เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) ยื่นฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรณีไม่เปิดรับสมาชิกตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 (กอช.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ที่ศาลปกครอง
นางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมการออมของภาคประชาชนที่ไม่ใช่ข้าราชการหรือลูกจ้างที่ได้รับประโยชน์ทดแทนบำเหน็จบำนาญ ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านหลักประกันชราภาพในชีวิตของผู้สูงอายุที่ยากจน
ทั้งนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 และตามกระบวนการ กระทรวงการคลังจะต้องเริ่มเปิดรับสมัครสมาชิกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา
พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 84 (4) ที่บัญญัติไว้ว่า จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง และตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.กองทุนการออม กำหนดให้ภายใน 1 ปีแรกที่เปิดรับสมาชิก คือ ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 จะเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญใดๆ สามารถออมต่อได้อีก 10 ปี เพื่อให้มีสิทธิขอรับบำนาญได้ตอนอายุครบ 60 ปี
“วันนี้ตนเองและคณะมาขอใช้สิทธิในฐานะผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการงดเว้นการกระทำของกระทรวงการคลัง ที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมในเร็ววัน เพราะเห็นได้ชัดจากในช่วงการประชุมพิจารณางบประมาณประจำปี 2557 ที่รัฐสภา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงเจตนาชัดเจนว่าไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย และใช้อำนาจรัฐมนตรีขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนการออม พ.ศ. 2554 ด้วยการตัดเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2557 ให้กองทุนการออมแห่งชาติ เรายังเห็นผู้สูงอายุที่ไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเพียงพอ อายุ 60 ปียังต้องทอดกล้วยแขกขาย ต้องรับจ้างทำงานหนัก เพราะเงิน 600 บาทของรัฐบาลไม่พอกิน วันนี้เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใชิ้้กฎหมายที่ควรต้องใช้มานาน ตอนนี้ อายุดิฉันก็เกินแล้ว การล่าช้าทำให้ต้องขาดสิทธิไปหลายพันบาท สร้างความเสียหายให้กันคนอายุมากอย่างเราที่ต้องยังทำงานอยู่ การที่ผุ้สูงอายุจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีคือต้องมีการออมเงินไม่ใช่รอเงินสงเคราะห์จากรัฐอย่างเดียวไม่ใช่หรือ ขอฝากสื่อมวลชน และประชาชนที่เจอนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลังให้ช่วยกันทวงถามว่า เมื่อไรจะมีการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติซะที” นางสาวอรุณี กล่าว
นายอเนก จิรจิตอาทร รองประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กล่าวว่าโดยให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลไม่ได้จัดงบประมาณอุดหนุนเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ เพราะเห็นว่าปัจจุบันมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม พ.ศ.2533 ในมาตรา 40 ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบของภาครัฐและเอกชน สามารถส่งเงินสมทบร่วมกับภาครัฐได้อยู่แล้ว นี้คือภาพสะท้อนสำคัญของรัฐมนตรีที่ปฏิเสธและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พงศ.2533 มาตรา 40 ให้ครบ 2.6 ล้านคนภายในสิ้นปี 2556 แต่ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้มีผู้ประกันตนเพียง 1.2 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งพบว่าในจำนวนนี้มีผู้ประกันตนจ่ายเงินไม่สม่ำเสมอถึงกว่า 50% นี้คือภาพของความล้มเหลวในการทำให้แรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกตามมาตรา 40
นางสาว อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.)ได้แถลงว่าในการใช้สิทธิฟ้องร้องดังนี้ จากการที่รัฐบาลไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ได้ส่งผลต่อความเสียหายสำคัญที่เกิดขึ้น รวม 4 ข้อดังนี้
(1) การไม่เปิดรับสมาชิกตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ ถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิได้รับบำนาญตลอดชีพในอนาคตของประชาชนจำนวนมาก เพราะเป็นการไม่ปฏิบัติการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 84 (4) ที่บัญญัติให้รัฐจัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง อีกทั้งยังเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 270 กรณีจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว
(2) การเลื่อนเวลาการเปิดรับสมัครสมาชิก จึงก่อให้เกิดผลเสียหายโดยตรงกับแรงงานนอกระบบ ที่มีความตั้งใจจะสร้างหลักประกันยามชราภาพ และหากยังมีการเลื่อนเวลาออกไปก็ยิ่งทำให้ระยะเวลาของจ่ายเงินสะสมและการได้เงินสมทบจากรัฐบาลต้องลดลงตามระยะเวลาที่เลื่อนออกไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุใกล้ 60 ปี ก็จะเสียโอกาสในการได้รับหลักประกันและการมีรายได้ในยามชรา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ 12 ล้านคน ต้องเสียโอกาสในการสะสมเงินเข้ากองทุนนี้โดยปริยาย
(3) จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) รวมทั้งสิ้น 7.79 ล้านคน หรือประมาณ 12.38% ของจำนวนประชากรในประเทศ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 17.5%ในปี พ.ศ. 2563 และ 25.1% ในปี พ.ศ.2573 ดังนั้นกล่าวได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาอัตราภาวะเจริญพันธุ์ลดลง ผู้สูงอายุไทยมากกว่าครึ่งเคยหรือกำลังพึ่งพาการเกื้อหนุนทางการเงินจากลูกหลาน แต่ในอนาคตจะเป็นไปได้ยาก ประกอบกับผู้สูงอายุไทยมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นในหลักการแล้ว สังคมไทยจะต้องพึ่งพาระบบบำนาญ แต่การที่ยังไม่เปิดให้มีการรับสมัครสมาชิกยิ่งทำให้รัฐบาลเองต้องเสียงบประมาณแผ่นดินเข้าไปเกื้อหนุน ผู้สูงอายุเหล่านั้นในรูปแบบอื่นๆ
เนื่องจากผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 31 ไม่มีการเก็บออม และผู้สูงอายุร้อยละ 42 มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งสังคมต้องดูแลและรัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต ปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจำนวน 500 บาทต่อเดือน แต่ไม่เพียงพอสำหรับค่าครองชีพ ดังนั้นเพื่อการรักษาระดับค่าครองชีพในยามชรา ผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีเงินออมหรือรายได้เสริมจากแหล่งอื่นๆมาสมทบ
(4) แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างเรื่องการที่เพิ่มมาตรา 40 ในทางเลือกที่ 3 ของกฎหมายประกันสังคมแล้ว ซึ่งแน่นอนตามหลักการสามารถทำได้ แต่ในหลักธรรมาภิบาล การนำเงินของกลุ่มคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ได้เป็นสมาชิกประกันสังคม ซึ่งรวมแล้วใหญ่กว่าแรงงานนอกระบบไปให้ข้าราชการ นายจ้าง ลูกจ้างดูแล ถือเป็นการผิดหลักธรรมมาภิบาลที่ดี และผิดหลักการบริหารจัดการที่ดี
ทั้งนี้การฟ้องคดีของเครือข่ายบำนาญประชาชนในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่กำหนดไว้ว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
นางไพรินทร์ เจนตระกูล ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบภาคเหนือ กล่าวว่าได้เดินทางมาจากเชียงใหม่ เพื่อร่วมฟ้องรัฐบาล กรณีไม่ยอมเปิดบังคับใช้กฎหมายกองทุนการออมแห่งชาติ “มันเป็นความเสียหายของคนที่ไม่มีบำนาญอย่างเราแรงงานนอกระบบ และประชาชนส่วนใหญ่ เรารอมานานมากนี้ก็ 2 ปีแล้ว มีการให้ความรู้กับเพื่อนสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบกันทุกภาค ตอนนี้อายุก็ล่วงเลยกันหลายคน จริงแล้วไม่อยากที่จะฟ้องร้องเลย เราก็ไปหานายกรัฐ และรัฐมนตรีหลายครั้งเพื่อขอให้บังคับใช้กฎหมาย แต่วันนี้ศาลปกครองเป็นที่พึ่งของเราที่คิดว่าจะทำให้รัฐบาลชุดนี้บังคับใช้กฎหมายซะที”
นางสุรีย์ ไชยสุกุมาร ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวถึง “ความต้องการที่จะมีระบบบำนาญเพื่อการที่จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดียามสูงอายุ รัฐบาลควรทำตามกฎหมายที่มี ควรบังคับใช้ และทำให้ประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีบำนาญชราภาพเข้าถึงสิทธิ เพราะเงินที่รัฐสงเคราะห์ให้กับผู้สูงอายุไม่เพียงพอในการใช้จ่าย ทำให้คนสูงอายุยังต้องทำงาน แม้ว่าร่างกายจะทำไม่ไหว ก็ต้องทนทำ วันนี้ไม่คยคิดเหมือนกันว่าต้องพึ่งศาลเพื่อฟ้องให้รัฐบาลทำตามกฎหมาย อย่างไรอยากให้บังคับใช้ เด็กๆที่เขาอยากออมเงินเพื่อตัวเองในอนาคตก็จะได้รับสิทธิอย่างเต็มที่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน