พรุ่งนี้ คสรท. นัดแถลงจุดยืนพรรคการเมือง ต่อข้อเสนอนโยบายแรงงาน

วันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 21 มิถุนายน 2554 เวลา 09.00 – 16.30 น.) ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(ตสรท.) ร่วมกับองค์กรแรงงานราว 30 องค์กร จัดเวทีสมัชชาแรงงาน "จุดยืนและข้อเสนอต่อนโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554 โดยมี หลักการเหตุผล ดังนี้ นับจากการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 กล่าวกันว่าการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่อำนาจรัฐตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น เนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้เกิดขึ้นภายหลังวิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ และมีนัยสำคัญที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการในการปฏิรูปสังคมและการเมือง เพื่อความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคม
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะขบวนการแรงงาน ได้ตระหนักถึงกระบวนการในการปฏิรูปสังคมและการเมือง โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก การสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน 
 
ประกอบไปด้วยแรงงานในระบบ 14 ล้านคน และแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน การสร้างพื้นที่สาธารณะของผู้ใช้แรงงานอันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงาน ที่ต่างเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจจากระบบทุนเสรีนิยม การกดค่าจ้างแรงงานตามนโยบายส่งเสริมการลงทุน การทำงานตรากตรำด้วยชั่วโมงที่ยาวนานขึ้นเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อครอบครัว การจ้างงานแบบยืดหยุ่นโดยไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ในขณะที่สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวถูกขัดขวาง สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ไร้สวัสดิการทางสังคมที่เพียงพอต่อการยังชีพ
การเลือกตั้งในวันที่ 3กรกฎาคม 2554 จึงเป็นโอกาสสำคัญของสังคมไทยในการที่ผู้ใช้แรงงานและประชาชนจะลงมือเป็นฝ่ายกระทำการขับเคลื่อนผลักดันให้พรรคการเมืองมีนโยบายเชิงโครงสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปฏิรูปวัฒนธรรมการเมืองระบอบอุปถัมภ์และเจ้าขุนมูลนาย สร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นทางธรรมทางสังคม เพื่อให้เกิดการเมืองภาคพลเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ถูกกีดกันในการแสดงออกทางการเมืองและกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานอันประกอบไปด้วยสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรม สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน มีจำนวนสมาชิกประมาณ 283,000 คน  ได้ตระหนักว่าการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จะเป็นกระบวนการสำคัญในการปฏิรูปสังคมและการเมือง 
 
จึงได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคม จำนวน 9 ข้อ  ได้แก่ 1) การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 2) แก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 3) การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้ 4) ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมและโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี 5) พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค 6) สิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ 7) จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 8) จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากกรณีเจ้าของสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง และ 9) การคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบและสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
วัตถุประสงค์ในการจัดครั้งนี้
1.  เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมในการนำเสนอจุดยืนและข้อเสนอผู้ใช้แรงงาน ในการเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
2.  เพื่อสร้างการเรียนรู้และการวิพากษ์นโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมือง 
3.  เพื่อสร้างกระบวนการสัญญาประชาคมระหว่างผู้ใช้แรงงานกับพรรคการเมือง
4.  เพื่อรณรงค์สาธารณะและติดตามข้อเสนอผู้ใช้แรงงานให้บรรจุเป็นนโยบายรัฐบาล
 
โดยมีการเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วม ดังนี้
1.  หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ 
2.  หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา 
3.  หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 
4.  หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 
5.  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 
6.  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 
7.  หัวหน้าพรรครักประเทศไทย
 
ประเด็นคำถามและผู้ถามต่อพรรคการเมือง 9 ข้อ
1.  การให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง 
 
ผู้ถาม ได้แก่ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
2.  แก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ให้สอดคล้องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณบุญสม ทาวิจิตร เลขาธิการกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง
3.  การปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
4.  ค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทางสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) และโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปรับค่าจ้างประจำปี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงค่าครองชีพกับราคาสินค้าและบริการหรืออัตราเงินเฟ้อ 
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
5.  พัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน และยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการสาธารณูปโภค
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
 
6.  สิทธิเลือกตั้งส.ส.,ส.ว.,องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงาน เพื่อสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์ธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย
 
7.  จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน  
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ
 
8.  จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน จากกรณีเจ้าของสถานประกอบการปิดกิจการและเลิกจ้าง
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณสมศักดิ์ สุขยอด กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก
 
9.  การคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ 
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณสุจิน รุ่งสว่าง ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
 
10.  สิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
ผู้ถาม ได้แก่ คุณเสถียร ทันพรหม ผู้ประสานงานโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ
 
ซึ่งมีกำหนดการดังนี้  09.15-0930 น. กล่าวเปิดงานและกล่าวถึงจุดยืนและข้อเสนอของ คสรท. 9 ข้อ โดยนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จากนั้นเวลา 09.30-12.00 น. เวทีผู้ใช้แรงงานพบพรรคการเมือง โดยการฉายวีดีทัศน์ภาพรวมข้อเรียกร้อง ประเด็นละ 2 นาที ผู้นำแรงงานตั้งคำถามเพื่อให้หัวหน้าพรรคการเมืองตอบ ประเด็นละ 1 นาที ให้ตัวแทนพรรคการเมืองตอบคำถาม พรรคละ 3 นาที
ดำเนินรายการ นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เวลา 12.00-12.30 น. ร่วมลงนามผลักดันข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานร่วมกัน 
 
จากนั้นเวลา 13.30-16.15 น. ให้มีการสรุปประมวลการชี้แจงของพรรคการเมือง วัดความจริง-ลวงทำได้หรือไม? โดยนายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ต่อด้วย การเสวนา “วิพากษ์นโยบายแรงงานของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2554” โดย รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี โครงการสตรีและเยาวชนศึกษาม.ธรรมศาสตร์ ,รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการ นายเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ประกาศและผู้สื่อข่าวเครือ THE NATION 
 
//////////////////////////////////////////////