ครม.มีมตินำร่างกฏหมายประกันสังคมฉบับใหม่ให้สนช.พิจารณา

22

ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม(ฉบับที่..)พ.ศ…..ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 ต.ค.นี้เข้าพิจาณาในสนช.

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรได้มีมติร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับ ..)พ.ศ. …. แล้วพร้อมกำหนดมีการบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเข้าพิจารณาตามหมายที่ระบุไว้ในวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ที่จะถึงนี้

จุดเด่นของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..)พ.ศ. ….ฉบับนี้ คือ

(1) มีการขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ

(2) ขยายความคุ้มครองให้แรงงานนอกระบบสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากยิ่งขึ้น และกำหนดมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลให้เหมาะสมและมิให้เป็นภาระต่องบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลมากเกินไป

(3) ผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทสามารถทำหนังสือระบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จไว้ล่วงหน้าได้

(4) เพื่อให้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เมื่อเกิดเหตุสุดวิสัยหรือนายจ้างไม่ให้นายจ้าง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจประกอบกิจการได้ตามปกติ

(5) เพื่อให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย สามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย

(6) กำหนดการคำนวณเงินเพิ่มที่นายจ้างค้างชำระเงินสมทบ โดยกำหนดให้เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่ายโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงนายจ้างที่ค้างชำระทุกราย

(7) เพื่อประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้ครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย

(8) รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนได้ ในกรณีท้องที่หนึ่งท้องที่ใดประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

(9) กำหนดให้สำนักงานประกันสังคมสามารถดำเนินการกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการจัดหาผลประโยชน์เพื่อประโยชน์ของกองทุนได้

(10) เพื่อขยายระยะเวลาการยื่นคำรับประโยชน์ทดแทน และกำหนดขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทนให้ชัดเจนและเป็นธรรมต่อผู้ประกันตน

(11) เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังหรือทุพพลภาพมิสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิต

(12) ในกรณีที่ผู้ประกันตนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน และการทุพพลภาพนั้นมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คระกรรมการการแพทย์ กำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 75 ตลอดชีวิต

(13) แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมได้มากกว่าเดิม

(14) ในกรณีที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความในแบบรายการที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงานเปลี่ยนไป ให้นายจ้างแจ้งเปลี่ยนหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตามแบบและวิธีการที่เลขาธิการประกาศกำหนด

(15) เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 75 จัตวา และมาตรา 77 จัตวา มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุน และให้ความคุ้มครองสิทธิการได้รับประโยชน์ทดแทนไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ รวมทั้งกำหนดให้ประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อเป็นการเสริมสร้างสุขภาพของผู้ประกันตนและเป็นการป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค

(16) เพื่อขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสหรือบุตรของผู้ประกันตน ซึ่งจงใจทำให้ตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำให้ตนเองประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ หรือตาย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

จากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะนี้ไม่เพียงแต่มีร่างรัฐบาลเท่านั้น กระทรวงแรงงานจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม โดยเน้นครอบคลุมผู้ทำงานทุกคนทุกอาชีพ ทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยมอบหมายให้นายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ในการหารือกับเครือข่ายแรงงาน เพื่อนำข้อสรุปจากการหารือร่วมกันมาปรับปรุงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขต่อไปด้วย

หมายเหตุ:สามารถอ่านร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม_ 30-10-14 ฉบับเต็มของกระทรวงแรงงานได้ที่นี่

รายงานโดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการอิสระ