คนงานอยุธยาอ่วม ทั้งเลิกจ้าง และไม่จ่ายค่าจ้าง ย้ายงานหนี

กลุ่มแรงงานอยุธยาสรุปหลังน้ำลด คนงานแย่ การแก้ไขปัญหาไม่คืบ รับเรื่องร้องทุกข์อื้อ

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ที่สำนักงานกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา และใกล้เคียง ได้มีการจัดประชุมฉุกเฉินสรุปปัญหาคนงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอุดม ไกรย์ราช ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานฯกล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัญหาคนงานหลังน้ำลด ยังคงไม่มีความชัดเจนจากนายจ้างในการที่จะรับคนงานกลับเข้าทำงาน และการจ่ายค่าจ้าง และมีการเลิกจ้างคนงานจำนวนมาก ทางกลุ่มจึงได้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อรับฟังปัญหา และช่วยกันหาทางแก้ไข

นายจำลอง ชะบำรุง ผู้ประสานงานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม กล่าวว่า ผลจากการที่มีการเปิดศูนย์ช่วยเหลือฯ ทำให้เกิดการทำงานของกลุ่มที่กว้างมากขึ้น เมื่อคนงานมีปัญหาก็จะโทรศัพท์เข้ามาร้องทุกข์ให้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้มีการร้องคร.7 ตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์กันจำนวนมากที่สวัสดิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่องนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง การเลิกจ้าง การไม่เลิกจ้างให้คนงานเขียนใบลาออกจากงาน แต่จ่ายเงินค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย อันนี้คนงานเสียสิทธิเรื่องประกันสังคมกรณีว่างงาน หากเลิกจ้างได้ 6 เดือน เงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 หากคนงานลาออกเองได้เงินทดแทนร้อยละ 30 เพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมนายจ้างไม่เลิกจ้าง แต่ใช้วิธีให้ลาออกเอง

อีกปัญหาคือนายจ้างไม่จ่ายสวัสดิการตามสภาพการจ้างเดิมที่เคยตกลงไว้ อันนี้คิดว่าอาจมีการฟ้องร้องกันอีกภายหลัง การใช้กฎมายมาตรา 75 ให้คนงานหยุดงานชั่วคราว จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ซึ่งตามเอกสารที่ทางแรงงานจังหวัดได้ให้แนวไว้ ซึ่งเป็นแนวของการขอความร่วมมือกับนายจ้าง รวมทั้งเรื่องการทำความร่วมมือไม่เลิกจ้างคนงานจ่ายให้บริษัทตามจำนวนคนงาน คนละ 2,000 บาท เพื่อเป็นการช่วยค่าจ้างให้นายจ้างจ่ายให้คนงาน อันนี้ก็มีคำถามว่าทำไมไม่ให้คนงาน ที่อยุธยามีซักกี่โรงงานที่เข้าร่วมโครงการ แล้วที่ไม่เข้าร่วมโครงการถือว่าเลิกจ้างใช้ไหม

จากการที่ได้พาคนงานบริษัทซีดี คาร์ตอน ไปร้องเรียนที่กระทรวงแรงงานกรณีไม่ได้รับค่าจ้าง และบริษัทไม่ให้ความชัดเจนเรื่องอนาคตว่าจะให้มีการทำงานต่อหรือไม่ ก็ไม่มีคำตอบในการให้ความช่วยเหลือจากรัฐที่ชัดเจน ซึ่งจะมีการเจรจากันกับทางนายจ้าง ซึ่งแนวโน้มคิดว่าคนงานคงตกงานอีก

นางสาวพีระกานต์ มณีศรี ประธานสหภาพแรงงานยาและเวชภัณฑ์ กล่าวว่า ขณะนี้ในส่วนของบริษัทที่ตนทำงานอยู่ยังไม่เปิดดำเนินการอยู่ในช่วงของการปรับปรุงฟื้นฟู นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้คนงานที่ร้อยละ 75 ไม่มีการเลิกจ้าง เพราะคิดว่าหลังเปิดเดินเครื่องคงต้องเร่งการผลิต เพราะตอนนี้ยาขาดตลาด ส่วนในผลิตในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ยังเปิดเดินเครื่องการผลิตน้อยมาก ไม่กี่โรงงาน ส่วนบริษัทนมได้มีการย้ายการผลิตไปที่ลพบุรีแล้ว

นายประวิทย์ โพธิ์หอม ประธานสหภาพแรงงานนากาซิมา กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมทางบริษัทได้มีการย้ายการผลิตบ้างส่วนไปที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งแม้วันนี้น้ำยุบลงแล้ว การผลิตยังไม่สามารถเปิดได้เต็มที่ มีคนงานถูกเรียกกลับเข้าทำงานบางส่วน ทางบริษัทได้มีการจัดประชุมคนงานทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ยังมีคนงานราว 500 คนยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน

นายสมเกียรติ ลอยโต ประธานสหภาพแรงงานคุมิ ไทยแลนด์ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนะนคร ยังไม่ได้เปิดการผลิตทั้งหมดเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในบริษัทที่ตนทำงานอยู่ ก็มีการเลิกจ้างในส่วนของคนงานเหมาค่าแรงตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม ตอนนี้การผลิตกำลังเร่งส่งชิ้นส่วนให้กับทางบริษัทฮอนด้าประเทศไทย

นายอำนาจ บัวเสือ รองประธานสหภาพแรงงานฮอนด้า เล่าว่า บริษัทได้มีการทำลายรถที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด และขณะนี้ได้มีการสั่งนำเข้าเครื่องจักรหุ่นยนต์ เพราะอันเดิมน้ำท่วมเสียหาย  โดยช่วงเดือนมกราคมนี้ได้มีการชี้แจงการทำงานกับคนงาน และร่วมกันตรวจด้านความพร้อมในการทำงาน คงจะเปิดการผลิตได้ต้นเดือนเมษายน 2555 ทางบริษัทได้มีการจ่ายค่าเสียหายจากภัยน้ำท่วมให้กับคนงานทุกคน คนละ 5,000 บาท ทั้งคนงานประจำ และคนงานเหมาค่าแรง

นางสาวเจนจิรา ทองเงา สหภาพแรงงานไอพีอี เล่าว่า ในส่วนของตนขณะนี้เป็นปกติแล้ว หลังจากที่ได้ออกข่าวเรื่องนายจ้างจะมีการลดคนงานด้วยการเลิกจ้างทางไทยพีบีเอส ขณะนี้ไม่มีการเลิกจ้างแล้ว งานตอนมีมีออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก

นายอุดม ไกรย์ราช ภาพรวมของปัญหาแรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในนิคมอุตสาหกรรมเกือบทุกแห่งมีการเปิดการผลิตน้อยมาก ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู แต่ปัญหาที่น่าห่วงตอนนี้มีการย้ายการผลิตบางส่วนไปที่ระยอง เช่น บริษัทนิเด็ค อีเล็คโทรนิคส์ ในนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ส่วนบริษัทเซไดคาเซ ประเทศไทยก็มีการย้ายงานไปที่ปราจีนบุรี ซึ่งเดิมมีการเปิดโรงงานผลิตบางส่วนอยู่บ้าง แต่ลูกจ้างที่อยู่ในจังหวัดอยุธยาขณะนี้ยังไม่ได้รับค่าจ้าง เช่นเดียวกับบริษัท ซันแฟลค (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีการเลิกจ้างคนงานที่อยุธยาเกือบหมด เหลือคนงานประมาณ 50 คนเท่านั้น และมีโรงงานนมมะลิที่ย้ายไปผลิตที่จังหวัดลพบุรี นี้เพียงเบื้องต้น

ต่อมาวันนี้ (13 มกราคม 2555) นางปราณี  ไชยเดช แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านแรงงาน     ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังวิกฤตอุทกภัยได้คลี่คลายลงว่า ภาคอุตสาหกรรมได้รีบเร่ง กอบกู้ ฟื้นฟู เพื่อให้กลับมาดำเนินการได้โดยเร็ว ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงพยายามรักษาพนักงานไว้ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการขาดแคลนแรงงานเมื่อกลับเข้าสู่ระบบการผลิตได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2554 มีผู้มาลงทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว จำนวน 12,000 คน เพื่อขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม โดยกรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้าง ระยะเวลา 180 วัน กรณีลาออกได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้าง ระยะเวลา 90 วัน โดยคำนวณจากฐานเงินเดือนเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนที่มีการนำเสนอว่าโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการเลิกจ้างงานจำนวนมาก พร้อมเตรียมย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นบางส่วนนั้น ได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารญี่ปุ่นที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะว่าจะไม่มีการเลิกจ้างงานและจะยังคงตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยต่อไป (กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
วนิดา คล้ายศรี–ข่าวกระทรวงแรงงาน)

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน