คนงานลาวเฝ้าโรงงานร้องลูกอ่อนไม่มีนมกิน สมานฉันท์เตรียมช่วยแรงงานกว่า 3,000 ใกล้อด

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) นำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธาน  น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธาน  นายยงยุทธ เม่นตะเภา กรรมการ รวมทั้งนางสุนี ไชยรส กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เจ้าหน้าที่แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. และคณะสื่อสารแรงงาน ลงพื้นที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่แยกบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์และหารือถึงมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป

นายชาลี กล่าวในการประชุมหารือว่า คสรท. ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.เพื่อทำโครงการฯสนับสนุนการทำงานของศูนย์พื้นที่ในการช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งปัญหาคงยังไม่จบง่ายๆ นอกจากช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการกินอยู่แล้ว หลังน้ำลดคงเป็นเรื่องเดือดร้อนอื่นเช่น เรื่องการงาน รายได้ สิทธิต่างๆ  ซึ่งจะต้องรวบรวมปัญหาผลักดันต่อกับรัฐบาลไป

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า  ส่วนกลางจะมีคนลงพื้นที่ประจำ คือ นายชาลี และนายยงยุทธ  คนอื่นจะช่วยจัดการงานด้านอื่นๆ ต่อไปจะจัดงบประมาณมาสนับสนุนการทำงานของพื้นที่  ซึ่งต้องช่วยกันหาคนมาช่วยกันทำงานช่วยเหลือพี่น้องแรงงานผู้ประสบภัย

ด้าน น.ส.พีรกานต์ มณีศรี ผู้ประสานงานหลักของศูนย์ช่วยเหลือบางปะอินฯกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้นำสหภาพแรงงานในกลุ่มอยุธยามาช่วยกันทำงานประจำอยู่ที่ศูนย์ 17 คน  สถานการณ์ที่ศูนย์ฯ แรกๆจะมีของแจกอย่างเพียงพอเพราะมีการบริจาคเข้ามามาก โดยเฉพาะในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งมีคาราวานแรงงานขนสิ่งของมาบริจาคพันกว่าชุด  ตอนนี้บางวันไม่มีของแจกเพราะของหมดเนื่องจากมีการบริจาคเข้ามาน้อยลง  ส่วนวิธีการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่เต็นท์ จะใช้วิธีให้คนที่มารับของบริจาคลงทะเบียนซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้วประมาณ 1,300 คน  มีทั้งคนงานไทยและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งชาวบ้านที่แวะเวียนมาขอรับ  ทุกๆ 3 วันแจกไปประมาณ 1,200 ชุด  ส่วนการออกไปตระเวณแจกสิ่งของตามจุดต่างๆที่มีแรงงานติดค้างอยู่ตามห้องพักและที่ต่างๆ  จะใช้เรือขนของสลับออกไปตามจุดต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีจำนวนรวมกันประมาณ 3,000 คน  โดยเมื่อวันก่อนก็มีคนงานทางนวนคร จ.ปทุมธานี ติดต่อมาให้ไปช่วยเหลือซึ่งก็ได้ช่วยเหลือถุงยังชีพไปราว 200 ชุด 

นางสุนีกล่าวว่า การหาข้อมูลตัวเลขผู้เดือดร้อนทั้งหมดอย่างชัดเจนจะช่วยเรื่องการจัดหาอาหารการกินเฉพาะหน้า และต่อไปก็จะหาทางช่วยแก้ปัญหาของแรงงานภายหลังน้ำลดแล้ว

ที่ประชุมกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยในวันอังคารที่ 2 พ.ย.2554  เพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดประเด็นสำหรับการแถลงข่าวในวันพุธที่ 3 พ.ย.2554 รวมทั้งหารือการทำงานร่วมและการวางระบบบริหารจัดการในพื้นที่ทั้งเรื่องการช่วยเหลือเฉพาะหน้า และการจัดเก็บข้อมูลของคนงานเพื่อการวางแผนแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ทางด้านผู้ประสบภัยที่แวะเวียนมารับสิ่งของบริจาคนั้น  นางศันสนี เพ็ชรมณี แรงงานหญิงชาวลาวโรงงานเสาเข็ม อายุ 19 ปี ชาวเวียงจันทร์ เล่าว่า เดินทางมาจากเวียงจันทร์ ประเทศลาว มาทำงานที่พระนครศรีอยุธยากับญาติพี่น้องกว่า 10 คน ได้เงินเดือน 5,500 บาท ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ หลังจากน้ำท่วมโรงงานเมื่อประมาณกลางเดือนนายจ้างได้ประกาศปิดโรงงาน เดิมมีคนงานประมาณ 300 คน ตอนนี้ที่ยังอยู่ร่วมกันประมาณ 50 คน มีทั้งคนงานไทย และลาวเป็นผู้หญิง 20 กว่าคน และมีเด็กๆอยู่ด้วยหลายคน

นางศันสนี เล่าอีกว่า ทุกวันนี้ต้องอยู่ช่วยกันเฝ้าดูแลรักษาโรงงาน นายจ้างบอกว่าจะให้ค่าจ้างหลังน้ำลด  แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครได้ค่าจ้าง แต่ก็เข้ามาดูแลคนงานอย่างดี  เอาอาหารมาส่งให้ทุกวันเป็นอาหารตามสั่ง  ขณะนี้รู้สึกอยากกินส้มตำมาก  รู้ว่าที่ศูนย์มีคนบริจาคพวกผักผลไม้สวน จึงเดินมาขอมะละกอและเครื่องปรุงกลับไปทำกินร่วมกัน

หนึ่งในคนงานลาวที่มีลูกอ่อนอายุ 1 ปี 8 เดือนเล่าว่า  ขณะนั้ที่ห่วงคือลูกไม่มีนมกิน ต้องกินไวตามิลค์แทน ตอนนี้ลูกไม่สบายมีไข้ ไอ และน้ำกัดเท้าน่าสงสารลูกมาก

ส่วนคนงานไทยรายหนึ่งที่ทำงานทีเดียวกันเล่าต่อว่า วันนี้เราอยู่ร่วมกันทำอาหารกินด้วยกัน นายจ้างได้ขอร้องว่าไม่ให้ทิ้งโรงงาน ให้ช่วยดูแลไว้ก่อน โดยบอกว่าน้ำยุบจะให้ค่าจ้าง และพร้อมเปิดงานทันที แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเปิดได้เร็วหรือไม่เพราะขณะนี้น้ำท่วมภายในโรงงานทั้งหมด

ทั้งนี้ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานบางปะอินแห่งนี้มีความต้องการนมผงสำหรับเด็กอ่อน 200 คนอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี ซึ่งนมผงเด็กที่ขาดและมีความต้องการมาก คือ วันทูโก สูตร2 และ 3 สำหรับเด็กอ่อน และ S 26 สูตร 1 สำหรับเด็ก 2 เดือนที่ไม่สามารถกินนมแม่ได้  โดยที่ศูนย์มีผู้มาขอนมให้เด็กประมาณ 200 คนต่อสัปดาห์  เด็กอายุตั้งแต่ 2 เดือน ถึง 3 ขวบ โดยมีเด็กอายุตั้งแต่ 3-6 เดือน ประมาณ 20 คน เด็ก 6-1 ปี 100 คน และ เด็ก 1-3 ปีมี 80 คน และยังมีเด็กโตที่ไม่สามารถระบุตัวเลขได้จำนวนหนึ่ง ทุกวันนี้มีแม่มาลงชื่อขอนมผงให้ลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งรวมลูกของทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ และชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน