คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จัดประชุมปรึกษาหารือ ครั้งที่ 2 นโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรม ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2554
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงข้อสรุปของวันที่ 20 เมษายน 2554 ครั้งที่ 1 ให้นายจ้างเปลี่ยนมาปรับค่าจ้างเป็นรายปี ปรับเป็นเปอร์เซ็น ตามค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละคน โดยไม่เกี่ยวกับข้อตกลงสภาพการจ้าง ปรับตามที่กฎหมายกำหนด และเสนอให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เสนอให้มีเพียงกรรมการค่าจ้างกลางในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานแรกเข้าเพียงชุดเดียว
นายอุดมศักดิ์ บุพนิมิต ประธานสภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแรงงานอย่าเรียกร้องค่าจ้างสูงมากเกินไป จะทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้นเท่าตัว นิยามของค่าจ้างคือต้องสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ตอนนี้แค่เลี้ยงตัวเองยังแทบไม่พอ
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าจ้างขั้นต่ำคือแรงงานแรกเข้า บริษัทไม่มีการปรับค่าจ้างประจำปีให้กับลูกจ้าง คนไทยต้องเพิ่มศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 7 สภาองค์การลูกจ้าง ควรมีการเคลื่อนไหวบ้าง เรียกร้องค่าจ้างเป็นเปอร์เซ็น ขึ้นปีละ 13 เปอร์เซ็น ควรแก้ที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ใช่มาแก้ทีละข้อ เช่น ค่าจ้าง , ความปลอดภัยในการทำงาน
นายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ไปสำรวจกับคนงานเป็นเช่นนั้นจริง แต่นายจ้างยอมรับได้หรือไม่ การประชุมกรรมการค่าจ้าง ถ้าไม่มีข้อเรียกร้องจากแรงงานคณะกรรมการค่าจ้างไม่มีการเรียกประชุม ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวก็จะไม่พิจารณา
นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าจ้างปัจจุบันห่างจากความเป็นจริงมาก พอไม่ใส่ตัวเลขคนก็รับไม่ได้ ถ้าจะใส่ตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงคนก็รับไม่ได้ ช่วงโอกาสจะยุบสภา เป็นโอกาสของแรงงานที่จะถ่างปากให้นักการเมืองมีนโยบายด้านแรงงาน ให้รับปากไปก่อนจะปฏิบัติได้หรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขนิยาม ทำงาน 1 คนสามารถเลี้ยงดูคน 3 คนได้ การแก้ไขกฎหมายต้องแก้ที่ต้นตอ ต่อไปต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกับพี่ น้อง 14 สภา เรื่องค่าจ้างต้องมีการผลักดันร่วมกันและหาทางออกของปัญหาให้เป็นแนวทางเดียวกัน
โดย นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน สรุปว่า
- เห็นด้วยกับการแก้ไขนิยาม
- เห็นตรงกันค่าค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นแรงงานแรกเข้า
- เสนอยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด
- เสนอให้มีการทำงานเชื่อมโยงทุกองค์กร
- การยกร่างแก้ไขกฎหมายอย่างบูรณาการ
- การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
- ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน
- เสียงที่เห็นต่างคือการแยกงานกันทำ ต่อไปต้องมีการประสานงานกันมากขึ้นกว่าเดิม
ข้อเสนอเพื่อการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างขั้นต่ำ
นำเสนอโดย นายศรีโพธิ์ วายุพักตร์ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทยเรยอน และนายสุพจน์ จารุวรรณบำรุง
ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทยคาร์บอนแบล็ค แนวร่างแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 – 2551
1. แก้ไขข้อความ คำจำกัดความ มาตรา 5 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด ข้อความใหม่ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หมายความว่า อัตราค่าจ้างสำหรับลูกจ้างแรกเข้าทำงานซึ่งสามารถใช้ครองชีพได้เพียงพอสำหรับลูกจ้างและครอบครัว
2. เพิ่มบทนิยามคำว่า อัตราค่าจ้างประจำปี ระหว่างบทนิยามคำว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ค่าจ้างประจำปี หมายถึง ค่าจ้างที่นายจ้างปรับเพิ่มขึ้นให้กับลูกจ้างในแต่ละปี เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี ซึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้างมูลฐานของลูกจ้างแต่ละคน
3. เพิ่มเติมคำว่า ค่าจ้างประจำปี ในหัวข้อหมวดที่ 5 และเพิ่มมาตรา 53/1 เรื่องการปรับค่าจ้างประจำให้แก่ลูกจ้าง มาตรา 53 ในกรณีที่งานมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกัน มาตรา 53/1 เมื่อลูกจ้างทำงานครบ 1 ปี นายจ้างต้องปรับค่าจ้างประจำปีเพิ่มให้แก่ลูกจ้างทุกปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าจ้างมูลฐานของลูกจ้างแต่ละคน
4. แก้ไขข้อความในมาตรา 56 ( 1 ) เพื่อยกเลิกการจ้างงานประเภทลูกจ้างรายวัน รายชั่วโมง หรือตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย ข้อความใหม่ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานสำหรับวันหยุด ดังนี้
( 1 ) วันหยุดประจำสัปดาห์
5.แก้ไขมาตรา 62 เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 65 ( 1 ) ข้อความใหม่ (1) สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำหรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นหน่วย
6. แก้ไขมาตรา 79 (3) หน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ และยกเลิกคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ
7. แก้ไขมาตรา 87 วรรคแรก เพื่อลดเงื่อนไขการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ข้อความใหม่ มาตรา 87 ในการพิจารณากำหนดปรับค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างประจำปีให้คณะกรรมการค่าจ้างศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ทำงานวันละแปดชั่วโมงที่ได้รับอยู่ให้ลูกจ้างและครอบครัวสามารถครองชีพได้สามคน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณากำหนดปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างประจำปี โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
8. แก้ไขมาตรา 89 เพื่อให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำบังคับใช้แก่แรงงานข้ามชาติ ข้อความใหม่ มาตรา 89 ประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ตามมาตรา 88 ให้ใช้แก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคนรวมทั้งแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ
9. แก้ไขมาตรา 90 วรรคแรก เพื่อห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานข้ามชาติ
ข้อความใหม่ เมื่อประกาศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือมีผลบังคับใช้แล้ว ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างชาวไทย และแรงงานข้ามชาติ น้อยกว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่กำหนด
10. ข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขมาตรา 43 เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเลิกจ้างหญิงมีครรภ์ ข้อความใหม่ มาตรา 43 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิง เพราะมีครรภ์ การเลิกจ้างลูกจ้างหญิงมีครรภ์ด้วยเหตุอื่น ต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน
ดาวเรือง ชานก นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รายงาน