คสรท.คึก นัดรวมแรงงาน-คนจน จัดวันกรรมกรสากล

เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่โรงแรมอิสติน มักกะสัน กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพัน์ สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ ได้จัดประชุมเตรียมงานวันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2555

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การจัดงานวันกรรมกรครั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กำหนดร่วมจัดกันสมานพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และองค์กรแรงงาน 28 แห่ง โดยมีกำหนดการเริมตั้งขบวนที่บริเวณหัวมุมถนนหน้ารัฐสภาด้านพระที่นั่งอนันตสมาคม เวลา 09.00 น. ขบวนเดินไปตามถนนราชดำเนิน เวลา 11.30 น.ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เข้าสู่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พร้อมเปิดการปราศรัยบนเวทีของผู้นำแรงงานกลุ่มต่างๆตลอดเส้นทาง ทั้งยังมีขบวนล้อการเมือง สะท้อนปัญหาแรงงานด้วย

1 พฤษภาคมวันกรรมกรสากลปีนี้ เป็นการรณรงค์เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานและวันกรรมกรสากล การสะท้อนจุดยืนในการแก้ไขปัญหากรรมกรและปัญหาสังคมของภาครัฐ การนำเสนอนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกรรมกรในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในขบวนการประชาชนร่วมสมัย ได้แก่ กรรมกรในระบบอุตสาหกรรม กรรมกรข้ามชาติ กรรมกรนอกระบบ เกษตรกรชาวนาชาวไร่ นิสิตนักศึกษาปัญญาชน เพื่อเฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล 122 ปี และรำลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานและวันกรรมกรสากล การจัดงานวันกรรมกรสากล ครั้งนี้ เพื่อรณรงค์สะท้อนจุดยืนในการแก้ไขปัญหากรรมกรและปัญหาสังคมของภาครัฐ เพื่อนำเสนอนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกรรมกร เพื่อปกป้องผลประโยชน์และคุ้มครองสิทธิกรรมกรผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และภาคบริการ และเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ในขบวนการประชาชนร่วมสมัย ได้แก่ กรรมกรในระบบอุตสาหกรรม กรรมกรข้ามชาติ กรรมกรนอกระบบ เกษตรกรชาวนาชาวไร่ และนิสิตนักศึกษาปัญญาชน โดยจะมีการประกาศเจตนารมณ์วันกรรมกรสากลร่วมกัน การจัดงานของกลุ่มยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ และยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงานภายใต้ทุนนิยมครอบโลก ในเวลา 13.00-16.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาด้วย ” นายชาลี กล่าว

นายชาลี ลอยสูง ยังกล่าวอีกว่า การจัดงานวันกรรมกรสากลขององค์กรแรงงานครั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 ข้อ และ ข้อเรียกร้องที่แรงงานต้องติดตามจำนวน 9 ข้อ รวมเป็น 11 ข้อ ดังนี้

(1) ข้อเรียกร้องเร่งด่วน คือ

1. รัฐต้องมีมาตรการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนและผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน โดยมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาอาหาร ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การสนับสนุนงบประมาณสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อการลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม การสนับสนุนงบประมาณแก่รถขนส่งมวลชนสาธารณะ รถเมล์ รถไฟ เรือโดยสาร ฯ ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพควรดำเนินการควบคู่กับนโยบายรัฐสวัสดิการ ในด้านการศึกษา ผู้สูงอายุ การสาธารณสุข สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

2. รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน อันสืบเนื่องมาจากวิกฤติการณ์อุทกภัยช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย แรงงาน

ในระบบจ้างเหมาช่วง (Sub-contracting) แรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบ รวมทั้งแรงงานนอกระบบ ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย การตัดลดสวัสดิการ การสั่งย้ายให้ทำงานต่างพื้นที่ การปิดสถานประกอบการ รัฐจึงต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การช่วยเหลือเยียวยาจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยตามกฎหมาย การจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนประกอบอาชีพ การแก้ไขกรณีประกันว่างงานให้สามารถใช้สิทธิในกรณีที่นายจ้างประกาศหยุดงาน

3. รัฐและรัฐสภาต้องสนับสนุนการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการที่สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การพัฒนากรอบคิดแรงงานสัมพันธ์ จากความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว” ไปสู่ “ หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” และการมุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม

(2) ข้อเรียกร้องที่ติดตาม เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องเดิมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ และเป็นข้อเรียกร้องเก่าที่ต้องการให้รัฐบาลชุดนี้แก้ไข มีทั้งหมด 9 ข้อ ดังนี้

1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรองภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง

2. รัฐและรัฐสภาต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นอิสระ ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม โปร่งใสตรวจสอบได้ และจะต้องเร่งรัด

นำ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน

3. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน ทั้งนี้ รัฐจะต้องแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดไว้ที่วันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558

4. รัฐต้องยกเลิกการแปรรูปหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน

5. รัฐต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในเขตพื้นที่สถานประกอบการใดๆ ตั้งแต่ ๒ ปีขึ้นไป มีสิทธิเลือกตั้งและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

6. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 อย่างจริงจัง และเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

7. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ผู้ใช้แรงงานควรมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้

8. รัฐต้องสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแรงงาน ในบริเวณเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือสถานที่ทำงาน

9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และสวัสดิการสังคม เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิ์ของแรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะขบวนการแรงงาน ได้ตระหนักถึงการสร้างประชาธิปไตยจากฐานราก การสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและผู้ใช้แรงงานกว่า 38 ล้านคน ประกอบไปด้วยแรงงานในระบบ 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน ล้วนต่างเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากระบบทุนนิยมครอบโลก การทำงานตรากตรำด้วยชั่วโมงที่ยาวนานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อครอบครัว การจ้างงานยืดหยุ่นโดยไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ในขณะที่สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวถูกขัดขวาง สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ไร้สวัสดิการสังคมที่เพียงพอต่อการยังชีพ

เนื่องในวันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2555 ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงาน อันประกอบไปด้วย สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน มีข้อเรียกร้องเร่งด่วน ต่อรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาแรงงานด้งกล่าว

“ ในโอกาสวันกรรมกรสากล วันที่ 1 พฤษภาคม ปีนี้ พวกเราคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยตั้งเป้าหมายในการปฏิรูประบบแรงงานสัมพันธ์ โดยการล่ารายชื่อเสนอกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการที่สอดคล้องกับหลักอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 สร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง การพัฒนากรอบคิดแรงงานสัมพันธ์สู่“หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” และการมุ่งสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม อีกด้วย” นายชาลี กล่าว

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน