คนทำงานสนามบิน แถลงไม่สามารถใช้สิทธิลาป่วยได้ หลังบริษัทแจ้งลาป่วยต้องมีใบรับรองแพทย์

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 สหภาพแรงงานคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย (สร.คสบท.)
ได้มีการแถลง เรื่อง ขอให้บริษัทฯปฎิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2567 ว่าด่วยเรื่องสิทธิการลาป่วยของลูกจ้างอย่างเคร่งครัด ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย โดยมีเนื้อหา ดังนี้

            ก่อนหน้าการจัดตั้งสหภาพแรงงานคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย พนักงานทุกคนในทุกๆท่าอากาศยานของบริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย จำกัด ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นฐานในการลาป่วยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ 2541 มาตรา 32 โดยพนักงานบริษัทฯทั้ง 6 ไม่สามารถใช้สิทธิในการลาป่วยได้ตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือพนักงานทุกคนต้องนำส่งใบรับรองแพทย์ในทุกๆครั้งของการลาป่วย ทั้งนี้จากการรวมตัวของพนักงานผ่านการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานพร้อมทั้งการร้องเรียนไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต่อประเด็นการไม่ปฎิตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ทำให้บริษัทฯต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน โดยมีเพียง 2 ท่าอากาศยานจาก 6 ท่าอากาศยานที่ทำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานคือ บรท. ท่าอากาศภูเก็ตและ หาดใหญ่

            พนักงานบริษัทฯ ในท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ยังคงต้องเดินทางกว่า 60 กิโลเมตรเพื่อไปรับใบรับรองแพทย์ตามนโยบายของบริษัทฯจากโรงพยาบาลประกันสังคมของพนักงาน แม้ว่าอาการป่วยดังกล่าวอาจเป็นเพียงอาการปวดหัว ปวดท้องประจำเดือนของพนักงานหญิง อาการปวดหลังที่ไม่รุนแรง และอื่นๆโดยอาการต่างๆเหล่านี้ การได้พักผ่อนหรือพักจากการทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆสามารถทำให้อาการทุเลาลงได้ แต่บริษัทฯยังคงให้พนักงานนำส่งใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลประกันสังคมเท่านั้น และหลังจากที่ลูกจ้างลงลายมือชื่อเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยขออาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 และมาตรา 17แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา หลังจากการเจรจาครั้งที่ 1 ของผู้แทนลูกจ้างบริษัทฯยืนยันว่าบริษัทฯปฏิบัติตามมาตราฐานคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด แต่กลับให้ผู้ประสานงานชี้แจงลูกจ้างว่า “หากลูกจ้างลาป่วยโดยไม่ส่งใบรับรองแพทย์ ลูกจ้างจะไม่สามารถทำงานล่วงเวลาได้อีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน และหากลูกจ้างใช้สิทธิลาป่วยโดยยังคงส่งใบรับรองแพทย์ลูกจ้างจะไม่สามารถทำงานล่วงเวลาได้อีกเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์” ดังนั้นทางสหภาพแรงงานฯ จึงเห็นว่าบริษัทฯยังคงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัดพร้อมทั้งสร้างแรงกดในการเข้าถึงสิทธิการลาป่วยของลูกจ้างอย่างชัดเจน

            ในขณะที่พนักงานฯ ท่าอากาศยานานาชาติภูเก็ตซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการลาป่วยได้แล้วจากการเรียกร้องของลูกจ้าง โดยล่าสุดผู้ประสานงานแผนกรักษาการณ์ได้ชี้แจงในช่วงการบรีฟแถวให้ลูกจ้างที่ลาป่วยต้องนำส่งใบรับรองแพทย์ตามนโยบายเดิมของบริษัทฯ พร้อมจำกัดจำนวนพนักงานที่สามารถลาป่วยได้ต่อวัน นโยบายเหล่านี้ของบริษัทฯ ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายที่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

            สหภาพแรงงานคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย (สร.คสบท.) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่จัดตั้งโดยพนักงานบริษัท รักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานไทย (บรท.) และมีสมาชิกสหภาพแรงงานฯใน 6 สนามบินทั่วประเทศไทย ได้แก่ สนามบินนานาชาติภูเก็ต หาดใหญ่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ เชียงใหม่ และแม่ฟ้าหลวง(เชียงราย) สหภาพแรงงานฯจะขอให้เกิดการเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง กรณีการที่บริษัทฯกล่าวว่า “การลาป่วยของลูกจ้างทำให้บริษัทฯขาดทุนเป็นเหตุให้บริษัทฯไม่จ่ายเงินโบนัสหรือเงินพิเศษต่างๆให้กับลูกจ้าง”  ทางสหภาพฯ “ขอยืนยันว่าการลาป่วยของลูกจ้างนั้น เมื่อลูกจ้างมีอาการเจ็บป่วย สามารถที่จะลาป่วยได้ตามจริง และได้รับความคุ้มครองสิทธิตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ควรถูกนำมาโยงกับการขาดทุนของบริษัทฯเพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของลูกจ้าง” 

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน