คปค.เดินสายแจงผลเสียตัดสิทธิ “ลาออก”ขอใช้นิยาม“ว่างงาน”ตามเดิม

1423495868736

เครือข่ายแรงงานยื่นหนังสือขอสนช.ทบทวนนิยาม “ว่างงาน” ใหม่ แจงเหตุผลระบุกม.ประกันสังคม 25 ปียังไม่เคยรอนสิทธิผู้ประกันตนมาก่อน และคนงานส่วนใหญ่ยังคงถูกบังคับให้ลาออก ผู้นำแรงงานเผยเตรียมนัดเข้าพบกับรมว.แรงงาน และสนช.ท่านอื่นๆ ด้านประธานกรรมาธิการวิสามัญฯรับลูกชงเตรียมแก้ปัญหา แจงนายกรับรู้แล้ว 

เมื่อวันที่ 9กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา ได้มีเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) 14 องค์กร ประกอบด้วย องค์การแรงงานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ  มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบประเทศไทย และ สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำโดยนายมนัส โกศล นายภาคภูมิ สุกใส นายบัณฑิต แป้นวิเศษ เข้าพบและยื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติ และประธานกรรมาธิการกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ… ขอให้พิจารณาทบทวนและแก้ไขนิยามคำว่า ว่างงาน” ในร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….

20150209_09570820150209_101456

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ระบุในหนังสือที่ยื่นต่อพลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานกรรมาธิการกรรมาธิการวิสามัญ  นายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯโดยให้แก้ไขนิยามคำว่าว่างงาน” ที่บัญญัติใหม่ตามมาตรา 5 ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .… ให้กลับไปใช้นิยามตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนที่ออกจากงานทุกกรณี ขณะเดียวกฎหมายประกันสังคมที่บังคับมาแล้ว 25 ปี ยังไม่เคยมีการลดหรือลิดรอนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาก่อน มีแต่การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนมาโดยตลอด นอกจากนี้การจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนการว่างงานย้อนหลัง 3 ปี (2555-2557) เป็นเงิน 178,323,377 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของกองทุนประกันสังคมสัดส่วนการว่างงาน ในปีพ.ศ. 2556 มีจำนวนเงินถึง90,331 ล้านบาท ซึ่งไม่น่าจะกระทบต่อสถานะของกองทุนแต่อย่างใดและไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลหลัก

ในหนังสือของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ยังระบุด้วยว่า ข้อเท็จจริงการจ้างงานภายใต้กระแสทุนนิยม พบว่า “การลาออก มักเกิดจากการกดดันและบีบบังคับให้ลาออกอย่างไม่เต็มใจหรือผิดธรรมชาติ” เช่น มีพนักงานลาออกในครั้งเดียวกัน จำนวน 6,000 คนของบริษัทรามาชูส์ อินดัลทรี ในปี พ.ศ. 2552 และ ณ ปัจจุบันปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการบัญญัตินิยาม “ว่างงาน” ใหม่ ถือเป็นการเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในอนาคต

นายภาคภูมิ สุกใส สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานตัวแทนตัวแทนเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า การเข้ายื่นหนังสือในวันนี้ เพื่อยืนยันให้กลับไปใช้นิยาม “ว่างงาน” ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533เนื่องจากเรื่องสิทธิว่างงานดีอยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางคปค.ได้เตรียมนัดเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) และสนช.ท่านอื่นๆ ด้วย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและขอให้สนับสนุนการใช้กฎหมายเดิมในกรณีว่างงานเพื่อให้กฎหมายใหม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตนแทนที่จะเป็นการตัดสิทธิผู้ประกันตน

นายภาคภูมิ กล่าวต่อไปว่า การที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ถูกหักทุกเดือน เงินส่วนนี้มีค่าประกันว่างงานอยู่ด้วย ทุกคนจึงมีสิทธิใช้ ขณะเดียวกันเจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคม คือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดการว่างงาน ก็ได้รับความเดือดร้อน กองทุนประกันสังคมจะต้องมาบรรเทาความเดือดร้อน

“เราไม่ควรจะเอาบริบทของนานาชาติมาใช้ เพราะประเทศต่างๆ ในระดับสากลนั้น มีการจ้างงาน หรือปฏิบัติกับผู้ใช้แรงงานอย่างตรงไปตรงมา แต่สำหรับประเทศไทย มีเงื่อนไขพิเศษมากมายที่ทำให้เกิดการว่างงาน เนื่องจากผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยยังถูกกดขี่อีกมาก เช่น การลาออกพร้อมๆ กันเป็นร้อยเป็นพันคน หรือเจ้าของบีบให้ลูกจ้างลาออกเพราะจะย้ายโรงงาน ดังนั้น คำว่า “ว่างงานจากการลาออก” จึงต้องอยู่” นายภาคภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ทางคปค.ยังได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวถึงนายกรัฐมนตรี และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย โดยมีเนื้อหาอ้างถึง จากกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พบว่า นิยามคำว่า “ว่างงาน” ที่บัญญัติใหม่ตามมาตรา 5 เป็นการลิดรอนตัดสิทธิของแรงงานที่เคยได้รับอยู่ไม่ให้รับประโยชน์ทดแทนจากกรณีว่างงานตามที่ได้ถือปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 25 ปีของระบบประกันสังคมไทย เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลได้พิจารณา ทบทวนและแก้ไขคำนิยาม “ว่างงาน” ใหม่โดยให้ใช้ คำนิยาม “ว่างงาน” ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2553 เนื่องด้วยเหตุผลดังนี้

20150209_095659

1. นิยามคำว่า “ว่างงาน” ใน พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนที่ออก จากงานทุกกรณีโดยยึดหลักการเฉลี่ยทุกเฉลี่ยสุขและลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกันทุกสาขาอาชีพ

2. กฎหมายประกันสังคมได้มีผลบังคับใช้ต่อการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับคนทำงานเป็นระยะเวลา 25 ปี และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการลดหรือลิดรอนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มีแต่การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนมาโดยตลอด

3. สถิติข้อมูลการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนการว่างงานข้อมูลการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ของผู้ประกันตน ย้อนหลัง 3 ปี (2555 – 2557) เป็นเงิน 178,323,377 บาท (หนึ่งร้อยเจ็ดสิบแปดล้านสามแสนสองหมื่นสามพันสามร้อยเจ็ดสิบเจ็ดบาท) เมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของกองทุนประกันสังคมที่เป็นสัดส่วน การว่างงาน พ.ศ. 2556 มีจำนวนเงินถึง 90,331ล้านบาท ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสถานะของกองทุน แต่อย่างใดและไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลหลักหนึ่งของการบัญญัตินิยามคำว่า “ว่างงาน” ใหม่ในร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….

4. จากสถานการณ์และข้อเท็จจริงการจ้างงานภายใต้กระแสทุนนิยมและการเปิดการค้าเสรีปัจจุบัน พบว่าการลาออกจากการงานจะเกิดจากการกดดัน และบีบบังคับให้ลาออกอย่างไม่เต็มใจหรือผิดธรรมชาติของ การลาออกงานตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น มีพนักงานลาออกในครั้งเดียวกัน จำนวน 6,000 คน ของบริษัทรามาชูส์ อินดัลทรี ในปี พ.ศ. 2552 และ ณ ปัจจุบันปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการบัญญัตินิยามการว่างใหม่ในร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและสันติสุขของสังคมในอนาคต

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ขอยืนยันและเรียกร้องให้ท่านและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาและทบทวน โดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามคำว่า “ว่างงาน” ที่บัญญัติใหม่ตามมาตรา 5 ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. .… ให้กลับไปใช้นิยามตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533ดังเหตุผลที่ชี้แจงในเบื้องต้น

พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯกล่าวว่า เมื่อทางกรรมาธิการวิสามัญร่างฯได้มีการพิจารณาผ่านมาจนถึงวาระสุดท้าย และส่วนตัวแทนแรงงานในคณะกรรมาธิการฯได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องสิทธิในฐานะตัวแทนเต็มที่วันนี้เมื่อทราบว่าการร่างกฎหมายนี้ส่งผลกระทบด้านสิทธิมีการตัด หรือริดรอนสิทธิ ตรงนี้ทางนายกรัฐมนตรีเองก็ทราบและได้มอบหมายใหทางสนช.และกระทรวงแรงงานโดยรัฐมนตรีร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยขณะนี้ทางวิปสนช.จะร่วมกันหาทางแก้ไข

ด้วยวิปจะมีการประชุมอีกครั้งหลังจากคณะกรรมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 17 ก.พ.นี้ เพื่อหาข้อยุติต่อประเด็นปัญหาที่ส่งผลกระต่อสิทธิผู้ประกันตนดังกล่าว

ทั้งนี้พลเอกสิงห์ศึก ยังกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีสนใจและเข้าใจประเด็นปัญหานี้แล้ว พร้อมส่งผู้แทนเข้ามาร่วมรับหนังสือ เพื่อรับเรื่องด้วย พร้อมจะแก้ไขปัญหาข้ออ่อนด้อยของร่างกฎหมาย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน