คสรท.ทวงนโยบายค่าแรง 425 บาท

คสรท. ขอพบรมว.แรงงาน ทวงข้อเรียกร้อง พร้อมยื่นประเด็นเร่งด่วนทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ ประกันสังคม ย้ำตามนโยบายหาเสียง “หม่อมเต่า”ค่าจ้างรอก่อน โบ่ยให้ปลัดตัดสินใจ ต้องดูความพึงพอใจของคนส่วนใหญ่

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยเครือข่าย องค์กรแรงงานจากกลุ่มต่างๆ รวมถึงหาบเร่แผงลอย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) ถึงนโยบายด้านแรงงาน และข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลที่ได้ยื่นไว้ตั้งแต่ปี 2560 ตามที่คณะจัดงานวันกรรมกรสากล 2562 ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ได้ยื่นหนังสือเพื่อติตามข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ปี 2560 ลงวันที่ 25 เมษายน 2560 ต่อฯพณฯนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

 

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในการยื่นข้อเรียกร้องของคสรท.นั้นได้ยื่นมาทุกปี และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งการเข้าพบครั้งนี้เพื่อฟังนโยบายด้านแรงงาน และทางคสรท.มีประเด็นเร่งด่วนให้รัฐมนตรีแรงงานดังนี้

ประเด็นประกันสังคม คือ

  1. รัฐต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่แทนชุดเก่าที่ลาออกเป็นกรณีเร่งด่วน โดยเลือกผ่านตัวแทนองค์กรผู้ประกันตน 50 คนต่อ 1 เสียง
  2. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้

2.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

2.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน

2.3 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้งหมดที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558

2.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนดังนี้

  1. สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกันกับ มาตรา 33
  2. เพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพร้อยละ 50 ของเงินเดือนสุดท้ายการสิ้นสุดเป็นผู้ประกันตน
  3. ขยายกรอบระยะเวลาและเพดานการรักษาทั้งกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมจนสิ้นสุดการรักษาและให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค ยกเว้นเป็นการศัลยกรรมตกแต่ง
  4. เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรจาก 600 บาท เป็น 1,000 บาท และขยายอายุจาก 6 ปีเป็น 10 ปี
  5. กรณีส่งเงินสมทบครบ 15 ปีให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตลอดชีวิต
  6. กรณีการขยายเวลาสิ้นสุดการเกษียณอายุจาก 55 เป็น 60 ปี ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานผู้ประกันตนต้องได้รับเงินชราภาพตามสิทธิเดิม ส่วนสิทธิจาก 55 ถึง 60 ปี ให้เป็นภาคสมัครใจหรือเป็นไปตามทางเลือกที่ตกลงกัน
  7. การได้สิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคมจะต้องไม่ตัดสิทธิตามกฎหมายอื่น

ประเด็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำ คือ

1.รัฐต้องดำเนินการปรับค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นกรณีเร่งด่วน

2.รัฐต้องดำเนินการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพไม่ให้แพงเกินจริงสอดคล้องกับการปรับค่าจ้าง

3.รัฐต้องกำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี ตามสภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นและครอบคลุมลูกจ้างทุกสาขาอาชีพ

ด้านม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลได้เปลี่ยนจากระบบทหารบริหารมาเป็นระบบเลือกตั้งแล้ว ภายใต้รัฐบาล 19 พรรคการเมืองโดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายทั้งหมด 12 ข้อ โดย 19 คนมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงทั้งหมดนั้นถือเป็นนโยบายที่ทุกฝ่ายที่ร่วมรัฐบาลยอมรับ

“ตนในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน ก็ต้องยอมรับตามนโยบาย ไม่ใช่ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้าง 425 บาท สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานชูป้ายวันนี้เป็นข้อเสนอของพรรคหนึ่ง(พรรคพลังประชารัฐ)ที่ถือว่าเป็นพรรคใหญ่ในรัฐบาล แต่คิดว่า ที่ได้คะแนนมากไม่ใช่เพราะนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 425 บาท แต่ได้รับเลือกตั้งเพราะประชาชนตกใจกลัวจะได้อะไรของใหม่  จึงเลือกเอาของเดิมๆที่รู้อยู่แล้ว ซึ่งหากถามตนก็ทำตามนโยบายอยู่ การที่จะอ้างคะแนน เขาพูดอะไรไว้ก็คงรู้ หากทำแล้วคนงานทั้งหมดได้ หรือคนงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 2.8 แสนเป็น  8 แสนคน ของเรา เพราะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 2.8 ล้านคนเพิ่มเป็น 3.8 ล้านคน เพราะนายจ้างไม่ยอมปรับขึ้นค่าจ้างให้มากว่านั้นอีก 2 ปีต่อมาจำนวนแรงงานข้ามชาติลดเลือก 2.8 ล้านคน  จึงคิดว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างตามที่ผู้ใช้แรงงานมาชูป้ายทวง 425 บาท นั้นจะมีความเปลี่ยนแปลงมหาศาลอาจมีคนตกงานจำนวนมาก และคนที่ไม่มีทักษะก็จะลำบาก คงต้องพยายามหาความพอดีพอเหมาะ แต่อย่างไรก็คงต้องขึ้นอยู่กับทางปลัดที่ลงมติตามระบบไตรภาคี 3 ฝ่าย(คณะกรรมการค่าจ้าง) ผู้แทนลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐ ส่งมาให้รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีเพื่อลงความเห็นชอบประกาศซึ่งในฐานะพรรคเล็กก็ต้องดูความพึงพอใจของประชาชนส่วนใหญ่พอใจและอธิบายได้” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน