วันที่ 25 ตุลาคม 2555 เวลา 17.30 น.ณ.ที่ ทำการสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง มีคนงานบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญจำกัด ผลิตถุงเท้าส่งออก ได้ประชุมหารือร่วมกันถึงสถานการณ์สภาพปัญหาในบริษัทฯ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ได้มีบริษัทรามาเท็ส์ไทล์ เข้ามาภายในบริษัทฯแล้วทำการขนเครื่องจักรออกไปประมาณ 11 เครื่อง รวมทั้งเส้นด้ายที่ใช้ทอถุงเท้า และนายจ้างยังมีการขนย้ายถุงเท้าบางส่วนออกไปอีก โดยไม่ทราบว่านำไปเก็บที่ไหน หรืออยางไร?
ในขณะเดียวกันได้มีการนำออเดอร์งานที่ลูกค้าสั่งเข้ามาส่งออกไปให้ทำข้างนอก ส่งงานออกไปรีด และตีกลับงานบางส่วนมาให้พนักงานซ่อม แต่ไม่มีการนำออเดอร์งานให้ผลิตทั้งๆที่พนักงานข้างในไม่ค่อยมีงานทำ จึงทำให้คนงานส่วนใหญ่รู้สึกสับสนว่า บริษัทฯมีปัญหา และไม่แน่ใจในความมั่นคงในการทำงาน
จากการที่ผู้แทนสหภาพฯได้เข้าร่วมประชุมกับทางบริษัทเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ได้รับคำตอบจากบริษัทฯแต่ยังไม่ชัดเจน ถึงแม้ว่า ในส่วนของค่าจ้างนายจ้างยังยังจ่ายให้กับพนักงานเป็นปกติ แต่คนงานยังกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นสาเหตุในการประชุมคนงานครั้งนี้
นางสาวสุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวงกล่าวว่า หากสถานการณ์ที่นายจ้างมีพฤติกรรมเช่นนี้ ก็คงต้องน่าให้คนงานตั้งข้อสังเกตได้ว่า นายจ้างอาจจะเตรียมทำอะไรกับกิจการของตนเองหรือไม่ การที่มีการขนของออกไปจากบริษัทฯทุกวัน ไม่รู้ว่าขนไปไว้ที่ใด และคนงานเหลืออยู่ในบริษัทฯอีกราว 40 คน กลับไม่มีงานทำ และสวัสดิการบางอย่างนายจ้างยังใช้การผ่อนจ่ายให้กับคนงาน และบางกรณีนายจ้างก็ลดสวัสดิการลง “คนงานส่วนใหญ่มีอายุ 40 กว่าปีขึ้นไป เงินค่าเกษียณอายุที่เกิดตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง กับบริษัทนครหลวงยิ่งเจริญฯ ยังมีคนงานที่เกษียณอายุไปแล้วอีกหลายคน ที่ยังไม่ได้รับเงินตามข้อตกลง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความกังวลถึงความมั่นคงในการทำงาน”
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า วันนี้ได้ไปยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พร้อมกับแจ้งไปยังสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงของบริษัทฯ กับสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว คนงานทุกคน ก็ต้องทำใจ เตรียมตัวและเตรียมใจกับสถานการณ์สภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้น แต่ทุกอย่างมีทางแก้ไข ต่อเรื่องกฎหมายประกันสังคมกรณี กรณีเกษียณอายุ การจ่ายเงินบำเหน็จ บำนาญ ชราภาพ ของผู้ประกันตนที่อายุ 60 ปี และได้ส่งเงินสมทบครบ15 ปี หรือ180 เดือนในพ.ศ.2557 นี้
หนึ่งในคนงานแผนกชักถุงเท้า กล่าวว่า ตนมาทำงานมาตั้งแต่พ.ศ. 2509 ตอนนี้อายุ 63 ปี ทำงานมา 47 ปี ทราบว่า สถานการณ์ บริษัทไม่มีความมั่นคงก็รู้สึกเสียใจ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสียดายเงินเกษียณอายุ ที่จะได้รับเพราะทำมาทั้งชีวิต หวังว่า จะเก็บเงินเกษียณไว้ใช้จ่ายตอนแก่เฒ่า
ส่วนคนงานแผนกรีดถุงเท้ากล่าวว่า ทำงานมา 10 ปีอายุ 42 ปี เสียใจว่า ตนคงต้องลำบากแน่เพราะหากบริษัทปิดกิจการลงจริงๆ อายุก็มากหางานก็ยาก อีกอย่างเป็นห่วงอนาคตลูก เพราะลูกๆ ทั้ง 3 คน ยังเรียนไม่จบกันเลย
นางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ กล่าวให้กำลังใจ คนงานว่า หากมีอะไรเกิดขึ้นกลุ่มฯจะไม่ทิ้งกัน จะช่วยเหลือซึ่งกัน และกันขอให้รักและสามัคคีกันไว้ เพื่อร่วมฝ่าฟันต่อสู้กับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตร่วมกัน พร้อมเป็นกำลังใจให้กันทุกๆคนและขอให้โชคดี
อนึ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างและสิทธิของลูกจ้าง กรณีการเลิกจ้าง โดยกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้างทั้งนี้ การเลิกจ้างได้ แก่ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและการที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป โดยมีเจตนารมณ์ในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างซึ่งต้องถูกเลิกจ้างให้ได้รับค่าชดเชย ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายให้ลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างเลิกกิจการ หรือลูกจ้างต้องออกจากงานเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดลง
จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยต่อเมื่อมีอายุงานตามเกณฑ์ ที่กำหนดดังนี้
1. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
2. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ1ปีแต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
3. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
4. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปีแต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
5. ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10 ปีขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน