ข้ามชาติ-ไทยจับมือรณรงค์วันแรงงานข้ามชาติสากล

เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ จัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล เรียกร้องรัฐแก้สิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้เอื้อต่อแรงงานข้ามชาติ พบช่องโหว่ที่ทำให้แรงงานไม่ได้รับการดูแลเพียบ พร้อมเสนอขยายเวลาการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติและขอให้ปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมคนทำงานบ้าน และงานประมง

16 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล  18 ธันวาคม 2555 ประกอบด้วย เครือข่ายพัฒนารูปแบบ กลไกหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) เครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติ(MWG) แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อยฯ รังสิตฯ สระบุรี และภาคตะวันออก มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิร่วมมิตรไทย – พม่า มูลนิธิเครือข่ายคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) มูลนิธิMAP โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย หน่วยพัฒนา และบรรเทาทุกข์แห่งประเทศไทย(ADRA)ได้ร่วมกันจัดงานวันแรงงานข้ามชาติสากล ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพมหานคร โดยช่วงเช้า เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทยร่วม 200 คน ได้เดินรณรงค์จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิงและผู้ประสานงานคณะกรรมการจัดงานฯได้แถลงว่า วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” ซึ่งได้ถูกกำหนดขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ.1997 เพื่อสร้างความตระหนักและปกป้องสิทธิจากการถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานข้ามชาติในภาคส่วนต่างๆของโลก เป็นที่ชัดเจนว่า “แรงงานข้ามชาติ” คือ กลุ่มคนที่มีส่วนในการสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างน้อย 5 % ของ GDP แต่ในแง่คุณภาพชีวิตแล้วประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง  เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิหลายด้าน ได้แก่ การถูกให้ทำงานหนักแต่รับค่าแรงต่ำ การทำงานที่ไม่ปลอดภัย ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สกปรก เข้าถึงบริการรักษาพยาบาล ถูกกีดกันเรื่องการศึกษารวมทั้งไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย แม้มีบัตรอนุญาตทำงาน และยังมีแรงงานจำนวนมากถูกหลอกลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางกายและทางเพศ ถูกรังแกและเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชาในประเทศไทย เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากประมาณ 6 แสนคนในปี 2544 เป็น 1.2 ล้านคน ในปี 2555 ร้อยละ 80 เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า เป็นที่ทราบดีว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเพื่อรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางเรียบร้อยแล้ว แรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 1.1 ล้านคน แต่โดยข้อเท็จจริงจำนวนดังกล่าวยังห่างไกลจากความเป็นจริง ณ เดือนพฤศจิกายน 2555 กระทรวงแรงงานระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 530,156 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วทั้งสิ้น 217,972 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานสัญชาติพม่า 103,799 คน กัมพูชา 40,935 คน และ ลาว 8,826 คน นอกจากนี้แล้วก็ยังคงเหลือแรงงานข้ามชาติที่จะต้องเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติอีก 886,507 คน ( พม่า 565,058 คน ลาว 99,019 คน กัมพูชา 222,430 คน) ด้วยเช่นเดียวกัน 

กล่าวได้ว่าเนื่องด้วยข้อจำกัดจากกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และรวมทั้งระบบประกันสังคมประเทศไทยเป็นระบบสวัสดิการระยะยาวที่คุ้มครองในระหว่างการทำงานจนถึงวัยชราภาพ หรือหลังเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มที่เป็น “พลเมืองไทย” ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรมากกว่า แต่สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติแล้ว ที่มีลักษณะจำเพาะของการจ้างงาน คือ อยู่อาศัยและทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น และจะต้องกลับไปประเทศต้นทาง แรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิประโยชน์ในรูปแบบไหน นอกจากนี้ในประเด็นสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ก็พบว่า มีปัญหาของระบบประกันสังคมที่ไม่สอดคล้องกับนโยบาย กฎหมายแรงงานต่างด้าว 2551 คือแรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง และไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง หรือกรณีการเปลี่ยนตัวนายจ้างใหม่ หรือถูกให้ออกจากงาน ลูกจ้างต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วัน ถ้านายจ้างเลิกจ้างเพราะไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง แรงงานจะเข้าถึงบริการจัดหางาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือเงินทดแทนการขาดรายได้ได้อย่างไร ถ้าต้องรีบหานายจ้างใหม่โดยเร็วหรือต้องถูกส่งกลับซึ่งประเด็นปัญหาสำคัญเหล่านี้ ยังขาดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

ในนามของ “คณะทำงานเพื่อพัฒนารูปแบบ กลไก หลักประกันทางสังคม ที่เหมาะสมสำหรับแรงงานข้ามชาติ” ได้ตระหนักร่วมกันว่าภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็น “พลเมือง” หรือ “ไม่ใช่พลเมือง” ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การมีความมั่นคงทางสังคม และการเข้าถึงระบบประกันสังคมที่เป็นธรรม คณะทำงานฯจึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ ที่ต้องการให้รัฐบาลไทยภายใต้กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไขดังนี้

หนึ่ง รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ภายใต้สำนักงานประกันสังคม ต้องปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์ พัฒนารูปแบบ กลไก การเข้าถึงประกันสังคมที่เป็นธรรม เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว

สอง หลังวันที่ 14 ธันวาคม 2555  จะมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่จะต้องถูกผลักดันกลับประเทศเพราะไม่สามารถขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติได้ทันตามกำหนดเวลา ดังนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจึงควรทบทวนระเบียบและขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของแรงาน อีกทั้งควรขยายเวลาในการพิสูจน์สัญชาติออกไปอีก เพื่อให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากสามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติได้ทัน

สาม รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน ต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้คุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทย ที่มีอาชีพทำงานบ้าน และงานประมง โดยเสนอให้ตัดเนื้อหาในกฎหมายที่บอกว่า ยกเว้นไม่คุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน และทำงานประมง เพราะแรงานเหล่านี้ต้องทำงานที่หนักมาก มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และเป็นงานสกปรก

ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของทุกคน ดังนั้นทุกคนจึงมีความชอบธรรมในการเข้าถึงประกันสังคมอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำทุกวิถีทางที่จะสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสิทธิและการคุ้มครอง ซึ่งครั้งนี้ได้มีการยื่นหนังสือข้อเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ผ่านนายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ การรณรงค์ของเครือข่ายครั้งนี้ก็เพื่อการสร้างทัศนคติที่ดี และสร้างความเข้าใจให้กับสังคมกับแรงงานข้ามชาติ มีการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ วิสัชนา การเข้าถึงประกันสังคมที่เป็นธรรมของแรงงานข้ามชาติในอาเซียน พร้อมกับการแสดงทางวัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติในชุดรำมอญ กะเหรี่ยง ปะโอ และอารากัน และการแสดงดนตรีเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน