เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน(คปค.) 14 องค์กร ร่วมกับ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดรายการราชดำเนินเสวนา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง “ปฏิรูประกันสังคม…ปฏิรูปประเทศไทย”
นางสุนี ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ยังไม่ควรรีบนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาลเข้า สนช.เพราะยังมีร่างของภาคประชาชนที่มีข้อเสนอต่อการปฏิรูปประกันสังคมด้วย และขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ จึงควรให้เวลาในการพิจารณาเรื่องการปฏิรูปประกันสังคมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากหลายๆฝ่าย
ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังปี 2540 กล่าวว่า สมัยทำงานอยู่กระทรวงการคลัง เคยเสนอให้แยกประกันสังคมเป็นอิสระเพราะเห็นข้อจำกัดของการอยู่ในระบบราชการ เช่นเรื่องการเงินการลงทุน การตรวจสอบ การมีส่วนร่วม และเห็นว่าการปฏิรูปยังต้องมองเรื่องความยั่งยืนและความครอบคลุมทั่วถึงด้วย แต่แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาลจะผ่าน สนช. ตนในฐานะ สปช.ก็จะช่วยดูแลกลั่นกรองให้เกิดประโยชน์ที่สุด
นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้ความเห็นว่า เรื่ององค์กรอิสระต้องเสนอเป็นกฎหมายเฉพาะแยกจากการปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ทาง สปส.ก็พยายามเสนอปรับปรุงหลายเรื่องให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าร่างของรัฐบาลผ่าน สนช. ก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนได้เร็ว และยังสามารถนำข้อเสนอของ คปค. 14 องค์กรมาพิจารณาร่วมกันได้
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่าร่างของรัฐบาลมีข้อที่สร้างความเดือดร้อนชัดๆเช่น ตัดสิทธิ์คนที่ลาออกจากงานจะไม่ได้ค่าชดเชยกรณีว่างงาน การรักษาพยาบาลก็ไม่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกับระบบอื่น มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ การใช้เงินลงทุนที่ไม่มีการตรวจสอบ การเสนอ 4 หลักการปฏิรูปประกันสังคม คือ ความครอบคลุม ความเป็นอิสระและบูรณาการระบบบริหาร ความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ความยืดหยุ่นและเป็นธรรมสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม จะทำให้เกิดการปฏิรูปที่แท้จริง
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน กล่าวถึงการเกิดขึ้นและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประกันสังคมที่ผ่านมาว่า เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ยุคนี้เป็นช่วงรัฐบาลพิเศษหลังรัฐประหาร จึงอาจขาดในเรื่องของการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ เห็นได้จากมีร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของรัฐบาลเพียงร่างเดียวที่จะเข้า สนช. จึงอาจเป็นการยากที่จะเห็นการปฏิรูปประกันสังคมอย่างแท้จริง
นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย(อรท.) กล่าวว่า หากจะเรียกว่าปฏิรูปก็ต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมจริงๆ เพราะข้อเสนอของ คปค. 14 องค์กรมีหลายประเด็นที่ดีกว่าร่างของรัฐบาล เช่น การให้ สปส.เป็นองค์กรอิสระและความครอบคลุมคนทำงานมีรายได้ทุกคน ซึ่งการยื่นหนังสือต่อ สนช.เพื่อให้ระงับการพิจารณาร่างประกันสังคมของรัฐบาลในวันพรุ่งนี้(30 ต.ค.) จะเป็นการใช้ยาแรงคือต้องให้ได้ตามข้อเสนอ ถ้าไม่ได้ก็จะเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ทั้งนี้ยังพร้อมพูดคุยหากเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาร่วมกัน
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน