ข้อเสนอต่อแนวทางการเมือง คสรท.

hqdefault

เรียน ประธานและคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

ตามที่ขณะนี้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและได้ยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาล ซึ่งสถานการณ์ได้เข้าสู่ความรุนแรงจนเกิดการสูญชีวิตและบาดเจ็บของมวลชนที่สนับสนุนทั้งสองฝ่ายแล้ว

โดยแม้ว่า เหตุการณ์จะเริ่มคลี่คลายในวันที่ 3 ธ.ค. แต่ผู้นำของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ก็แถลงว่าจะยังคงขับเคลื่อนมวลชนต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ในฐานะที่ คสรท.เป็นองค์กรแรงงานที่ประกาศยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและยึดแนวทางต่อสู้แบบสันติวิธีมาโดยตลอด จึงควรแถลงท่าทีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันหยุดยั้งความรุนแรงอันจะทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ดังที่ คสรท.เคยแถลงการณ์ปฏิเสธรัฐประหารและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงมาแล้วในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา และควรแจ้งต่อสมาชิกของ คสรท.ทุกองค์กรให้พิจารณาหาแนวทางในการขับเคลื่อนด้วยวิถีทางแห่งสันติอย่างแท้จริง เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ดังที่มีหลายฝ่ายพยายามเสนอทางออกให้กับสังคมอยู่ในขณะนี้

จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา

ด้วยความสมานฉันท์

วิชัย นราไพบูลย์

กรรมการอำนวยการ คสรท. และกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ที่ 4 คสรท.

4 ธันวาคม 2556

……………………………………….

เรื่อง ข้อเสนอต่อที่ประชุม คสรท.

เรียน ประธาน คสรท.

ตามที่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการ คสรท.ในวันที่ 8 ธ.ค.56 ผมไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะกำหนดการฝึกอบรมเรื่องสื่อไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงขอเสนอความคิดเห็นในประเด็นเหตุการณ์ทางการเมืองต่อที่ประชุม ดังนี้

1. คสรท.ควรปฏิเสธแนวทางการเมืองที่มีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรงที่สูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชน และ ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริง

2. คสรท.ควรเสนอให้รัฐบาลรับผิดชอบทางการเมืองจากการใช้รัฐสภาผลักดันออกกฎหมายอย่างมิชอบ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (เหมาเข่ง) ด้วยการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ “มวลมหาประชาชนทุกหมู่เหล่า” หรือดำเนินการไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลเองก็ชูเป็นประเด็นปกป้อง

3. การแสดงจุดยืนทางการเมืองของ คสรท. ต้องให้ชัดเจนว่ายืนอยู่บนอุดมการณ์ชนชั้นแรงงาน โดยไม่ควรไปอยู่ในฐานะตัวประกอบหางเครื่องของกลุ่มการเมืองอื่น เพราะ ” ปวงนายทุนขุนศึกศักดินา กดขี่บีฑากินเลือดเรา” (จากเพลงศักดิ์ศรีกรรมกร) ซึ่งอดีตที่ผ่านมาหลายๆครั้งก็มีคำตอบอยู่แล้วว่า แรงงานได้หรือไม่ได้อะไร

4. การแสดงจุดยืนทางการเมือง จึงควรสร้างเวทีของแรงงานเอง แม้จะยังเล็กๆในวันนี้ แต่ก็เป็นอิสระ มีความชัดเจนและชอบธรรมที่จะเข้าร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่มการเมืองอื่นได้หากประเด็นเนื้อหาสอดคล้อง หรืออาจปฎิเสธแนวทางใดๆที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางสหภาพแรงงานซึ่งเราภาคภูมิใจว่าเป็นองค์กรแบบประชาธิปไตย

5. มีคำกล่าวว่า ประชาธิปไตยต้องเริ่มจากในบ้าน ดังนั้น หากต้องการทำให้ขบวนการแรงงานมีอำนาจต่อรองทางการเมือง จึงต้องเริ่มจากการสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็งโดยยึดโยงกับฐานมวลชนที่แข็งแกร่ง ซึ่งแรงงานในปัจจุบันทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบมีรวมทั้งหมดราว 40 ล้านคน แต่ยังไม่มีสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้นแรงงานผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เรื่องนี้เรียนรู้ได้จากต่างประเทศที่ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงจะมีอำนาจต่อรองทางการเมือง ไม่มีทางลัดอื่นใด

6. ขบวนการแรงงานจะเข้มแข็งได้ ก็ต้องปฏิรูปองค์กรแรงงานให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือ มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เอาแต่ประโยชน์พวกพ้อง (แรงงานมักเรียกร้องกับรัฐทำนองนี้) และต้องมีการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆขององค์กรให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนของ คสรท.ก็มีแผนยุทธศาสตร์ 4 ยุทธศาสตร์ ที่จะเป็นกุญแจนำไปสู่ความเข้มแข็งได้หากมีความตั้งใจจริงในการนำไปปฏิบัติอย่างครบถ้วน

วิชัย นราไพบูลย์

กรรมการอำนวยการ และกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ที่ 4 คสรท.

7 ธันวาคม 2556