คนไร้บ้าน แรงงานที่ถูกลืม

ไร้บ้าน

มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย

สถานการณ์ปัญหาคนไร้บ้าน

จากการทำงานได้ประมวลปัญหาของคนไร้บ้าน และจัดหมวดหมู่ออกเป็น 6  กลุ่มปัญหาหลัก โดยมองผ่านมิติของการไร้ที่อยู่อาศัย จึงนำสู่การเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้แก่

  1. 1.        การไม่มีบ้าน ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต

การไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงปลอดภัยเป็นปัญหาเบื้องต้นคนไร้บ้านมีร่วมกัน หลายคนมีถิ่นฐานภูมิลำเนาเดิมอยู่ในชนบท แต่เลือกที่จะไม่กลับบ้านด้วยเหตุผลต่าง ๆ ขณะที่อีกหลายคนอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดและไม่มีบ้านให้กลับ เมื่ออาศัยอยู่ในเมืองใหญ่คนไร้บ้านทั้งสองกลุ่มนี้มีปัญหาเหมือนกันคือไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมเนื่องมาจากการมีรายได้ต่ำ ทำให้พวกเขาอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าหรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากเมื่อฝนตก ต้องอาศัยหลบตามสถานีขนส่ง  ตามตู้โทรศัพท์สาธารณะ หรือตามหน้าอาคารต่าง ๆ และอาศัยใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม ตามที่สาธารณะเช่น วัดบางแห่ง สวนรถไฟ  ปั๊มน้ำมัน  หรือแหล่งบริการที่เก็บเงิน เช่น ห้องน้ำเอกชนใกล้คลองหลอด  หน้ากองสลาก ใต้ทางด่วนหน้าขนส่งหมอชิต ห้องน้ำตามสถานีขนส่งต่าง ๆ  ครั้งละ 3 บาท  ถ้าอาบน้ำจะเสียค่าบริการครั้งละ 15 บาท อาศัยแหล่งน้ำสาธารณะในการซักผ้า อาบน้ำ เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  บริเวณสะพานพุทธ ท่าน้ำปิ่นเกล้า ท่าน้ำนนท์  ท่าน้ำคลองบางกอกน้อย  คลองหลอด หรือแหล่งน้ำสาธารณะอื่น ๆ

การเข้าไม่ถึงที่พักที่เหมาะสมทำให้คนไร้บ้านมีปัญหาด้านความปลอดภัย ด้านคุณภาพชีวิต และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ

คนคน1

2) การเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน บริการ และสวัสดิการของรัฐ:

การไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นที่มาของปัญหาอื่น ๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การขาดหลักฐานในการแสดงสถานภาพบุคคล (บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน) ซึ่งเกี่ยวพันกับการมีที่อยู่อาศัยอย่างเป็นทางการ คนไร้บ้านจำนวนมากขาดการติดต่อกับบ้านนานพอ ๆ กับที่ขาดการติดต่อกับหน่วยงานราชการจึงทำให้ถูกคัดรายชื่อออกจากระบบทะเบียนราษฎร์ของทางการ จึงทำให้คนไร้บ้านเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน เช่น  สิทธิในการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ฯลฯ  นอกจากนั้น การไม่มีบัตรประชาชนยังทำให้คนไร้บ้านประสบความยุ่งยากในการดำเนินชีวิต เช่น ถูกตรวจค้นหรือถูกจับกุมเมื่อไม่มีบัตรประชาชนขณะที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อขายของ (เช่น ผ้าปูรองนั่ง หรือจัดซุ้มปาลูกโป่งตามงานวัด)  อีกกรณีหนึ่งปัญหาการถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนบ้าน   เนื่องจากขาดการติดต่อกับหน่วยงานราชการเป็นเวลานาน คนไร้บ้านเหล่านี้ขาดโอกาสที่จะได้รับบริการทางการรักษาพยาบาล การศึกษา และด้านอื่น ๆ  ขณะเดียวกัน   คนไร้บ้านบางส่วนที่มีบัตรประชาชน    แต่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างถิ่นซึ่งไม่ใช่แหล่งที่อยู่อาศัยทำมาหากินในปัจจุบัน ก็ไม่มีสิทธิเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐ  หรือส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนด้วยเช่นกัน

การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เป็นความเดือดร้อนด้านการเข้าไม่ถึงสิทธิอันดับต้น ๆ ของคนไร้บ้านโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไร้บ้านมักเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ่อย ๆ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะท่ามกลางภาวะความตึงเครียดทั้งทางด้านร่างกาย (เช่น กินอยู่ลำบาก ไม่มีสุขอนามัย) และจิตใจ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลของรัฐ มักจะใช้วิธีการซื้อยากินเองเมื่อเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย แต่ในกรณีที่ป่วยหนักอาจมีคนไร้บ้านด้วยกันช่วยเหลือพาไปส่งโรงพยาบาล  และใช้สิทธิเข้ารับการรักษาในฐานะผู้ป่วยอนาถา   โดยติดต่อแผนกสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล หรืออาจมีหน่วยงานการกุศลให้การช่วยเหลือส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล นอกเหนือจากนั้น พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่นอนป่วยจนเสียชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ    ซึ่งหน่วยงานการกุศลก็จะมารับศพไปจัดการในลำดับต่อไป

3) การถูกละเมิดสิทธิ ถูกคุกคาม ทำร้าย

เมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนทั่วไปในสังคม คนไร้บ้านมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิ และถูกคุกคามทำร้ายมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากพวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะ  ที่มีผู้คนมากหน้าหลายตาใช้ชีวิตอยู่ปะปนกัน ขณะที่คนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มีความเสี่ยงมากกว่าคนไร้บ้านเพศชายวัยรุ่น และวัยกลางคน     นอกจากนั้น ด้วยบุคลิกลักษณะภายนอกที่ดูไม่สะอาดเรียบร้อยและด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมดูต่ำต้อย คนไร้บ้านจึงมักคนในสังคมดูถูกดูแคลนและเอารัดเอาเปรียบ รวมถึงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ ไม่ปกป้อง ดูแล และคุ้มครองสิทธิเท่าเทียมกับพลเมืองคนอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้งต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งที่พบว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดสิทธิคนไร้บ้านเสียเอง เพราะเชื่อว่าคนไร้บ้านจะไม่สามารถกลับมาทวงสิทธิของตนเอง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเครือข่ายคนไร้บ้าน และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พยายามเดินเรื่อง และร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอทำบัตรประชาชนใหม่ให้แก่คนไร้บ้านที่ไม่มีหลักฐานแสดงตน ตลอดจนยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิ   ให้แก่คนไร้บ้านที่อยู่ในระหว่างดำเนินการจัดทำหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์      แต่ก็พบว่าการดำเนินการในทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างล่าช้า  และมีความคืบหน้าไปได้น้อยมาก

4) การขาดโอกาสทางสังคม

การสูญเสียทุนทางสังคมเป็นเงื่อนไขสำคัญของการกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ขณะที่การไม่มีทุนทางสังคมก็ทำให้คนไร้บ้านไม่ได้รับโอกาสจากสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูสกปรก ทำให้คนไร้บ้านถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มีผู้ต้องการรับเข้าทำงาน หรือถูกขับไล่ออกจากพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ โดยไม่ได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐเองก็มักมองคนไร้บ้านว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความด้อย หรือ เป็นปัญหา จึงมักคิดค้นแนวทางในการแก้ไขพฤติกรรมหรืออบรมบ่มนิสัยของพวกเขา มากกกว่าจะสร้างโอกาสและมีกลไก และมาตรการทางสังคมรองรับ เพื่อที่จะให้คนไร้บ้านสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการประกอบสัมมาอาชีพและดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

 5) ปัญหาด้านอาชีพ

คนไร้บ้านโดยส่วนใหญ่มีอาชีพที่ไม่มั่นคง เป็นอาชีพมีรายได้ต่ำและไม่แน่นอน และเป็นอาชีพที่คนในสังคมไม่ได้ให้คุณค่าและความสำคัญ นอกจากนั้นการศึกษาวิจัยยังพบว่ามีคนไร้บ้านจำนวนไม่น้อยที่ถูกหลอกให้ไปทำงานที่ยากลำบาก เสี่ยงภัยอันตรายโดยไม่ได้รับค่าจ้างหรือได้รับค่าจ้างแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น การไปเป็นลูกเรือประมง จากการสำรวจของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่าคนไร้บ้านโดยส่วนใหญ่มีอาชีพเก็บหาของเก่า รองลงมา คืออาชีพรับจ้างทั่วไป  โดยแบ่งออกเป็นงานรับจ้าง 2 ลักษณะ ได้แก่ งานรับจ้างที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ เช่น การรับจ้างแจกใบปลิวตามห้ามสรรพสินค้า รับจ้างปรบมือตามรายการเกมโชว์ต่างๆ หรือรับจ้างเป็นตัวประกอบการแสดงโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ส่วนงานรับจ้างในลักษณะที่สอง ได้แก่งานรับจ้างที่ต้องใช้ฝีมือทางช่าง เช่น ช่างทาสี ช่างปูน ช่างไม้ ซึ่งต้องไปสมัครตามที่ก่อสร้างหรือแคมป์งาน หรือไปรอรับผู้รับเหมาตามจุดนัดพบต่าง ๆ เช่น ซอยกีบหมูย่านมีนบุรี แต่ต้องแข่งขันแย่งงานกับแรงงานอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

สภาวะด้านอาชีพในลักษณะดังกล่าวทำให้การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านเป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมจนกระทั่งพวกเขาหลุดพ้นจากการเป็นคนไร้บ้านยิ่งดูจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

6) การขาดนโยบาย กฎหมาย และกลไกทางสังคมในการรองรับและแก้ไขปัญหา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาคนไร้บ้าน เป็นปัญหาที่สำคัญ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะเริ่มตระหนักถึงการมีอยู่ของคนไร้บ้าน มองเห็นปัญหาของพวกเขา และพยายามหาแนวทางการในการแก้ไข แต่ยังไม่มีนโยบาย และมาตรการที่จะใช้เป็นกลไกในการรองรับ   และแก้ไขปัญหาให้แก่คนไร้บ้านโดยตรง  และเป็นการเฉพาะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการจัดการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้แก่คนไร้บ้าน กฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ช่วยเหลือ   ไม่มีนโยบายว่าด้วยการจัดการที่อยู่อาศัยโดยตรง  ถึงแม้จะมีโครงการบ้านมั่นคง   โดยการกำกับ ดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนแออัด  แต่กลุ่มคนไร้บ้านก็ไม่ได้อยู่ในเป้าหมาย หรือเงื่อนไของการแก้ปัญหา เพราะคนไร้บ้านมีรายได้ และอาชีพที่ไม่มั่นคง  และไม่สามารถเข้าถึงความมั่นคงในที่อยู่อาศัยตามกลไก ที่มีอยู่  

พัฒนาการของการแก้ปัญหาคนไร้บ้าน

การรวมตัวของคนไร้บ้านเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2544 เมื่อกรุงเทพมหานคร   มีประกาศห้ามใช้พื้นที่สนามหลวงในเวลาระหว่าง 23.00 น. –  05.00 น.  สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การรวมตัวของคนไร้บ้าน    การรวมกลุ่มดังกล่าวพัฒนาไปสู่การนำเสนอข้อเรียกร้องสำคัญว่า   คนไร้บ้านไม่ประสงค์จะรับการช่วยเหลือในรูปของการเข้าพักในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง    ซึ่งในขณะนั้น  สังคมยังเข้าใจว่าเป็นแนวทางการช่วยเหลือ “คนเร่ร่อน” ที่เหมาะสม ต่อมากลุ่มคนไร้บ้านได้นำเสนอแนวทางการช่วยเหลือคนไร้บ้าน  ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไร้บ้าน กล่าวคือ ให้มีการสร้างศูนย์ที่พักในย่านที่มีคนไร้บ้านอยู่จำนวนมาก เช่น สนามหลวง เพื่อให้คนไร้บ้านได้พักอาศัย และสามารถออกไปทำงานได้  เช่น เก็บของเก่า เร่ขายของตามงานวัด รับจ้างทั่วไป เป็นต้น  แนวทางดังกล่าวได้รับการพัฒนากระทั่งปัจจุบันมีศูนย์ที่พักเพื่อผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งบริหาร  และจัดการโดยกลุ่มคนไร้บ้านเอง 4 แห่ง คือศูนย์คนไร้บ้านตลิ่งชัน,  ศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู บางกอกน้อย, ศูนย์คนไร้บ้านหมอชิต และศูนย์ชั่วคราวคนไร้บ้าน จ.เชียงใหม่

ศูนย์พักคนไร้บ้าน  เป็นสถานที่ในการตั้งหลักชีวิต และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน  โดยผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน  ไม่ว่าจะเป็นด้านกลุ่มอาชีพ  ด้านสวัสดิการ   หรือการเตรียมความพร้อมในการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงในอนาคต  

 

ประสบการณ์การรวมกลุ่มแก้ปัญหา และศักยภาพในการทำงานพัฒนาของคนไร้บ้าน

คนไร้บ้านในจุดต่าง ๆ ได้รวมตัวกันตั้งเป็นเครือข่ายคนไร้บ้าน และร่วมกันทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ ประสบการณ์ และรูปธรรมการทำงานของคนไร้บ้าน ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นศักยภาพในการพัฒนา เช่น

  1. 1.  ด้านการพัฒนารูปแบบการอยู่อาศัยของคนไร้บ้าน โดยการสร้างศูนย์พักคนไร้บ้าน เพื่อเป็นสถานที่ตั้งหลักชีวิตของคนไร้บ้าน บริหารจัดการโดยคนไร้บ้าน

การบริหารจัดการศูนย์พัก เป็นระบบศูนย์เปิด เข้าออกได้ตลอดเวลา โดยผู้อยู่อาศัยเป็นผู้กำหนดกติกา  และดูแลกันเอง หลังจากดำเนินการมาระยะหนึ่ง ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ปัญหาที่สอดคล้อง สามารถรองรับคนไร้บ้านได้จริง จะเห็นได้จากการที่คนไร้บ้านเข้ามาอยู่อาศัย ดำรงชีวิต ในลักษณะการช่วยเหลือพึ่งพาดูแลกันได้ เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ สร้างครอบครัวใหม่ หลังจากที่ล้มเหลว ล่มสลายมาจากครอบครัวเดิม ชุมชนเดิม  บางส่วนที่มาอยู่อาศัยมีอาชีพมั่นคงขึ้น รายได้มากขึ้น เริ่มตั้งหลักได้ นอกจากการอยู่อาศัยแล้ว คนไร้บ้านยังร่วมกันทำกิจกรรมการพัฒนาที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ  ร่วมกัน    ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ศูนย์ ในกรุงเทพมหานคร 3 แห่ง และ จ.เชียงใหม่ 1 แห่ง  รองรับคนไร้บ้านหลายรูปแบบ  แยกตาม

– แยกตามลักษณะการพักอาศัย   มีทั้งที่อยู่อาศัยประจำ  และแบบไม่ประจำ ซึ่งมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรกไป กลับเป็นระยะหมุนเวียนไป  ขึ้นอยู่กับลักษณะอาชีพ  และลักษณะที่สอง คนผ่านทางที่ไม่มีที่พักอาศัย มาขออาศัยอยู่ชั่วคราว

– แยกตามกลุ่มอายุของผู้พักอาศัย  จะมีทั้งเด็ก  เยาวชน  คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ

– แยกตามปัญหาสุขภาพ  มีทั้งผู้พิการ  ผู้เจ็บป่วยเรื้อรังทั้งทางร่างกาย และจิตใจ และผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

– แยกตามลักษณะอาชีพ    ส่วนใหญ่จะมีอาชีพหาของเก่า  เป็นแรงงานรับจ้างรายวันทั่วไป  ค้าขายอาหาร และของมือสอง  และอื่น ๆ

2.  ด้านการสื่อสารเพื่อเข้าถึงคนไร้บ้านในที่สาธารณะ โดยใช้กิจกรรม “การเดินกาแฟ และจัดตั้งกลุ่มย่อยในที่สาธารณะ”

เพื่อสื่อสารเพิ่มความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ กับคนไร้บ้านในที่สาธารณะจุดต่างๆ  จะใช้วิธีการแบ่งทีม กำหนดเส้นทางการเดิน เพื่อให้ครอบคลุมกับจุดที่มีคนไร้บ้านพักอาศัย และเดินเยี่ยมพูดคุยกับคนไร้บ้าน โดยนำน้ำร้อน เครื่องดื่ม เช่น กาแฟ อาหาร และยา เป็นสื่อในการเข้าถึงคนไร้บ้าน และเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้นด้านสุขภาพ  เป็นการเดินเพื่อกุมสภาพคนไร้บ้าน ประเมินภาพรวมปัญหา การเคลื่อนย้าย  พร้อมการสร้างความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ จะเดินเป็นประจำทุกเดือน จนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไร้บ้าน  ในบางจุดสามารถรวมกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยได้  ก็จะให้น้ำหนักในการทำงาน  โดยนัดประชุม และใช้วิธีการฉายหนังเร่ เป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจ มีการนัดประชุมเป็นประจำ จนสามารถจัดตั้งกลุ่มย่อยในที่สาธารณะ ได้จำนวน 6 กลุ่ม ซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการทำงานพัฒนา

3. การดำเนินงานด้านสิทธิ และการเข้าถึงสวัสดิการ

สนับสนุนให้คนไร้บ้านมีบัตรประชาชน  ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อการเข้าถึงสิทธิ การบริการและสวัสดิการต่าง ๆ  เช่น เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล    ได้รับเงินสวัสดิการของผู้สูงอายุ และผู้พิการ  เครือข่ายคนไร้บ้านสามารถทำบัตรประชาชนให้คนไร้บ้านได้แล้วบางส่วน  ในกรณีที่ไม่มีความซับซ้อน สามารถหาหลักฐาน และบุคคลยืนยันได้        ส่วนกรณีคนไร้บ้านที่มีปัญหาซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการมีบัตรประชาชนได้จากหลายสาเหตุ   ส่งผลให้มีความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

4. การดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต: การรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้ และสวัสดิการ

เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้  พัฒนาศักยภาพ ทักษะการทำงานร่วมกัน เป็นการสร้างคุณค่า ศักดิ์ศรีให้กับคนไร้บ้าน    งานพัฒนาที่ทำร่วมกัน  เช่น

จัดตั้งกลุ่มขยะรีไซเคิล  คนไร้บ้านสามารถลดปริมาณขยะได้จำนวน 20 ตัน (20,411 กก.)  ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แบ่งเบาภาระของสังคม  และทำให้คนไร้บ้านมีรายได้

ทำกองทุนสวัสดิการวันละบาท มีสมาชิก 79 คนจำนวน 17,700 บาท ช่วยเหลือคนไร้บ้านที่คลอดบุตร ผู้สูงอายุ คนป่วย และการศึกษาเด็ก ไปแล้ว 31 ราย จำนวน 11,725 บาท

ลงหุ้นเปิดร้านค้าสวัสดิการกลุ่ม  เป็นร้านขายของชำขนาดเล็ก ขายให้กับสมาชิกคนไร้บ้าน และชุมชนใกล้เคียง กำไรจากการขาย ปันผลให้สมาชิกผู้ลงหุ้น

ทำแปลงเกษตรอินทรี เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย  เป็นอาหารของคนไร้บ้านในศูนย์พัก และบริการขายในราคาถูก และปลอดภัยต่อสุขภาพให้กับชุมชนใกล้เคียง

///////////////////