นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานกล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดที่เหลืออีก 70 จังหวัด เป็นวันละ 300 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพราะเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ เป็นประโยชน์กับแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และยังเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม เห็นว่ากระทรวงแรงงานในฐานะผู้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลจึงต้องดำเนินนโยบายตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค โดยจะดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท
ขบวนแรงงานยื่นหนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเพื่อหลักประกันชีวิตที่มั่นคง
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์การแรงงานแห่งประเทศไทยที่นายมนัส โกศล ประธานสภาฯ และตนขอสนับสนุนกระทรวงแรงงานในการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เพราะเป็นการสร้างหลักประกันชีวิตที่มั่นคงของแรงงาน ดังเหตุผลต่อไปนี้
(1) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งเพื่อทำให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการในการดูแล บังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะการไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งเป็นภาพสะท้อนสำคัญของการปล่อยให้ภาคอุตสาหกรรมไทยใช้แรงงานราคาถูกต่อไปได้อย่างนิ่งดูดาย
(2) การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่แรงงานควรได้รับ เพราะแรงงานจะได้มีรายได้เพียงพอกับค่าครองชีพที่ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาสินค้าสำหรับการดำรงชีพในชีวิตประจำวันที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นการปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมทั่วประเทศ เพราะในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.76% แต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.57% เท่านั้น ยิ่งจำเป็นต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้โดยทันที เพราะจากการสำรวจของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยโดยตรง พบว่า ค่าจ้างที่ควรจะเป็นนั้นเท่ากับวันละ 348 บาท กล่าวได้ว่าค่าจ้างแรงงานไทยในปัจจุบันนั้นจึงอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับคุณภาพของฝีมือแรงงาน
(3) การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยรวมน้อยมาก เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (2554) ได้เคยประเมินผลกระทบทางตรงของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจากสัดส่วนของต้นทุนที่มาจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ผู้ประกอบการโดยรวมได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.7 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ในขณะที่การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของต้นทุนแรงงานทั้งหมด ทั้งนี้แรงงานไร้ฝีมือกระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยสาขาที่มีการใช้แรงงานไร้ฝีมือมากที่สุด คือ การผลิตสิ่งทอ ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานไร้ฝีมือเพียงร้อยละ 0.15 ของต้นทุนแรงงานทั้งหมดเท่านั้นด้วยเช่นกัน
ถ้าจะกล่าวในเชิงรูปธรรมให้เห็นภาพมากขึ้น กล่าวคือ ต้นทุนค่าแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า 1 ชิ้น ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะทราบดีว่า ต้นทุนค่าแรงเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15 % ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาทเป็น 300 บาท จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5 % เท่านั้น ไม่ใช่ 100 % ตามที่มักกล่าวอ้างถึง และเมื่อมองผลกระทบด้านอื่นๆ อีก เช่น การยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราว การลดภาษีเงินได้จาก 30 % เหลือ 23 % ในปี 2555 และเหลือ 20 % ในปี 2556 ยิ่งจะช่วยให้กำไรสุทธิของบริษัทมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
(4) มีความกังวลใจว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้มีการหลั่งไหลการเข้ามาเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่างจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือจีน ในกรณีนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเห็นว่า เราไม่สามารถปฎิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ในประเทศไทยได้ นี้ไม่นับในปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน คำถามสำคัญคือ เหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานข้ามชาติ เพราะปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่าแรงงานข้ามชาติยังคงรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทย เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะไม่ได้ยกเว้นแรงงานข้ามชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างก็กลับจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นทำอย่างไรจึงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้
(5) การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยิ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น และแรงงานก็จะเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อต้นปี 2555 พบว่า มีแรงงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท มี 11.5 ล้านคน (โดยสำรวจจากรายได้ที่เป็นเงินเดือน ที่คำนวณจากวันทำงานเฉลี่ยเดือนละ 26 วัน คูณ 300 บาท) มีรายได้เดือนละ 7,800 บาท ดังนั้นหากรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททันทีทั่วประเทศ จึงถือว่าครอบคลุมแรงงานจำนวนมาก เพราะการที่แรงงานในฐานะลูกจ้างยิ่งได้รับค่าจ้างสูงและเป็นค่าจ้างที่มีความเป็นธรรม มากพอที่ตัวเองและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคตามมา เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น แต่สินค้าก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น และสินค้าก็ขายได้มากขึ้น เพราะแรงงานมีอำนาจซื้อสูงขึ้น
เพราะปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าแรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ เพราะมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องดิ้นรนในการทำงานนอกเวลา โดยต้องทำงานถึงวันละ 10-14 ชั่วโมง เพื่อให้พอมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย บางครั้งที่รายได้ไม่เพียงพอยิ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของแรงงานที่ไม่มีเงินออมต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงในเรื่องของการไม่มีเวลาในการดูแลครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาด้านครอบครัวอื่นๆติดตามมาเพิ่มขึ้น
โดยสรุปการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศนั้น จึงเป็นนโยบายที่ดีในการยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานที่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก และเป็นแนวทางในการกระตุ้นอำนาจซื้อของประชาชน นอกจากนี้ยังมีผลต่อการยกระดับผลิตภาพแรงงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การค่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน และค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการครองชีพของลูกจ้างและสมาชิกในครอบครัว (ตามนิยามขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) ในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นอัตราค่าจ้างต้องปรับตามประสบการณ์และฝีมือแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากค่าจ้างไม่ปรับตัวสูงขึ้นและจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และนั้นหมายความว่าคุณภาพชีวิตแรงงานในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศที่มีผลต่อการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศก็จะย่ำแย่ตามไปด้วย
ด้านนายมนัสกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นั้นมีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะจะช่วยทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยจากการสำรวจผลกระทบการปรับขึ้นค่าจ้างใน 7 จังหวัด พบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และมองว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีนั้นจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากรัฐบาลไม่ขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคม 2556 คาดว่าผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศก็คงจะออกมารวมตัวกันผลักดันให้เกิดการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท”
ดัานนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยืนยันว่า จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 มกราคมนี้แน่นอน โดยจะไม่ทบทวนใดๆ ทั้งสิ้น
ในวันเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ นำสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ฝ่ายผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือให้ชะลลอการปรับค่าจ้างที่บริเวณชั้น 10 กระทรวงแรงงาน ในเวลา 11.00 น. โดยขอให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างไปอีก 2 ปี คือ 2558 รวมทั้งเห็นว่ามาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี 27 ข้อ ยั งไม่มีรัดกุมเพียงพอ และเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว แม้ว่าการกระทรวงแรงงานจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน