สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร รฟท.) หาความกระจ่างการโอนที่มักกะสัน หลังมีข่าวโอนย้ายมอบพื้นที่ใน 2 ปี ทำแบบประเมินคนงานหวั่นกระทบความมั่นคง การรถไฟเตรียมแจงในพื้นที่ เตรียมขอขบายเวลาส่งมอบ
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย รวมถึงคนงานมักกะสันได้เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือกับนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกรทรวงคมนาคม เรื่องขอคัดค้านการปรับโครงสร้างการขนส่งทางรางและแนวทางการพัฒนาพื้นที่บริเวณนิคมมักกะสัน
นายอำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานฯได้ กล่าวว่า การทำงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟนั้นเป็นการทำงานที่ต้องสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและรักษาผลประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสหภาพแรงงานไม่เห็นด้วยกับมติต่างๆของคระกรรมการ และอนุกรรมการ (อกพร.)
1. มติคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการด้านเศรษฐกิจ ที่ได้มีการพิจารณารูปแบบการปรับโครงสร้างการขนส่งทางราง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ซึ่งตามมติดังกล่าวทางสหภาพแรงงาน ได้รับทราบแล้วแต่ยังมีบางประเด็นเมื่อพิจารณาแล้วอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟฯได้ เช่น การเห็นควรให้แยกภารกิจด้านกำกับดูแลออกจากการรถไฟออกจากการรถไฟฯ มาจัดตั้งเป็นกรมการขนส่งทางราง เพื่อกำกับดูแลการขนส่งทางรางในด้านมาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดไว้ และเพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น และยังมีการเสนอแนะรัฐบาลให้การรถไฟฯไปจัดตั้งบริษัทใหม่ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงและล้อเลื่อน และบริษัทบริหารทรัพย์สินเจตนาส่อไปในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ
2. ตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่พยายามเร่งรัดให้การรถไฟฯดำเนินการส่งมอบพื้นที่บริเวณมักกะสันจำนวน 497 ไร่ ให้กระทรวงการคลังเพื่อที่จะได้ส่งมอบต่อให้ กรมธนารักษ์ นำไปหาผู้ประกอบการต่อไปนั้น ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบมากขึ้นกล่าวคือ ตามนโยบายของรับบาลที่นำเอาที่ดินมักกะสันจำนวน 497 ไร่ไปแลกหนี้ที่รัฐบาล อ้างว่าการรถไฟฯมีหนี้จำนวน 80,000 กว่าล้านบาท แต่กลับประเมินราคาที่ดินจำนวน 497 ไร่ เพียง 60,000 ล้านบาท และมีการทำสัญญาเช่ายาวนานกันถึง 99 ปี เป็นการจัดการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่การรถไฟฯ แต่อย่างใด และและยังมีมติให้การรถไฟฯรับไปดำเนินการรับผิดชอบในการรื้อย้ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในโรงงานมักกะสันทั้งหมดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท โดยให้การรถไฟฯไปหาแหล่งเงินกูเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะปลดหนี้ให้การรถไฟฯตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง แต่กลับจะเป็นการก่อภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ทั้งนี้ทางสหภาพแรงงานฯยังขอเสนอแนวทางในการพัฒนากิจการรถไฟ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลทบทวนและรักษาผลประโยชน์โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหารายได้จากการบริหารทรัพย์สิน (ที่ดิน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ การรถไฟฯมีที่ดินกว่า 233,860 ไร่ ใช้ในการเดินรถ 198,674 ไร่ เป็นที่ดินที่สามารถหาประโยชน์เชิงพาณิชย์จำนวน 36,302 ไร่ แต่ปัจจุบันการรถไฟฯมีรายได้จากการบริหารที่ดินเพียงประมาณปีละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก เพื่อพิจารณาจากจำนวนที่ดินต่อรายได้เปรียบเทียบกับการบริหารจัดการที่ดินของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้ ที่ดินของการรถไฟฯหลายแปลงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงเชิงพาณิชย์ เช่น พื้นที่บริเวณสถานีแม่น้ำ จำนวน 277 ไร่ พื้นที่บริเวณโรงงานมักกะสันจำนวน 497 ไร่ พื้นที่บริเวณบ้านพักรถไฟกม. 11 ฯลฯ เพียงแต่ใช้แนวนโยบายและวิธีการให้นำไปสู่การปฏิบัติในการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวให้ได้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้และปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นในทุกๆระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ดินการรถไฟฯแปลงมักกะสัน ที่สังคมกำลังวิภาควิจารณ์อยู่ขณะนี้ ซึ่งเป็นแนวทางของรัฐบาลในการแก้ปัญหาหนี้สินของรฟท.โดยวิธีการแลกหนี้สินกับทรัพย์สินของรฟท. (ที่ดินมักกะสัน) ดังกล่าวนั้นสหภาพฯเห็นว่ายังมีความคลาดเคลื่อนจากแนวทางที่เคยได้รับการชี้แจงและหารือร่วมกันไว้กับกระทรวงคมนาคมก่อนที่สุด คนร.จะมีมติออกมา ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย และพนักงานฯรวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศชาติ เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณะได้ว่า นำเอาหลักเกณฑ์อะไรมาคิดคำนวณค่าผลตอบแทนเพียงแค่ 60,000 ล้านบาท ต่อการได้สิทธิค่าเช่าการใช้ประโยชน์เหนือพื้นดินแปลงมักกะสันจำนวน 497 ไร่/ 99 ปี อีกทั้งยังให้การรถไฟฯต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอีกจำนวนมาก อย่างนี้แล้วการรถไฟฯพนักงานและประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างไร จึงขอให้รับบาลทบทวนมติ คนร.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เป็นธรรมของการรถไฟฯซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นกิจการสาธารณะของคนไทยทุกคน
2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ซึ่งทำให้การรถไฟฯขาดแคลนอัตรากำลังที่เหมาะสมเพียงพอต่อปริมาณงาน แล้วยังส่งผลกระทบทำให้การรถไฟฯมีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากภาระการจ่ายค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการให้บริการและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาบุคคลากรเพื่อรองรับภารกิจของการรถไฟฯในอนาคตอีกด้วย
3. ขอให้มอบนโยบายแก่การรถไฟฯไปดำเนินการเป็นการด่วนโดยการเข้าไปรับทราบพร้อมกับดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังให้แก่พนักงาน ลูกจ้างฯ และครอบครัว รวมทั้งชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำลังสูญเสียขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีนโยบายและความชัดเจนต่ออนาคตของพวกเขาเลย กรณีที่ต้องได้รับผลกระทบจากโครงการรื้อย้ายโรงงานมักกะสัน ซึ่งต้องคำนึงถึงความมั่นคงในอาชีพ สถาบันครอบครัว และไม่กระทบต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆอันพึงมีอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
4. ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการของการรถไฟฯขอให้มีการรถไฟฯทำความเตกลงกับสหภาพแรงงานฯก่อนทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ข้อ 18 ส่วนนโยบายของรัฐ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ขอให้ทำความหารือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯให้ได้ข้อยุติ
ด้านพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ก็ได้ยื่นข้อมูล และหนังสือเพื่อขอความชัดเจนเรื่องผลกระทบต่อพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และขอความสนับสนุน โดยนายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้กล่าวว่า เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้รับการอนุเคราะห์จากการรถไฟให้ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงประวัติศาสตร์แรงงาน ซึ่งเป็นอาคารเก่าขนาดเล็กตั้งอยู่ริมถนนมักกะสัน เปิดมาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งได้เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้กับสังคม ผู้ใช้แรงงาน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยว เป็นการบริการให้เข้าชมฟรีเป็นสาธารณประโยชน์ มีทั้งมาเป็นหมู่คณะ หรือบุคคลทั่วไป ซึ่งข่าวการรถไฟฯยกที่ดินมักกะสันให้กับเอกชนนั้นสร้างความกังวลให้เป็นอย่างมากว่าจะกระทบหรือไม่
ด้านนางสุนี ไชยรส รองประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวว่า เหนือจากมีความเคลื่อนไหวเรื่องการมอบพื้นที่มักกะสันให้กับทางกระทรวงการคลัง เพื่อหารายได้นั้น ซึ่งพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่มากจะได้รับผลกระทบอย่างไร ต้องการความชัดเจน ประเด็นต่อมาเรื่องพื้นที่สีเขียว และอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าทางการรถไฟคิดอย่างไร มีการจัดสรรหรืออนุรักษ์ไว้หรือไม่ อีกอย่างกระทบกับทางพิพิธภัณฑ์ฯต้องให้ออกจากพื้นที่อาคารเดิม ทางการรถไฟจะจัดพื้นที่ให้ใหม่หรือไม่ และขอให้เป็นในอาคารที่จะมีการอนุรักษ์ พื้นที่สีเขียวได้หรือไม่
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม กล่าวว่า หลังรับฟังข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ที่ต้องการให้ผู้บริหาร รฟท.ทบทวนการส่งมอบที่ดินมักกะสัน 497 ไร่ แลกกับภาระหนี้ 6 หมื่นล้านบาท ว่า สหภาพฯ เห็นว่า รฟท.ได้ผลประโยชน์น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับการที่กรมธนารักษ์จะได้สิทธิเช่าที่ดิน 497 ไร่ เป็นเวลา 99 ปี ในขณะที่ รฟท.ต้องมีภาระในการกู้เงินเพื่อย้ายโรงงานและศูนย์ซ่อมรถไฟที่มักกะสันไปสร้างที่สถานีชุมทางแก่งคอย จ.สระบุรี 1.6 หมื่นล้านบาท การย้ายมักกะสัน ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้นอาจเป็นระยะเวลาที่กระชั่นชิดเกินไปจากเดิมที่เคยกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตอนนี้เหลือ 2 ปี และเพิ่งทราบว่าทางผู้ว่าการรถไฟฯยังไม่ได้เข้าไปชี้แจงเรื่องการย้ายโรงงานมักกะสันให้กับพนักงาน ชุมชน คนที่อยู่ในพื้นที่ได้ทราบ จึงส่งผลให้มีการเข้าพบในวันนี้ ฉะนั้นก่อนจะมีการส่งมอบพื้นที่ขอให้ผู้ว่าฯลงไปชี้แจงในพื้นที่ก่อน และเรื่องพื้นที่มักกะสันนั้นถือว่า เป็นการจ่ายหนี้ให้กับกระทรวงการคลัง การรถไฟฯได้เงินเป็นก้อนถึง 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่างกับเซ็นทรัล พาซ่า ที่มีระยะเวลาของการจ่ายค่าเช่าพื้นที่เป็นช่วงๆ คิดว่าการรถไฟได้ประโยชน์ ส่วนงบ 1.6 หมื่นล้านบาท ในการขนย้ายโรงงานมักกะสันนั้น ซึ่งเงินก้อนนี้ทางการรถไฟต้องไปหามาเองเป็นการนำเงินมาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ในพื้นที่โรงงานใหม่ที่ต้องก่อสร้าง บ้านพักพนักงานจะเป็นรูปแบบไหน เหมือนกับที่สร้างในกม. 11 หรือว่าเป็นเชิงสูงแบบคอนโด โรงพยาบาลต้องทำให้เรียบร้อย ซึ่งการที่จะมีการย้ายโรงงานภายใน 2 ปีคิดว่าอาจต้องเจรจาขอเลื่อนไปก่อน เพราะต้องทำความเข้าใจในพื้นที่มักกะสัน พนักงาน ต้องดูแล ทั้งครอบครัว ลูกสถานที่เรียนหนังสือว่าจะต้องย้ายช่วงภาคเรียนไหนเพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนของเด็ก ซึ่งเพิ่งเห็นแบบประเมินที่ทางพนักงานมักกะสันทำมาเรื่องผลกระทบหากมีการย้ายโรงงานมักกะสัน ต้องทำความเข้าใจก่อนไม่ใช่ถึงเวลามอบพื้นที่เสร็จเอารถแม็กโครไปพังบ้านเขา
นายออมสินกล่าวต่ออีกว่า ด้านพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก็คงต้องย้าย คงอยู่เป็นติ่งตรงนั้นในพื้นที่ไม่ได้ แต่ในส่วนของรถไฟก็คงไม่ทิ้งไปเลยเพราะแรงงานคือพี่น้องกัน อาจต้องคุยกับทางกรมธนารักษ์ด้วยเรื่องการขอใช้พื้นที่ในการที่จะจัดทำพิพิธภัณพ์แรงงานไทย ในพื้นที่มักกะสัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า จะให้ย้ายไปที่ไหน อาคารไหนที่พอจะให้ได้ แต่หากไม่ได้พื้นที่ในมักกะสัน ซึ่งมีกำหนดไว้ว่าต้องมีพื้นที่สีเขียว อาคารอนุรักษ์ และบึงมักกะสันที่มีอยู่ และต้องทำให้นำสะอาดบึงให้น้ำใสซึ่งต้องไปคุยกับทางกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ว่ามีพื้นที่ให้พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยอยู่ได้หรือไม่ หากทางกรมธนารักษ์ไม่จัดให้พิพิธภัณฑ์ฯอยู่ด้วย เสนอผู้ว่าฯว่า ให้พิพิธภัณฑ์แรงงานฯมาอยู่ในพื้นที่บางซื่อ ของการรถไฟก็ได้ เพราะว่าไม่ได้พิพิธภัณฑ์แรงงานฯเขาใช้พื้นที่ไม่มาก เพราะตนเคยไปเดินเยี่ยมชมมาแล้ว แต่ยืนยันว่า พิพิธภัณฑ์แรงงานฯคงต้องย้าย แต่ไปไหนอย่างไร การรถไฟต้องดูแลเพราะพี่น้องแรงงานด้วยกัน
ด้าน นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า จะเข้าหารือกับกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์ เพื่อขอยืดระยะเวลาการส่งมอบที่ดินมักกะสัน เนื่องจากเวลาที่ให้ไว้ 2 ปี เพื่อรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างและศูนย์ซ่อมรถไฟออกไปทั้งหมดนั้นอาจจะไม่ทัน และคงต้องแก้ปัญหาเรื่องของพื้นที่และข้อกังวลของพนักงานในพื้นที่ก่อน
ทั้งนี้ในส่วนของคนงานมักกะสันได้มีการสำรวจความคิดเห็นกรณีโครงการรื้อย้ายโรงงานมักกะสันไปยังโรงงานใหม่ จากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 80 ไม่ต้องการย้ายไปยังโรงงานแห่งใหม่ หากต้องย้ายจริงขอให้มีการโอนย้ายตามหน่วยงานส่วนกลาง โดยทางการรัดหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้ ทั้งยังมีเรื่องปัญหาที่ต้องกระทบกับครอบครัว บุตรที่เรียนหนังสือ สถานที่ทำงาน ที่พักของครอบครัว อาชีพคู่สมรส ที่อาจไม่สามารถย้ายตามไปได้ เป็นต้น
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน