ความหวังแรงงานกับการปฏิรูปประกันสังคม

สวรรยา ผดาวัลย์ นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าว สระบุรี

วันนี้กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ที่ใช้ปัจจุบันมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่เป็นธรรมไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับภารกิจการบริหารจัดการประกันสังคมที่มีการขยายตัวขึ้น มีทั้ง นายจ้างลูกจ้าง เป็นจำนวนมาก และจะขยายความคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบ แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรค ในเรื่องการบริการ ความโปร่งใสในการบริหารงาน ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิ นายจ้างไม่ส่งเงินสมทบ ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายจ้างหักเงินแล้วแต่ไม่ส่งเงินสมทบให้กับลูกจ้างที่ประกันตน พอลูกจ้างมีความจำเป็นต้องไปใช้สิทธิจึงรู้ว่า นายจ้างไม่ได้ส่งเงินสมทบเข้าสู่ระบบจนทำให้ขาดสิทธิ แม้ว่าวันนี้ รัฐจะบอกว่าให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิได้ แต่ปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไขตรงจุด เพราะประกันสังคมบางจังหวัด บางเขตให้ลูกจ้างกลับไปติดตามทวงถามนายจ้างเอง มีหลายพื้นที่ที่เกิดปัญหาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเกิดกับลูกจ้างที่เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงในโรงงาน หรือลูกจ้างรับเหมาทั่วไป ทั้งๆที่นายจ้างก็รู้ว่า ต้องหักเงินของลูกจ้างไว้เพื่อส่งสมทบกองทุนประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างต้องเสียสิทธิที่ตนเองจะได้รับ อีกอย่างลูกจ้างไม่รู้ขั้นตอนขบวนการที่จะไปเรียกร้องสิทธิของตนเอง

มีคนงานแห่งหนึ่ง ในเขตอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นคนงานรับเหมาภายในโรงงาน และหจก.นี้มีคนงานอยู่ประมาณ 30 กว่าคน ก็ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายแรงงานทุกอย่าง ทำงานมาประมาณ 7 เดือน นายจ้างก็หักเงินประกันสังคมทุกเดือน แต่ไม่มีบัตรรับรองสิทธิ อยู่มาวันหนึ่งเกิดไม่สบาย เป็นไข้หวัดอย่างรุนแรง ไปเข้าโรงพยาบาลรัฐบาลตามที่มีประกันสังคม ผลปรากฏว่าชื่อผู้ประกันตนคนนี้ไม่มีในทะเบียนประกันสังคม คนงานต้องจ่ายเงินเอง และไปเรียกร้องหรือสอบถามความเป็นมากับนายจ้างก็ไม่ได้ กลัวนายจ้างจะไม่ให้ทำงานต่อ

นี่ก็เป็นประเด็นปัญหาการทำงานการสื่อสาร ของเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม รวมถึงนายจ้างที่ไม่สนใจต่อลูกจ้างแม้กระทั่ง บทกำหนดโทษก็ยังอำนวยต่อนายจ้างที่ไม่ส่งประกันสังคม ผลสุดท้ายก็มาตกอยู่กับคนงานหรือผู้ประกันตนเช่นเคย

การประกันสังคม (social Insurance) เป็นบริการสาธารณะระยะยาวอย่างหนึ่งที่รัฐบาลดำเนินการให้แก่บุคคลผู้มีรายได้ ให้มีบทบาทในการช่วยเหลือตนเอง

และครอบครัวช่วยเหลือบำบัดทุกข์ยากเดือดร้อนซึ่งกันและกันในกลุ่มผู้มีรายได้ในสังคมด้วยการให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและในบางประเทศมีรัฐบาลร่วมออกเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ด้วยเมื่อประสบภัยหรือความเดือดร้อน (เช่น เจ็บป่วยคลอดบุตร ทุพลภาพ ตาย ว่างงานชราภาพ) กองทุนนี้ก็จะจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ลูกจ้างผู้ส่งเงินสมทบดังกล่าวโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นการประกันสังคมจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ยึดหลักการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันของประชาชน โดยมีความมุ่งหมายให้เป็นหลักประกันและคุ้มครองความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต แม้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องขาดแคลนรายได้ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข (อ้างบทความ การประกันสังคม สมพร ทองชื่นจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบwww.sso.go.th/wpr/uploads/uploadImages/file/new2(1)(4).doc)

ฉะนั้น การนำเสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งพูดถึงความเป็นอิสระโปร่งใส ตรวจสอบได้ การบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมการเลือกตัวแทนโดยตรง และพูดถึงการเพิ่สิทธิประโยชน์ทดแทน พร้อมทั้งความครอบคลุมคนทำงานทุกกลุ่ม ซึ่งวันนี้แม้ว่าร่างพ.รงบ.ประกันสังคมจะถูกอ้างว่าเป็นร่างที่ภาคประชาชนนำเสนอเพื่อการขยายการเลือนการปิดประชุมของสภาออกไปแต่ยังไม่มีวี่แววในการที่จะถูกสภานำสู่วาระพิจารณาแม้แต่น้อย ยังคงมีการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป โดยลืมนึกถึงร่างพ.ร.บ.ภาคประชาชนที่ติดกักรออยู่ข้างสภาหรือว่าภาคประชาชนต้องลงไปเดินอยู่ข้างทางเงยหน้าทวงถามอีกกี่ครั้งจึงจะได้รับการดูแลคุณภาพขีวิตที่ดีสวัสดิการที่สอดคล้องความต้องการของประชาชน!!!

////////////////////