รองปลัดชี้อย่าลืมบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องด้วย มนัสหวังแค่ร่างฯของกระทรวงยึดหลักการทั้ง4 เข้า ประเด็นฮอตมุ่งไปที่บอร์ดประกันสังคม
เมื่อวันที่17 ตุลาคม2557 เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.)ได้จัดเวทีเสวนา “ปฏิรูปประกันสังคมคนทำงาน : ถ้วนหน้า เท่าเทียมและเป็นธรรม” ณ ห้องประชุมราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ และเปิดแถลงข่าว ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอและเจตนารมณ์ต่อรองปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สำหรับเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานประกอบไปด้วย14 องค์กรได้แก่1.สภาแรงงานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย 2.คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 3.ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ 4.เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ 5.กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6.สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 7.มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน 8.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล 9.มูลนิธิเพื่อนหญิง 10.สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 11.สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ 12.สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย 13.มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 14.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
สำหรับในช่วงเช้าเป็นการแถลงข่าวและประกาศเจตนารมณ์ โดยนายมนัส โกศล ประธานสภาแรงงานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย นางสาวอรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ และนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จากนั้นเวลา เป็นเวทีเสวนา “ปฏิรูปประกันสังคมคนทำงาน : ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม” ซึ่งมีวิทยากรทั้งหมด 4 ท่าน คือ นายมนัส โกศล นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย นางสาวอรุณี ศรีโต และนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ดำเนินการเสวนาโดยอาจารย์ไพสิฐ พานิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นาบัณฑิตย์ ได้กล่าวถึงหลักความครอบคลุม โดยกล่าวถึงหลักสากลที่ประกอบไปด้วย การมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบและเงินสมทบ ประโยชน์ทดแทนสามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ กฎหมายต้องมีบทบังคับ และข้อยกเว้นให้น้อยที่สุด รัฐบาลมีหน้าที่บริหารกองทุนให้เกิดดอกผลเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์และห้ามนำเงินไปใช้ พร้อมทั้งต้องมีกองทุนเพื่อเป็นหลักประกันให้กับคนทำงาน ส่วนหลักการความครอบคลุมตามร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนทำงาน นั้น 1.ต้องครอบคลุมเป้าหมายคนทำงานทุกกลุ่มโดยมีข้อยกเว้นให้น้อยที่สุด สำหรับกลุ่มที่ถูกยกเว้นโดยกฎหมายฉบับเดิมให้คงไว้แต่ให้ขยายไปในกลุ่มต่างๆโดยไม่ให้ออกกฎหมายมาเพื่อให้หน่วยงานที่อยู่กฎหมายประกันสังคมบังคับใช้ออกจากระบบประกันสังคม 2.ต้องครอบคลุมในด้านประโยชน์ทดแทน ซึ่งผู้ที่ส่งสมทบมากต้องมีสิทธิประโยชน์มากขึ้นแต่สิทธิประโยชน์พื้นฐานต้องได้เท่ากัน
นายมนัสได้กล่าวถึงหลักความเป็นอิสระและบูรณาการของระบบบริหาร โดย1.การบริหารต้องอิสระจากการแทรกแซงโดยรัฐ โดยผู้บริหารกองทุนประกันสังคมต้องไม่ใช่ข้าราชการประจำและนักการเมือง ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน 2.การบริหารต้องบริหารแบบมีส่วนร่วม มีคุณธรรม มีความโปร่งใสและคุ้มค่า 3.ต้องบูรณาการระบบสวัสดิการอื่นๆให้เชื่อมโยงและประสานสิทธิประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดต่างๆถึง 5 ชุดซึ่งกฎหมายฉบับเดิมมีเพียง 3 ชุด คือ1.คณะกรรมการบริหาร 2. คณะกรรมการการแพทย์ 3.คณะกรรมการอุทธรณ์ และเพิ่มเติมมาอีก 2 ชุดได้แก่ คณะกรรมการการตรวจสอบและคณะกรรมการการลงทุน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนในเรื่องร่างพ.ร.บ.ทั้งในส่วนภาคประชาชนและในส่วนร่างของรัฐบาลซึ่งตามความเป็นจริงกฎหมายประกันสังคมเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินต้องออกโดยรัฐบาลเท่านั้นดังนั้นจึงหวังเพียงให้ทางกระทรวงแรงงานรับหลักการทั้ง 4 ข้อตามเจตนารมณ์ของร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับคนทำงานก็พอ
นางสาววิไลวรรณ ได้กล่าวถึงหลักความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน โดยได้เน้นเรื่องการนำเงินของกองทุนประกันสังคมไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์สูงสุดสิ้นเปลืองไปโดยใช่เหตุเช่นการแจกปฏิทินการทำประชาสัมพันธ์ที่ผูกขาดเพียงสภาแรงงานผู้ประกันตนอื่นเข้าไม่ถึง การไปดูงานต่างประเทศ การใช้เงินในการอบรมสัมมนาที่สูงเกินจริง จึงต้องเน้นไปที่การตรวจสอบการคอรัปชั่น ทีมาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ประธานบอร์ดและเลขาประกันสังคม การเปิดเผยข้อมูล โดยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกันตน การบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ สิทธิประโยชน์ของแรงงานข้ามชาติต้องสอดคล้องเป็นธรรมและผู้ประกันตนสามารถถอดถอนผู้บริหารประกันสังคมได้ และอยากให้มีเวทีการพูดคุยระหว่างตัวแทนของร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเพื่อทำความเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมายที่สามารถร่วมกันได้
นางสาวอรุณี ได้กล่าวถึงหลักยืดหยุ่นเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม โดยขอให้สื่อมวลชนซึ่งก็เป็นผู้ประกันตนต้องช่วยกันสื่อสารออกมาให้มากๆ หากมาดูสัดส่วนผู้ประกันตน๑๐ล้านคน เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง สามแสนคนและเป็นกลุ่มที่มีสิทธิสมัครและเลือกตั้งคณะกรรมการในชุดต่างแต่อีกเก้าล้านกว่าคนกลับไม่ได้รับสิทธินั้นจึงไม่เป็นธรรม ในส่วนเงินสมทบอยากให้มีการส่งโดยไม่มีจำกัดเพดาน และจ่ายตามรายได้ไม่ใช่การส่งเงินสมทบแบบจำกัดเพดานและในด้านสิทธิประโยชน์ต้องมีการขยายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม
จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาโดยมี นายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงานมาร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งนายอารักษ์ได้แสดงความคิดเห็นในส่วนกฎหมายประกันสังคมต้องดูถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วยซึ่งจะต้องบูรณาการให้สอดคล้องไปด้วยกัน ส่วนประเด็นเรื่องเงินสมทบที่มีการส่งสามฝ่ายลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล ควรมีแนวคิดเรื่องการส่งเงินสมทบของรัฐบาลซึ่งมีความรับผิดชอบในหลายด้านจะให้มาทุ่มกับประกันสังคมเพียงส่วนเดียวไม่ได้ เมื่อกองทุนประกันสังคมได้เติบโตมาระดับหนึ่งแล้วรัฐบาลก็ควรจะต้องส่งสมทบตามความจำเป็นและไม่ว่าสำนักงานประกันสังคมจะเป็นส่วนราชการหรือเป็นหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องมีความเป็นอิสระที่เป็นเรื่องเฉพาะส่วนไม่ใช่อิสระทั้งหมด
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน