บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
ทุกๆสิ้นเดือนผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนกว่า 9,497,576 คน จะต้องถูกหักเงินสบทบประกันสังคมตามสัดส่วนฐานเงินเดือน แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน แน่นอนพวกเขารู้ดีว่าประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของการรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้วระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ก็ไม่ได้หน้าตาขี้เหร่ซะจนผู้ประกันตนจะรับกับระบบดังกล่าวไม่ได้
แต่ส่วนที่สำคัญมากกว่า คือ การออมเงินเพื่อจะได้ใช้ในยามชราภาพ ยามเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว ลองคิดดูเล่นๆ เงิน 5% ที่พี่น้องแรงงานถูกหักทุกเดือน จะถูกแบ่งไปสมทบใน 3 กองทุน คือ กองทุนแรก 0.5 % สมทบในกองทุนเจ็บป่วย + ทุพพลภาพ + เสียชีวิต + คลอดบุตร กองทุนที่สอง 0.5 % สมทบในกองทุนว่างงาน และกองทุนที่สาม 3% สมทบในกองทุนชราภาพ + สงเคราะห์บุตร
ในกองทุนที่สามนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญมากกับพี่น้องแรงงาน เพราะในส่วนนี้นายจ้างก็จะสมทบอีก 3 % รวมเป็น 6 % (กองทุนชราภาพนี้รัฐบาลไม่ได้สมทบ) หมายความว่า ถ้าเงินเดือน 15,000 บาท พี่น้องแรงงานจะมีเงินสมทบในกองทุนนี้คนหนึ่งๆถึงปีละ 10,800 บาท (750 บาท แยกออกเป็นเงิน 225 บาทดูแลสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร และ 75 บาท ดูแลสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน อีก 450 บาทเป็นเงินออมกรณีชราภาพ)
สมมติว่าพี่น้องแรงงานคนหนึ่งๆทำงานเฉลี่ย 20 ปี ก็จะมีเงินออมอย่างน้อยต่ำสุด 216,000 บาทต่อคนเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม….นี้อาจเป็นเพียงตัวเลขที่ลอยอยู่ในอากาศเพียงเท่านั้น
เพราะมีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากที่บ่งบอกชัดเจนว่าการบริหารงาน “กองทุนประกันสังคม” มีปัญหามาโดยตลอด แม้ว่าตัวเลขของเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจะสูงขึ้นทุกปีก็ตามที และแน่นอนสาเหตุของปัญหาดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นเดียวกันว่ามาจากการบริหารงานของ “คณะกรรมการประกันสังคม” ที่ขาดความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตน ทั้งๆที่พวกเขาคือ คนที่กำลังชี้ชะตาความอยู่ดีมีสุขของคนกว่า 9 ล้านคน ซึ่งเป็นกำลังแรงงาน 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย (นี้หมายถึงเพียงเฉพาะผู้ประกันตนในมาตรา 33 เท่านั้น)
ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่รับหลักการร่างพรบ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย และคณะ (ฉบับ 14,264 รายชื่อ) กับ ฉบับที่เสนอโดยนายนคร มาฉิม และคณะ และได้รับหลักการเฉพาะร่างพรบ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กับ ร่างพรบ.ประกันสังคม ฉบับที่เสนอโดยนายเรวัติ อารีรอบและคณะ เพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ….ขึ้นมาคณะหนึ่ง รวม 30 คน
โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้มีการประชุมพิจารณาร่าง พรบ.ประกันสังคมมาแล้วรวม 4 ครั้ง คือ วันที่ 1 , 22, 29 เมษายน และ 7 พฤษภาคม 2556 ณ ห้องประชุม 3701 ชั้น 7 อาคารรัฐสภา 3 โดยมีนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม (เดิมนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ เป็นประธาน แต่มอบนายอนุสรณ์ทำหน้าที่แทน) และจะมีการประชุมครั้งที่ 5 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ที่จะถึงนี้
การประชุมทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ขณะนี้ได้มีการพิจารณามาถึงมาตรา 65 แล้วในเรื่องประโยชน์ทดแทนในกรณีคลอดบุตร ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมที่ “รวบรัด-ตัดตอน” มากกว่า “การคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงได้รับ” (แน่นอนในหลายมาตราก็ยังคงมีการรอการพิจารณา เช่น อัตราเงินสมทบของผู้ประกันที่เป็นแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 จะจ่ายกึ่งหนึ่งหรือไม่เกินกึ่งหนึ่ง หรือในเรื่องเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติจะมีลักษณะอย่างไร)
มีประเด็นสำคัญที่สมควรตั้งข้อสังเกตเป็นพิเศษสำหรับบางมาตราที่เป็นข้อยุติที่แน่นอนแล้วในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
(1) องค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม
ในพรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ระบุว่าคณะกรรมการประกันสังคม มาจากภาครัฐ (ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ) นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน และสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 5 คน มีเลขาธิการเป็นข้าราชการ
แต่ในร่างพรบ.ฉบับใหม่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ มาจากภาครัฐ (รัฐมนตรีเป็นประธาน, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนกระทรวงการคลัง, ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย, ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข, ผู้แทนสำนักงบประมาณ) นายจ้าง และลูกจ้าง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ฝ่ายละ 7 คน และสามารถตั้งที่ปรึกษาได้อีก 7 คน มีเลขาธิการเป็นข้าราชการ
โดยมีความแตกต่างจากร่างฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่ระบุชัดเจนว่าทั้งประธานกรรมการและเลขาธิการมาจากการสรรหาจากผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมด้านงานประกันสังคม
ดังนั้นจากร่างกฎหมายฉบับที่อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการจึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญว่า
– เมื่อประธาน เลขาธิการ และคณะกรรมการยังคงมาจากภาครัฐ โอกาสที่จะรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนก็จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะตัวแทนคณะกรรมการกลุ่มนี้ก็คง “เออออห่อหมก” ไปกับความคิดของกระทรวงแรงงานมากกว่า “การก้าวก่ายหรือขัดแข้งขัดขาในเรื่องที่ตนเองไม่เห็นด้วย”
– ไม่มีการระบุคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน แม้ว่าจะมีการระบุเพิ่มเติมว่า หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด ก็ยิ่งสะท้อนว่าเป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีในการออกระเบียบหลักเกณฑ์ที่อาจมีความไม่โปร่งใส เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้องตนเอง และยิ่งอาจจะทำให้ได้ผู้ที่ขาดความรู้ความสามารถดั่งที่ปรากฏในปัจจุบัน ที่กรรมการฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างยังเป็นคนเดิมๆ โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่มาจากคนของสภาองค์การลูกจ้างเพียงเท่านั้น (ในร่างฉบับ 14,264 รายชื่อมีการระบุชัดเจนว่า ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างมาจากทั้งองค์กรภาคเอกชน องค์กรแรงงาน และผู้ประกันตนอิสระก็ได้) ทำให้ผู้ประกันตนในฐานะผู้ออกเงินสมทบและเปรียบเสมือนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในกองทุนประกันสังคม กลับไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือบริหารกองทุนฯ เพื่อมีส่วนในการบริหารเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่สมควรจะได้รับ
(2) สำนักงานประกันสังคมยังเป็นหน่วยงานราชการ เทียบเท่าระดับกรม สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงทำให้สามารถถูกแทรกแซง อีกทั้งยังขาดประสิทธิภาพ ขาดบุคลากรที่มีความสามารถที่เพียงพอ ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากฝ่ายผู้ประกันตนในการดำเนินงานและการตรวจสอบ และยังขาดความโปร่งใสด้านข้อมูล ในขณะที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของแรงงานจำนวนมากและต้องบริหารจัดการกองทุนขนาดใหญ่ แม้คณะกรรมการประกันสังคมจะมีมติดำเนินการในเรื่องใดๆ แต่เมื่อระบบราชการมีระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งที่กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่มากมาย ส่งผลให้การปฏิบัติงานนั้นล่าช้า การมีระเบียบข้อบังคับจำนวนมากนี้ได้สร้างความเคยชินกับข้าราชการว่าต้องเน้นความถูกต้องตามระเบียบมากกว่าประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน
(3) ไม่มีการกำหนดเรื่องคณะกรรมการการลงทุน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่แบบมืออาชีพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน ทั้งๆที่การบริหารกองทุนต้องการมืออาชีพที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทุนประกันสังคมในภาพรวม มีการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดการทุน รวมทั้งในกรณีของคณะกรรมการตรวจสอบเช่นเดียวกันก็ไม่มีการระบุในเรื่องนี้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของสำนักงานในเรื่องการจัดทำรายการเงิน-บัญชีอย่างถูกต้องและเปิดเผย เพื่อเป็นหลักประกันว่าการบริหารและการดำเนินงานต่างๆจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
(4) ไม่มีการกำหนดให้กองทุนประกันสังคมเป็นนิติบุคคล ดังนั้นจึงทำให้ทรัพย์สินของกองทุนจึงกลายเป็นทรัพย์สินของรัฐไปโดยปริยาย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วเงินในกองทุนส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกันตนและนายจ้าง เพราะรัฐจ่ายเงินสมทบน้อยเพียงร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างเท่านั้น ที่เหลือมาจากเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างร้อยละ 5 ทั้ง 2 ฝ่ายตามลำดับ รวมสามฝ่ายเท่ากับร้อยละ 12.75 นั้นแปลว่าถ้ามีเงินในกองทุน 100 บาท จะเป็นส่วนที่มาจากนายจ้างและลูกจ้าง 78 บาท และจากรัฐผ่านเงินภาษีประชาชนอีก 22 บาท เท่านั้น แต่รัฐกลับมีอำนาจควบคุมดูแลเบ็ดเสร็จโดยขาดการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นเจ้าของเงินอย่างแท้จริง
เหล่านี้คือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพรบ.ประกันสังคมทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกชัดเจนว่า กองทุนประกันสังคมยังคงไม่เป็นอิสระ เปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซง เลขาธิการประกันสังคมไม่ใช่มืออาชีพในการบริหารงาน คณะกรรมการยังคงมาจากตัวแทนคนหน้าเดิม ไม่มีกลไกการควบคุมค่าใช้จ่าย ไม่มีกลไกตรวจสอบ นักการเมืองรวมทั้งคณะกรรมการประกันสังคมก็ยังคงสามารถล้วงเงินจากกองทุนประกันสังคมมาใช้จ่ายได้อย่างปราศจากความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตนได้ต่อไป
*********************