการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน เนื่องด้วย สร.รฟท. มีบทบาทในการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ อาทิ กรณีการต่อสัญญาบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด กรณีการออกโฉนดทับที่ดิน รฟท. ที่เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กรณีโครงการแอร์พอร์ทลิงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการให้เช่าที่ดินปลูกสร้างอาคารและให้เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ตลาดซันเดย์) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตามหนังสือ ตผ.0017/27 วันที่ 21 มกราคม 2552 ได้ชี้มูลว่า นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ มีการทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยและดำเนินคดีทางกฎหมายอาญา โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแลการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังต่อไปนี้
1. ขอให้ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยรับกรรมการ สร.รฟท. กลับเข้าทำงาน ถอนฟ้องคดีเรียกร้องค่าเสียหาย และปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างเรื่องความปลอดภัย โดยทันที
2. ขอให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ภายใต้การบริหารงานของนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
3. ขอให้รัฐบาลเร่งจัดทำสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน พ.ศ. 2491 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวกันและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492
คสรท.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อพิทักษ์สิทธิแรงงานและผลประโยชน์ของประชาชน
พล.ต.ท. ชัชจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ที่ดูแลบริหารรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้มีการนำหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับคดีความที่เกี่ยวข้องมาให้ด่วน เพื่อจะได้ช่วยกันดูว่าปัญหาเพื่อจะได้แก้ไข
ทั้งนี้ นายชาลี ลอยสูง ได้รับปากว่าจะเรียบดำเนินการ นำหลักฐานที่มีทั้งเอกสารการตรวจสอบเรื่องทุจริต คำตัดสินคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์(ครส.) และผลการตรวจสอบของอนุกรรมการสิทธิ ฯลฯ มาให้รัฐมนตรีช่วยได้พิจารณาเพื่อการดำเนินการออกคำสั่งให้การรถไฟรับแกนนำสหภาพแรงงานทั้ง 13 คนกลับโดยเร็ว ซึ่งจะของนัดส่งเอกสารและพร้อมพูดคุยปรึกษาหารือร่วมภายในต้นเดือนหน้า
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน