ดีเดย์ 22 มีนา แรงงานเคลื่อน ! ดันสภารับร่างฯประกันสังคม 14,264 รายชื่อ

เครือข่ายแรงงานในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ เดินหน้าดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน พร้อมนัดวันที่ 22 มีนาคม 2555 เวลา 09.00 น. ลานพระบรมรูปทรงม้า เดินรณรงค์ไปหน้ารัฐสภายื่นหนังสือย้ำสภาฯเร่งวาระพิจารณาร่างกฎหมายฉบับประชาชนก่อนปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัตินี้

วันนี้(14 มีนาคม 2555) คณะทำงานขับเคลื่อน และผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน โดยเครือข่าพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ได้มีการเดินทางเข้าสยื่นหนังสือถึง

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายวัฒนา เซ่งไพเราะโฆษกประจำตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อให้มีการติดตามเร่งนำเสนอเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..)พ.ศ. ….ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 เมื่อวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2554 แต่พบว่าบัดนี้สภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการนำร่างดังกล่าวมาพิจารณา

ทั้งนี้นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะทำงานฯได้กล่าวว่า ทางเครือข่ายแรงงานได้มีการเดินทางเข้าพบประธานวิปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน และประธานวิปฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิง และยังได้มีการยื่นหนังสือให้กับนพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มาแล้ว เพื่อให้มีการช่วยกันเสนอเร่งพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ และได้ยื่นหนังสือผ่านโฆษกสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนเร่งเสนอบรรจุวาระเร่งด่วนเรื่องร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งมีสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีประเด็นสำคัญที่แตกต่างจาก

พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533  มี 5 ประเด็น ดังนี้

(1) เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

สำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารแบบอิสระ ที่กำหนดระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และผู้ประกันตนต้องมีสิทธิในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยกำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงานที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมกับการบริหารจัดการงานประกันสังคมที่มาจากกระบวนการสรรหา  

 

(2) มีการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมให้เกิดความโปร่งใส มีกระบวนการหรือ

กลไกตรวจสอบการบริหารงานที่ชัดเจน หนึ่งคนหนึ่งเสียง เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม

กิจการของสำนักงานประกันสังคมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปว่ามีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) ทั้งนี้การบริหารงานกองทุนประกันสังคมจะผ่านรูปแบบการมีคณะกรรมการชุดต่างๆที่มีที่มาด้วยความโปร่งใส มีกระบวนการหรือกลไกการตรวจสอบการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เอื้อต่อประโยชน์ผู้ประกันตน 

ทั้งนี้ได้มีการแก้ไของค์ประกอบ กระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งประธานและกรรมการที่มีความรู้ความสามารถที่มาจากการสรรหากรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของนายจ้างและผู้ประกันตน ทั้งนี้ผู้ประกันตนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใดหรือทำงานในสถานประกอบการขนาดใด มีสิทธิเลือกตั้งหรือเสนอชื่อตนเองเข้ารับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการประกันสังคม ลักษณะ 1 คน ต่อ 1 เสียงได้

มีการเพิ่มเติมคณะกรรมการตรวจสอบ เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการต่างๆและสำนักงาน กับ คณะกรรมการการลงทุน  เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนการลงทุนที่คณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบ

มีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เข้ามาบริหารงานแบบมืออาชีพ

(3) การขยายความคุ้มครองกลุ่มลูกจ้างให้ครอบคลุมแรงงานในทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียม ขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และกำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40 

มีการขยายกลุ่มผู้ประกันตนในมาตรา 33 ให้ครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน ตามพ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 และคนทำงานบ้านที่ไม่มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย รวมถึงการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ 

นอกจากนั้นแล้วเมื่อพิจารณาในเรื่องสิทธิประโยชน์ทดแทน และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ไม่ว่าจะอยู่ในมาตราใด (มาตรา 33 , 39 ,40) มีการกำหนดให้สอดคล้องกับบริบทการจ้างงานของผู้ประกันตนที่มีความแตกต่างตามลักษณะเฉพาะของอาชีพ เช่น เรื่องการจ่ายเงินสมทบ มีการแก้ไขฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ให้เป็นไปตามฐานค่าจ้างจริงของลูกจ้างแต่ละคน

มีการแก้ไขอัตราเงินสมทบของฝ่ายรัฐบาลและผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยให้ผู้ประกันตนออกเงินสมทบเพียง 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า (เดิมรัฐจ่าย 1 เท่า ผู้ประกันตนจ่าย 2 เท่า)

การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบในมาตรา 40 รัฐต้องสมทบเงินไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ผู้ประกันตนสมทบ เพราะถือว่าแรงงานนอกระบบมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับการจ้างงานของกลุ่มแรงงานในระบบ 

เรื่องสิทธิประโยชน์ทดแทน

แก้ไขให้ผู้ประกันตนมีสิทธิรับบริการทางการแพทย์ทุกกรณีตั้งแต่วันแรกที่เข้าเป็นลูกจ้าง รวมทั้งเมื่อออกจากงานแล้วและรับบำนาญชราภาพ ก็ยังมีสิทธิรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลทุกแห่งจนถึงเสียชีวิต 

มีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์เรื่องค่าใช้จ่ายในเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและการตรวจสุขภาพประจำปีของผู้ประกันตน 

ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรที่มีอายุจนถึง 20 ปี

มีการแก้ไขให้ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี ไม่ต้องออกเงินสมทบประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 

ผู้ประกันตนที่ส่งเงินมานานมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้มากขึ้น

การขยายสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ออกจากงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนยาวนานขึ้นตามระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ

ผู้ประกันตนมีสิทธิระบุเป็นหนังสือให้บุคคลใดรับประโยชน์ทดแทนกรณีค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตาย รวมทั้งรับประโยชน์ทดแทนกรณีบำเหน็จชราภาพได้

(4) บัตรเดียวรักษาได้ทุกโรงพยาบาลคู่สัญญา ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามความต้องการหรือความสะดวกในแต่ละครั้งของตนเองเฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับการรักษาหรือบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลใดก็ได้ตามความสะดวกหรือความต้องการของตนที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม การขยายสิทธิประโยชน์นี้เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์อย่างรวดเร็ว ตรงตามสิทธิและเหมาะสมกับสภาพการทำงานของแรงงาน รวมถึงในกรณีฉุกเฉิน ล่าช้า อาจเกิดอันตรายกับผู้ประกันตน ก็สามารถใช้บริการในสถานพยาบาลนอกเหนือจากที่เป็นคู่สัญญาได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายโดยตรง

(5) ผู้ประกันตนมีสิทธิรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคมทุกเรื่อง มีการเพิ่มบทลงโทษนายจ้างให้มากขึ้นกรณีไม่ปฏิบัติตามในเรื่องต่างๆ เช่น ไม่ส่งเงินสมทบ, ไม่จัดให้มีทะเบียนผู้ประกันตน

มีการกำหนดให้ผู้ประกันตน นายจ้าง หรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิรับรู้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประกันสังคมและการส่งเงินสมทบได้ง่ายชัดเจน รวมทั้งรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารของคณะกรรมการ

ชุดต่างๆ

นอกจากนั้นแล้วยังได้มีการเพิ่มอัตราโทษนายจ้างที่ไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบเป็นเงินเพิ่มร้อยละ 4 (เดิมร้อยละ 2) และการเพิ่มโทษจำคุกให้มากขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มโทษหากกระทำผิดซ้ำในบทบัญญัติเดียวกันที่เคยถูกลงโทษมาแล้ว

ทั้งนี้ นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประจำตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวว่า การที่ประชาชนได้มีการล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมายของภาคประชาชนเป็นเรื่องที่กระทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เพียง 10,000 ชื่อเท่านั้น ซึ่งการที่จะบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนหรือไม่ เนื่องจากทางเครือข่ายแรงงานฯได้มีการยื่นหนังสือถึงนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลวิปรัฐบาล กับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน วิปฝ่ายค้านแล้ว แนวปฏิบัติของสภาฯคือให้วิปทั้งสองฝ่ายปรึกษากันและเสนอความเห็นในการพิจารณาขยับวาระขึ้นมาพิจารณาหรือไม่  

นายวัฒนา เซ่งไพเราะ ยังเสนอต่อผู้ใช้แรงงานอีกว่า การลงลายมือชื่อเสนอกฎหมายนั้นถึงแม้จะเป็นความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญแต่อยากให้แรงงานทดลองการเสนอกฎหมายผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)ในพื้นที่ เพื่อให้ยกมือขอเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ซึ่งตนถือเป็นผู้แทนของคน 1.5 แสนคน ถือว่ามีความชอบธรรม ซึ่งขณะนี้มีสส.ลงลายมือชื่อเสนอแก้กฎหมาย แก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ชื่อ ตนเห็นว่า สส. 20 คน หากนับเป็นตัวแทนคนราว 3 ล้านคน ทำให้มีความชอบธรรมในการที่จะเสนอกฎหมาย และนำมาเป็นวาระเร่งด่วนในการพิจารณา จึงเสนอให้ผู้ใช้แรงงานไปเสนอให้สส.ในพื้นที่ตนเองมียกมือเพื่อเสนอเลื่อนวาระพิจารณาให้ไวขึ้นก็ได้ เพราะคิดว่าสภาฯ ต้องมีการพิจารณาในฐานะผู้แทนคน1.5 แสนคน แต่อย่างไรก็คงต้องของประธานวิปทั้งสองฝ่ายตกลงกันก่อนว่า เห็นด้วยหรือไม่ในการที่จะนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับดังกล่าวเข้าสู่วาระเร่งด่วนในการพิจารณาในวาระแรกก่อนปิดสมัยสามัญนิติบัญญัตินี้หรือไม่

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะทำงานฯกล่าวว่า การที่ต้องมีการยื่นหนังสือเพื่อเข้าพบและนำเสนอให้สภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกันสังคมฯ เนื่องจากวันนี้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากกว่า 10 ล้านที่อยู่ในระบบที่รับผลกระทบต่อความล่าช้าต่อการพิจารณา และหากร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯได้มีการพิจารณาและได้ประกาศบังคับใช้จะเกิดผลต่อผู้ใช้แรงงานกว่า 37 ล้านคนที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายฉบับนี้ การที่ผู้ใช้แรงงานและภาคประชาชนมีการล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ มีการบริหารที่เป็นอิสระ และมีการบริการที่ดี มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ วันนี้สส.หลายท่านยังไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างเต็มที่เพียงพอ การที่ประชาชน ผู้ใช้แรงงานเลือกสส.ทุกท่านเข้าไปสู่สภาฯก็เพื่อความเป็นตัวแทนในการเสนอกฎหมายของภาคประชน แต่ไม่ได้ให้ทำแทนทุกเรื่อง และคิดว่าเรื่องที่ตนเสนอเป็นที่ยอมรับจากประชาชนเพราะความเป็นผู้แทนคงไม่ใช่ เพราะการที่คิดแบบนี้แล้วทำแทนโดยไม่มีการถามต่อประชาชนในพื้นที่อาจเป็นการใช้อำนาจโดยเผด็จการก็ได้ และอาจทำให้สภาฯชุดนี้เกิดปัญหาเหมือนที่แล้วมาก็ได้  

อย่างไรก็ตามในส่วนของขบวนการแรงงาน จะมีการเดินรณรงค์ทวงถามรัฐบาล เรื่องร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2555 โดยเวลา 09.00 น. นัดรวมตัวกันที่ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และเดินรณรงค์ไปที่หน้ารัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือทวงถามวาระเร่งด่วนในการพิจารณาร่างกฎหมายของภาคประชาชน ที่ขณะนี้แม้ถูกบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนแต่กลับไม่มีการนำพิจารณา

ต่อมาในวันเดียวกัน เครือข่ายแรงงานได้รับเชิญจากนายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้าพบเพื่อรับฟังความต้องการของเครือข่ายแรงงานนต่อประเด็นการขับเคลื่อยผลักดันร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งหลังจากมีการปรึกษาหารือร่วมกัน นายวัชระ เพชรทอง ได้รับที่จะมีการยกมือสอบเรื่องการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯฉบับดังกล่าวในการที่จะมีการเลื่อนมาพิจารณา

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อฯ รายงาน