คสรท.ชี้เบี้ยวค่าจ้าง 300 สองมาตรฐาน ส่อซ้ำรอย“ดีแต่พูด”

คณะกรรมการคสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)จัดแถลงข่าวทวงปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ข้าราชการกับแรงงานตั้งไม่สองมาตรฐาน ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน ราชเทวีกรุงเทพ วันที่ 18 มกราคม 2555 โดยมีผู้นำแรงงานจากกลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน ในหลายพื้นที่เข้าร่วม

นายชาลี  ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้แถลงว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปี 2554 โดยการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างความสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ดำเนินการให้แรงงาน

มีรายได้วันละ 300 บาท ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละ 15,000 บาท ภายในวันที่ 1 มกราคม 2555 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัย คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นวันที่ 1 เมษายน 2555 เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์ผู้ประกอบการ โดยให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 39.5% นำร่อง 7 จังหวัด และปรับให้ครบทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 และไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำอีกเป็นเวลา 2-3 ปี

นายชาลี ลอยสูง กล่าวอีกว่า พฤติกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยแสดงเจตนาไม่ปฏิบัติตามนโยบายของตนเองที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้กับผู้ใช้แรงงานกว่า 37 ล้านคน เพียงเมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคธุรกิจ

อุตสาหกรรม พรรคเพื่อไทยได้กลับคำแถลงเปลี่ยนแปลงนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายได้ ทั้งยังฉวยสถานการณ์ภัยพิบัติอุทกภัยซ้ำเติมผู้ใช้แรงงานที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ยังชีพจากค่าล่วงเวลาและได้รับเงินเดือนไม่ครบ ด้วยการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เป็นเวลา 3 เดือน และจะไม่ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2-3 ปี ในทางกลับกัน สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมทั้งสถานประกอบการนอกเขตภัยพิบัติน้ำท่วม ต่างได้รับประโยชน์จากการเลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  (คสรท.) ขอย้ำจุดยืนต่อนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
2. คัดค้านมติคณะกรรมการไตรภาคี ในการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2-3 ปี ภายหลังการปรับค่าจ้าง 300 บาท และให้มีโครงสร้างค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ และมีการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ1. ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ โดยทันที และคำนึงถึงความเท่าเทียมในมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ ตามหลักการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศจะต้องเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี รวมทั้งคำนึงถึงความเสมอภาคของแรงงานกับข้าราชการ ที่มีอัตราเงินเดือนเท่ากันทั่วประเทศ

3. รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น ค่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากผลการสำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานโดยคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 พบว่า มีค่าใช้จ่ายวันละ 561.79 บาท จึงขอย้ำเตือนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า การไม่รักษาสัจจะประชาธิปไตย จะเป็นจุดเริ่มของความเสื่อมศรัทธาต่อพรรคเพื่อไทย บทเรียนประชาธิปไตยที่ผ่านมาได้ตอกย้ำว่า ขบวนการแรงงานไม่อาจปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง และไม่อาจปล่อยให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นของข้าราชการแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ผู้ใช้แรงงานเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ที่ดำรงสัมมาชีพอยู่ในโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมนี้

ทั้งนี้ หากไม่มีการปฏิบัติตามข้อเสนอข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จะทำการรณรงค์เคลื่อนไหวกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การเลื่อนปรับค่าจ้างตามนโยบายรัฐบาลที่เคยกำหนดการปรับค่าจ้างในเดือนมกราคม 2554 เป็นปรับขึ้นในเดือนเมษายน 2554 ซึ่งผู้ใช้แรงงานรู้สึกผิดหวังกันอย่างมาก ยังจะมีการล็อคไม่ให้มีการปรับค่าจ้างอีกอย่าน้อย 3 ปี รัฐบาลไม่สนใจเรื่องปากท้องของผู้ใช้แรงงานเลยหรืออย่างไร เขาจะอยู่กันได้อย่างไรหากไม่มีการปรับค่าจ้างเลย รัฐควรมองผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจประเทศ

ค่าจ้างคือ ชีวิตของผู้ใช้แรงงาน การปรับขึ้นค่าจ้างทำให้ผุ้ใช้แรงงานมีกำลังใจในการทำงาน และการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเวลาพักผ่อน มีเงินใช้หนี้สิน

นายยงยุทธ เม่นตะเภาะ ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐควรมีการจัดทำดครงสร้างค่าจ้างในการปรับค่าจ้างประจำปื  แรงงานในกิจการอุตสาหกรรมยานยนต์เองค่าจ้างวันละ 200กว่าบาท สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเล็กน้อย การปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาทอาจทำให้แรงงานที่ทำงานมานานกับคนงานที่เข้ามาทำงานใหม่มีค่าจ้างที่เท่ากัน และการปรับค่าจ้างควรมีการปรับเป็นระบบขั้นบันได เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเป็นค่าประสบการ และฝีมือของแรงงานที่ทำงานมานานหลายสิบปี และขอย้ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการทำงานของแรงงานแรกเข้าเท่านั้น และค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ใช่รวมการทำงานล่วงเวลา

นายบุญสม ทาวิจิตร ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล่เคียง กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีการทำตามนโยบาย อย่าให้เกิดความซ้ำรอยที่ว่าเขาดีแต่พูด รัฐบาลต้องทำให้เห็นเป็นรูปประธรรมเป็นจริง และควรมีการตรวจสอบการทำตามประกาศปรับขึ้นค่าจ้างด้วย รัฐต้องระวังนายจ้างศรีธนญชัย ที่อ้างค่าจ้าง 300 บาทรวมถึงสวัสดิการต่างๆ แล้วไม่ปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงาน

ภายใต้ปัญหาค่าจ้างที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นตามที่ได้กำหนดไว้ในเดือนมกราคม 2555 ทำให้ผู้ใช้แรงงานกระทบถึง 2 เด้ง คือ 1. การที่รัฐบาลเลิกอุดหนุนงบประมาณพลังงานส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้น ภายใต้ค่าจ้างที่ต่ำ 2. การเลื่อนปรับค่าจ้างเป็นเดือนเมษายน 2555 ทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นอีกครั้ง ผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นรัฐบาลต้องมีมาตรการที่ควบคลุมราคาสินค้า ไม่เช่นนั้นการปรับค่าจ้างขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลให้ชีวิตแรงงานดีขึ้น และการที่เสนอปรับค่าจ้างขึ้น 300 บาทเพียง 7 จังหวัด ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน และไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลที่เสนอไว้

นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดนโยบายในการส่งเสริมการส่งออกอย่างเดียว ไม่มีแนวคิดในการทำงานสร้างหรือมองตลาดภายในประเทศ เมื่อมีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละครั้งส่งผลให้ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจทุกครั้ง และต้องมีการเลิกจ้างแรงงานทุกครั้ง วันนี้ยังมีนายจ้างออกมาบอกให้รับรู้ไว้ว่าหากรัฐปรับขึ้นค่าจ้างจะมีการเลิกจ้างแรงงาน ตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้รัฐบาลต้องให้ความเป็นธรรมกับแรงงานด้วย เพราะน้ำท่วมก็เลิกจ้าง วิกฤตเศรษฐกิจ ปรับขึ้นค่าจ้าง ถูกเอามาต่อรองกับการเลิกจ้างแรงงาน การหันไปใช้แรงงานข้ามชาติ อันนี้เป็นคำถามที่สังคมต้องถามนายจ้างกลับเหมือนกันว่า กำไรไม่แบ่ง กระรายได้กำไรนิดหน่อยเลิกจ้าง อันนี้ไม่เป็นธรรม ไม่มีความมั่นคงในการทำงานเลยหรือ การที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการการลงทุน ลดการจัดเก็บภาษี แม้กระทั้งการปรับค่าจ้างก็ยังลดต้นทุนด้านภาษีให้ ทำให้นายจ้างขนาดนี้แล้ว ยังจะข่มขู่สร้างกระแสเลิกจ้าง ตอนนี้ก็เลิกจ้างกันทุกวันอยู่แล้ว

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อฯ รายงาน