คนงานไดนามิคสิ้นหวังได้รับค่าจ้างหลังน้ำลด

จากวิกฤติน้ำท่วมหนัก  ปี  54  ครั้งนี้ผ่านไป  หลายบริษัทได้มีการฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้  และให้คนงานได้กลับมาทำงานตามปกติ  แต่ก็ยังมีนายจ้างบางรายที่ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสแม้น้ำจะลดจนแห้งมาเป็นเดือนก็ยังไม่เปิดดำเนินการกระบวนการผลิต

วันที่  29  ธันวาคม  2554  จากการสัมภาษณ์  นางสาวนิรัตน์  การบูรณ์  ลูกจ้างบริษัทไดนามิค  โปรโมชั่น  จำกัด   ที่ตั้งพุทธมณฑลสาย  4  อ.กระทุ่มแบน  จ.สมุทรสาคร  ได้กล่าวว่า  ตั้งแต่เกิดน้ำท่วมบริษัทฯ จนไม่สามารถทำงานได้  เมื่อวันที่  2  พฤศจิกายน  2554 ได้มีการสั่งหยุดกิจการในช่วงน้ำท่วม  กรรมการสหภาพฯได้เข้าร่วมพูดคุยถึงการให้ความช่วยเหลือคนงาน  ขอให้บริษัทจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในช่วงหยุดงานวันละ  100  บาท เหมือนกับลูกจ้างที่บ้านถูกน้ำท่วมมาทำงานไม่ได้ก่อนหน้านี้  ซึ่งบริษัทก็ไม่ได้ปฏิเสธที่ลูกจ้างเสนอ  แต่เมื่อถึงงวดการจ่ายค่าจ้างนายจ้างไม่จ่ายเงินให้ลูกจ้าง

วันที่  1  ธันวาคม  2554  บริษัทไดนามิค  โปรโมชั่น  จำกัด  ได้ปิดประกาศเรื่อง  การปิดกิจการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด  อ้างเหตุเนื่องจากบริษัทฯ  เกิดความเสียหายอย่างมากจากน้ำท่วม  โดยไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือลูกจ้างในช่วงที่สั่งหยุดงาน    วันที่  2  ธันวาคม  2554  สหภาพแรงงานไดนามิคพลาส  ได้ไปร้องเรียนรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน  เรื่องนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตั้งแต่มีการสั่งหยุดงาน   วันที่  3 ธันวาคม  2554   กรรมการสหภาพแรงงานไดนามิคพลาส  และสมาชิกฯ  ได้เข้าไปพูดคุยกับตัวแทนบริษัทฯ โดยมีเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครเข้าร่วมรับฟัง    โดยกรรมการสหภาพฯได้เสนอให้นายจ้างมีการช่วยเหลือลูกจ้างในช่วงหยุดงาน  50  เปอร์เซ็น  ของค่าจ้าง  ด้วยเหตุว่าลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนและไม่มีรายได้  ลูกจ้างก็เข้าใจบริษัทฯถึงความเดือดร้อนแต่นายจ้างก็ต้องดูแลลูกจ้างด้วย  แต่ตัวแทนนายจ้างอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน และขอนำไปพิจารณาก่อน  ขอนัดพูดคุยอีกครั้งในวันที่  8  ธันวาคม  2554

วันที่  8  ธันวาคม  2554  เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร  ได้โทรมาหานางสาวสมทรง  บุญรักษา  ประธานสหภาพฯ  เพื่อให้ลูกจ้างเข้าไปพูดคุยที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร  โดยกรรมการสหภาพฯ  อ้างถึงการพูดคุยเมื่อวันที่  3 ธันวาคม  2554   ให้บริษัทฯ  ช่วยเหลือ  50  เปอร์เซ็น    ซึ่งลูกจ้างก็รับได้  แต่ตัวแทนบริษัทกล่าวว่าสามารถช่วยได้แค่คนละ  2,000  บาท  จนกว่าจะมีการเปิดงาน กรรมการสหภาพฯจึงขอกลับไปพูดคุยกับคนงานก่อน   วันที่  9  ธันวาคม  2554  เวลา  10.30 น.  กรรมการสหภาพฯได้นัดชี้แจงกับคนงาน  ซึ่งคนงานไม่พอใจกับเงินที่บริษัทช่วยเหลือ  แต่ก็ต้องจำใจยอมรับในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงมีการนัดจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างในวันที่  13  ธันวาคม  2554   เวลา  10.00 น.  สำหรับคนที่มารับไม่ได้ให้มาแจ้งชื่อที่ป้อมยามเพื่อรับเงิน  หรือมารับในวันที่บริษัทเปิดทำงานตามปกติ

วันที่  29 ธันวาคม  2554  สหภาพแรงงานไดนามิคพลาส  ได้มีการทำหนังสือทวงถามถึงบริษัทฯ  เรื่องขอทราบกำหนดการเปิดดำเนินกระบวนการผลิตของบริษัทไดนามิค  โปรโมชั่น  จำกัด  ซึ่งในขณะนี้สถานการณ์ได้เข้าสู่ภาวะปกติแต่บริษัทฯ  ยังไม่มีทีท่าว่าจะเปิดงานให้คนงานทำ    นางสาวนิรัตน์  การบูรณ์   ตั้งข้อสังเกตุว่า

1.บริษัทฯ  ชะล้าใจในการเตรียมแผนป้องน้ำท่วม

2.บริษัทฯ  ไม่มีการปรึกษาหารือร่วมกับคนงานในการป้องกัน

3.บริษัทฯ  อาศัยวิกฤติน้ำท่วมให้เป็นโอกาส  ในช่วงน้ำท่วมที่มีงานน้อย  ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต

    ผลกระทบที่เกิดขึ้น

–   สภาพจิตใจย่ำแย่  เครียด  วิตกกังวล  เพราะขาดายได้

–   ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง  ไม่มีเงินส่งทางบ้าน

–    เป็นหนี้เพิ่ม   ต้องกู้เงินเพื่อมาดำรงชีพให้สามารถอยู่ได้

–   กลัวตกงาน  นายจ้างจะปิดงานหรือไม่

สภาพปัญหาโดยรวม

           นางสาววิไลวรรณ   แซ่เตีย    รองประธานคณะกรรมการสมานฉันแรงงานไทย  ได้กล่าวว่า  คนงานบริษัทไดนามิค  โปรโมชั่น  จำกัด    ส่วนมากเป็นผู้หญิง  เมื่อนายจ้างสั่งหยุดงาน  2  เดือน  โดยไม่มีวี่แววว่าจะจ่ายค่าจ้าง  75  เปอร์เซ็น ซึ่งคนงานบางส่วนต้องกลับไปอยู่บ้านเพราะไม่มีรายได้    ที่ผ่านมาได้มีการไปยื่นหนังสือกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน  ทำให้คนงานมีความหวัง

           1.ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร  มีความกระตือรือร้นอยู่พักเดียว  ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะแก้ไขปัญหาให้กับลูกจ้าง  2  เดือนที่ผ่านมาไม่มีความคืบหน้าว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างหรือไม่

           2.น้ำลดแล้วนายจ้างยังไม่มีวี่แววว่าจะเปิดงาน

           3.ภายในปีใหม่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนคงต้องไปที่กระทรวงแรงงานเพื่อขอความชัดเจน  กับสิ่งที่รัฐมนตรีเคยรับปากไว้

           4.ภาครัฐมีความเห็นใจนายจ้างมากกว่า  ที่จะเห็นใจลูกจ้างทั้งที่ลูกจ้างมีความเดือดร้อนในชีวิตความเป็นอยู่

  นางสาวดาวเรือง   ชานก   นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่   รายงาน