คนทำงานบ้านโอดนายจ้างหักค่าจ้างโหดวันละ 400 บาททั้งลาป่วย ลากิจ

คนทำงานบ้านโอดนายจ้างหักค่าจ้างโหดวันละ 400บาททั้งลาป่วย ลากิจ

กลุ่มคนทำงานบ้านเสนอกฎหมายคุ้มครองคนทำงานบ้านต้องมีสวัสดิการพื้นฐาน เท่าเทียมแรงงานในระบบ เนื่องจากนายจ้างละเมิดสิทธิแรงงาน หักค่าจ้างกรณีลาป่วยหาหมอ หรือลากิจธุระวันละ 400บาท ทำจานชามแตกก็หักเงินใบละ 100-200บาท บางรายถูกโกงค่าจ้าง เพราะไม่มีสัญญาจ้าง ใช้ทำงานสารพัด ทำงานไม่เป็นเวลาต้องตื่นก่อนนอนทีหลัง

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ได้มีการจัดสัมมนา เรื่อง สิทธิแรงงานคนทำงานบ้าน-ความคืบหน้าและทิศทาง ณ โรงแรมสยามซิตี้ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒินักวิชาการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่าเรื่องสิทธิคนทำงานบ้านนั้นได้มีความพยามที่จะร่างเป็นกฎกระทรวง ซึ่งก็ใช้เวลามานานหลายปีแล้วก็ยังไม่แล้วเสร็จ หากถามว่าทำไมกฎหมายกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีถึงไม่คุ้มครองคนทำงานบ้านด้วย ปัญหาคือ กฎหมายไม่คุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม มีข้อยกเว้นการคุ้มครองแรงงานหลายประเภทเช่นคนทำงานบ้าน ก็มีความหมายในกลุ่มที่ไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ หากเป็นคนทำงานบ้านแบบระบบบริษัทก็จะเข้าระบบคุ้มครองแรงงานได้รับค่าจ้าง สวัสดิการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นต้น

การประกาศเป็นกฎกระทรวงนั้นเป็นการบังคับใช้กฎหมายโดยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน เป็นอำนาจโดยตรงในการบังคับใช้ ไม่ต้องใช้เวลามาก และการออกกฎหมายทรวงก็จะมีการคุ้มครองเฉพาะแรงงานกลุ่มนั้นๆที่กฎหมายยกเว้นซึ่งได้มีการประกาศบังคับใช้ในแรงงานปิโตรเลียมที่ต้องไปทำงานกลางทะเล ไม่สามารถกำหนดเวลาการทำงานแปดชั่วโมงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎกระทรวงนี้ทำให้คนงานปิโตเลียมต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง  และมีกฎหมายกระทรวงที่ออกมาคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านอีกหนึ่งฉบับที่มีการบังคับให้ผู้รับงานต้องไปขึ้นทะเบียน นายจ้างต้องขึ้นทะเบียน ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังคงมีปัญหา

โดยสรุปคือ หากคนทำงานบ้านต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองในรูปแบบพระราชบัญญัติ หรือตราเป็นกฎหมาย ก็ต้องใช้เวลานาน ผ่านหลายขั้นตอน หรือจะเป็นกฎกระทรวงที่ออกมาคุ้มครองเฉพาะกลุ่ม หรือว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ให้คุ้มครอง เหมือนแรงงานในระบบ คือทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ  วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประเพณี ฯลฯ อันนี้ก็คงอยู่เสียงของคนทำงานบ้านที่จะส่งถึงรัฐให้มีการเปลี่ยนแปลง

นางสมร พาสมบูรณ์ประธานเครือข่ายคนทำงานบ้าน อายุ 52 ปี กล่าวว่า ปัญหาคนทำงานบ้านนั้น ทำงานไม่มีวันหยุด หากลางานก็ถูกหักค่าจ้างวันนี้ก็ถูกหักอย่างน้อย 500 บาท ก็หมดแล้วค่าจ้างเดือนนี้  เพราะตนมีค่าจ้างเดือนละ 8,000 บาทเท่านั้น ภาระค่าใช้จ่ายอื่นก็มีมาก การใช้สิทธิยามเจ็บป่วยก็ไม่มี ใช้บัตรทองรักษาฟรีก็ไม่ได้เพราะสิทธิอยู่ที่บ้านเกิดคือ จังหวัดสุรินทร  ไม่สบายก็ต้องจ่ายเงินรักษาเองนายจ้างไม่รับผิดชอบ หากลางานไปหมอก็ถูกหักเงินอีกด้วย นางสมรกล่าว

ปัญหาการทำงานที่ไม่เป็นเวลา ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ มีบางรายที่อยู่ในเครือข่ายฯถูกนายจ้างเบี้ยวค่าจ้าง เนื่องจากคนทำงานบ้านไม่มีสัญญาจ้างเป็นหนังสือ เป็นการทำสัญญาจ้างปากเปล่า เช่นบอกว่าจะให้วันละ 200 บาท แต่พอทำได้ครบเดือนจ่ายค่าจ้างตกวันละ 180 บาท สวัสดิการไม่มี อีกรายนายจ้างเป็นชาวต่างชาติหยุดงานกลับประเทศ 2 เดือน ให้คนทำงานบ้านไปทำงานที่บริษัทแทน โดยปิดบ้านพักไว้ เมื่อนายจ้างกลับมาก็กลับไปทำงานที่บ้านนายจ้างเช่นเดิมกลับถูกนายจ้างหาว่าละทิ้งหน้าที่ ไม่จ่ายค่าจ้างให้ 2 เดือนเท่าที่นายจ้างหยุด เมื่อลูกจ้างไม่พอใจก็ให้ไปฟ้องศาล ถามว่า “คนทำงานบ้านอย่างเราจะทำอย่างไรได้นอกจากคำว่าคงเป็นกรรมเวนแต่ชาติปางก่อน” ปัญหาคือคนทำงานบ้านไม่รู้กฎหมายไม่รู้ว่าจะไปร้องที่ไหนให้ใครช่วยเหลือ เคยไปร้องที่สำนักงานจังหวัดแห่งหนึ่งได้คำตอบว่าคนทำงานบ้านไม่มีกฎหายคุ้มครองจึงไม่ได้รับความช่วยเหลือ ขณะนี้ก็ได้มีการรวมกลุ่มกัน เพื่อช่วยเหลือกันเอง ให้คำปรึกษาหาความรู้ และเข้ามาร่วมผลักดันให้เกิดกฎหมายมาคุ้มครอง โดยมีข้อเสนอว่า

1.  ต้องการให้มีการจัดทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษ์อักษร เพื่อให้เกิดความคุ้มครองทางกฎหมายหากเกิดปัญหาการช่อโกง

2.  ให้มีการกำหนดมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ

3.  ให้มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดตามประเพณี

4.  ต้องการที่จะให้กฎหมายประกันสังคมขยายความคุ้มครอง

อยากมีสวัสดิการบาง เพราะคนทำงานบ้านไม่มีสวัสดิการอะไร นายจ้างดีก็ได้รับสวัสดิการบ้าง แต่นั้นเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะไม่มีสวัสดิการอะไรเลย บางคนมีการสมัครงานผ่านบริษัทจัดหางานก็จะต้องจ่ายค่านายหน้าทุกเดือนๆละ 2,000บาท เรื่องความปลอดภัยในการทำงานก็ไม่มีทั้งถูกคุกคามทางเพศ ซักผ้าก็แพ้ผงซักฟอก ล้างห้องน้ำแพ้น้ำยา เล่านี้ต้องรักษาตัวเองจ่ายเอง” นางสมรกล่าว

นางสิริวัน ร่มฉัตรทองเลขาธิการสภาองค์การนายจ้าง นำเสนอว่า กฎหมายแรงงานดูแลแต่แรงงานในระบบเท่านั้น และก็ควบคุมดูแลนายจ้างที่ทำตามกฎหมายเท่านั้น แต่ที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานมักจะเป็นสถานประกอบการที่ไม่ทำตามกฎหมาย เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก นอกสายตารัฐ เพราะเจ้าหน้าที่มีน้อยไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง “ยอมรับว่ามีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานจริง โดยเฉพาะคนทำงานที่อยู่ในโรงงานขนาดเล็ก ทั้งแรงงานข้ามชาติ แรงงานไทย เพราะคนงานที่ไม่รู้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายก็เป็นตำรวจ หากแจ้งความว่านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หักค่าจ้าง โกงค่าจ้าง หากตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่ดำเนินคดี กฎหมายก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ” นางสิริวันกล่าว

การที่จะมีกฎกระทรวง หรือกฎหมายออกมาคุ้มครองคนทำงานบ้านเป็นสิ่งที่ดี แต่ทุกอย่างอยู่ที่การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ส่วนนายจ้างเองก็ควรเข้าใจคนทำงานบ้านด้วยว่าหากไม่มีเขามาทำงานบ้านให้นายจ้างจะลำบากเพราะต้องทำงานนอกบ้าน และทำงานบ้านเอง นางสิวันกล่าวเพิ่มเติม

นายสาวิทย์ แก้วหวานเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจกล่าวว่า ปัญหาแรงงานที่มีอยู่นั้นมีทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ ถึงแม้ว่าตนจะทำงานรัฐวิสาหกิจแต่ประเด็นปัญหาแรงงานต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นก็ต้องทำงานร่วมในฐานะผู้นำแรงงาน การรวมกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญต่อการที่คนทำงานทุกกลุ่มจะมีอำนาจการต่อรอง ซึ่งการรวมกลุ่มของคนทำงานบ้านก็ต้องส่งเสียงว่าต้องการๆได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ซึ่งตนเห็นว่าควรเป็นฉบับเดียวกัน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ควรเหมือนกันไม่ควรแบ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ข้ามชาติ นอกระบบ คนทำงานบ้าน แค่มีการขยาย หรือยกเลิกบางมาตราที่มีการยกเว้นออกเสียก็ขยายความคุ้มครองสู่แรงงานทุกกลุ่ม การทำงานที่ไม่มีวันหยุดไม่เป็นเวลา ไม่มีการกำหนดค่าจ้าง สิ่งเหล่านนี้ทำให้คนทำงานบ้านถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งขณะนี้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานแม่บ้านมีมาก และถูกละเมิดสิทธิทั้งค่าจ้างต่ำ ไร้สวัสดิการ ไม่กล้าเรียกร้องเพราะกลัวถูกตำรวจจับเสียเองเป็นต้น  “คนทำงานบ้านมักทำงานไม่เป็นเวลาตื่นก่อนนอนทีหลังนายจ้าง วันหยุดก็ไม่มี และไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่รู้สิทธิ และอยู่ในบ้านนายจ้างทำให้การเข้าไปช่วยเหลือยากลำบากหากคนทำงานบ้านไม่สามารถออกมาส่งเสียงบอกคนข้างนอกได้ว่าเขามีสภาพเป็นอย่างไร”นายสาวิทย์กล่าว

รายงานโดยนักสื่อสารแรงงาน