นายจ้างเมินสวัสดิการ จ.สมุทรสาคร เบี้ยวจ่ายแรงงานพม่า ไม่เรียกทำงาน คาดทนไม่ได้ออกเอง

ลูกจ้างชาวพม่าร้องศูนย์ช่วยเหลือแรงงานอ้อมน้อย  นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย 50%   เคยร้องสวัสดิการแรงงานจังหวัดสมุทรสาครแต่นายจ้า้งเมินไม่เรียกกลับเข้าทำงาน บอกรอได้ก็รอ ยังไม่มีงานให้ทำ  ลูกจ้างเครียดหวั่นให้รอเป็นปีทำหนี้บาน  นักกฎหมายศูนย์ฯชี้ฉวยโอกาสจากวิกฤตน้ำท่วมเอาเปรียบลูกจ้างต่างชาติหวังทนไม่ได้ลาออกไปเอง  แนะลูกจ้างตรวจสอบสิทธิก่อนดำเนินการต่อไป

เมื่อเวลา 15.00 น. วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2554 มีคนงานไทย และข้ามชาติชาวพม่าเกือบ 20 คน มาร้องทุกข์ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม อ้อมน้อย สมุทรสาคร ว่า “ตนเองและเพื่อนๆไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเวลา 3 วัน ตั่งแต่วันที่ 1 -3 พฤศจิกายน 2554 และนายจ้างโทรให้ไปรับค่าชดเชย 50% แต่ไม่รู้ว่าเป็นเงินชดเชยอะไรนายจ้างไม่ได้บอก? และนายจ้างก็จ่ายค่าชดเชยให้แต่กับคนงานไทย จำนวน 14 คน แต่ในส่วนของคนงานพม่านั้น นายจ้างไม่ได้จ่ายให้ทั้งค่าแรงและค่าชดเชย ตนเองกับเพื่อนๆ จึงเดิมทางมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์ฯ ว่าจะทำอย่างไรดี เนื่องจากได้ไปร้องที่ เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสมุทรสาคร ให้เข้าไปทำงานตามปกติ แต่นายจ้างให้เหตุผลว่า ยังไม่พร้อมที่จะเปิดให้ทำงาน และไม่มีกำหนดที่จะเปิด หากลูกจ้างรอได้ก็รอไป ถ้ามาทำงานก็ไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะโรงงานยังไม่เปิด” น.ส.มด กล่าว

คนงานทำงานอยู่ที่ บริษัท เอเวอร์กรีน จำกัด บริษัทผลิตอุปกรณ์ระบบประปา PVC เช่น ก๊อกน้ำ วาล์วน้ำ มีจำนวนพนักงานประมาณ 80 คน เป็นคนไทย 30 คน เป็นแรงงานข้ามชาติ จำนวน 50 คน มีพนักงานรายเดือนมีฐานเงินเดือน 10,000 บาทขึ้นไป และพนักงานรายวันขั้นต่ำ วันละ 215 บาท ขึ้นไป แล้วแต่อายุงานไม่เท่ากัน 

นายกบ  (นามสมมุติ) เล่าว่า “ตอนที่บริษัทน้ำท่วม บ้านเช่าของตนเองก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน ไม่ได้อยู่ช่วยนายจ้าง นายจ้างเลือกเฉพาะคนงานที่พักอยู่ในโรงงานกลับเข้าไปทำงาน ส่วนคนงานที่ไม่ได้ช่วยเหลือนายจ้างในช่วงนั้นก็ยังไม่ได้รับการยืนยันจากนายจ้างว่า จะได้กลับเข้าไปทำงานหรือไม่ แต่อย่างใด  ในวันที่ 10 ธันวาคม 54 ได้เข้าไปคุยกับนายจ้างว่า จะได้เข้าไปทำงานเมื่อไหร่ วันไหน รายละเอียดเป็นอย่างไร และถ้าไม่จ้างผมผมจะทำอย่างไร “

“ผมรู้สึกเครียดมากเลยที่ไม่มีความชัดเจนจากนายจ้าง ไม่รู้ว่าเค้าจะเอาอย่างไร จะจ้างหรือเลิกจ้างเค้าก็ไม่บอก หลังจากที่คุยกันในวันนั้นเค้าก็ไม่คุยกับพวกผมอีก เค้าบอกอย่างเดียวให้รอ รอเป็นเดือน เป็นปี รอได้ก็รอนะ”นายกบ กล่าว

น.ส.ซออู้ (นามสมมุติ) กล่าวว่า “หนูไม่มีเงินใช้เลย หนูไปยืมเงินเพื่อนมา 5,000-6,000 บาทแล้ว จ่ายค่าห้อง 2,000 บาท ในช่วงน้ำท่วมหนูไม่ได้รับค่าแรง 3 วัน ค่าชดเชยที่คนไทยเค้ารับ 50%  หนูก็ไม่ได้กะเค้า หนูทำงานที่นี้มา 3 ปี แล้ว หนูเครียดไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้เหมือนกัน”

นายตุลา  ปัจฉิมเวช เจ้าหน้าที่ฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ กล่าวว่า นี่เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ฉกฉวยโอกาสจากวิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดสมุทรสาคร ใช้วิกฤตนี้เพื่อยืดเวลาการเปิดงานของตัวเองออกไปโดยไม่มีกำหนดวันเวลาที่ชัดเจนให้กับลูกจ้างกับคำพูดที่ว่า “รอได้ก็รอ รอไม่ได้ก็ไป”สุดท้ายลูกจ้างทนแบกรัยภาระไม่ไว้ก็ต้องมาขอลาออกจากบริษัท นายจ้างก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

นายตุลา ปัจฉิมเวช ได้ให้คำปรึกษาแก่คนงานเบื้องต้นว่า “ให้คนงานไปตรวจสอบสิทธิ ว่าคนงานมีสิทธิที่จะได้อะไรบ้าง เนื่องจากนายจ้างไม่มีหนังสือเลิกจ้างให้คนงาน และให้เข้าไปทำงานตามปกติและให้ดูว่านายจ้างจะมีปฏิกิริยาอะไรกับคนงาน ถ้ามีให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่นั้นบันทึกให้ว่าคนงานเข้าไปทำงานตามปกติ แต่เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบอกว่า ไม่ต้องเข้าไปที่ทำงานแล้ว ก็ให้คนงานไปเขียนคำร้อง คร.7 ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดังนี้

1.    ค่าจ้าง 3 วัน

2.    วันหยุดพักผ่อนประจำปี 6 วัน (ซึ่งนายจ้างไม่จัดให้เป็นวันหยุดแต่คิดเป็นค่าแรงให้แค่ 1 วัน ซึ่งตามจริงต้องจ่ายให้ 2 แรง)

3.    ค่าชดเชย

4.    ค่าตกใจไม่แจ้งไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 23 วัน X ค่าแรง

ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ ให้คนไทยพาไปดำเนินการพร้อมกับให้ตรวจสอบ คร.38 ว่า หมดอายุหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่หมดอายุ และนายจ้างดำเนินการเก็บเงินไปแล้ว

เบื้องต้นให้ประสานไปที่มูลนิธิรักษ์ไทย เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เป็นองค์กรมีล่าม โดยตรง สามารถประสานได้ เนื่องจากกรณีบัตรหมดอายุ จะได้ช่วยเหลือได้ก่อนที่จะถูกจับเพราะบัตรหมดอายุ

อัยยลักษณ์ เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน